เกมรุกของ Sony

หลังจากว่างเว้นการจัดงานมาถึง10 ปีเต็ม Sony ตัดสินใจลุกขึ้นมางานเชื่อมสายสัมพันธ์ครอบครัว โดยเลือกภูเก็ตเป็นสถานที่จัดงาน งานนี้จึงมีทั้งพนักงาน ตัวแทนจำหน่าย และสื่อมวลชน กว่า 400 มาเข้าร่วม ภายใต้คอนเซ็ปต์ Sony Connectivity

การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ คาซูโอะ ซูยามา กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ Sony ให้เน้นหนักในการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการจัดประชุมใหญ่ในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการตลาดที่ตั้งใจจัดขึ้นในช่วงปลายปี เพื่อแสดงผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเป็นกลยุทธ์หลักของ Sony ในการทำรายได้

ก่อนหน้านี้ทุกบริษัทเน้นในเรื่อง CRM (Customer Relation Management) คือการบริหารจัดการลูกค้าของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราให้นานที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Sony สร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมาอย่างหลากหลาย เข้าถึงลูกค้าได้หลายกลุ่ม แต่ในปัจจุบันธุรกิจ AV, IT และ Camera กำลังเคลื่อนตัวเข้าหากัน ซึ่ง Sony เป็นผู้ผลิตที่มีสินค้าทั้ง 3 ประเภทอยู่ในมือ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า Sony จะบริหารสิ่งที่มีอยู่ในมืออย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

Sony ได้เปลี่ยนไปใช้แนวคิด Sony Society ตั้งแต่ปี 2546 เพราะครอบครัวที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นจนเกินกว่าจะเรียกว่า Sony Family ได้ ซึ่งแนวคิดนี้ได้สะท้อนไปถึงผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ของ Sony ที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยงการใช้งาน และข้อมูลถึงกันได้ โดยใช้ memory stick ที่ Sony คิดค้นขึ้นมาเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เป็นสื่อกลางหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่ง

การเข้ามาของบรอดแบนด์ทำให้มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เครื่องโน้ตบุ๊ก และเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้ Sony คิดว่าควรจะมุ่งการทำธุรกิจไปในด้าน Digital, Mobility และการพัฒนามือถือ เพื่อสร้างสีสันความหลากหลายมากขึ้นในตลาด

ในขณะเดียวกัน Sony ยังพบว่าสินค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ก้าวกระโดดเป็นสินค้าประเภท Convention AV ที่ผลิตขึ้นมานานแล้ว เช่น โทรทัศน์จอโค้ง เป็นต้น แต่ในขณะที่สินค้าประเภท AV/IT มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้นการทำตลาดของ Sony ในปี 48 จะให้น้ำหนักไปที่อุปกรณ์ประเภท AV/IT เป็นหลัก ซึ่ง Sony เชื่อว่าแนวคิด Sony Society จะเข้ามาช่วยให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย

ในปี 48 Sony จะยึด Customer Centric Marketing เป็น key strategy หลักในการทำตลาด โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ สร้างความแตกต่าง สร้างความบันเทิงในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง

สินค้าที่เป็นกลยุทธ์สำคัญ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนยอดขายในตลาดให้กับ Sony ได้แก่ โทรทัศน์ในตระกูล WEGA ที่ประกอบไปด้วย WEGA Engine, Grand WEGA และ WEGA Karaoke, กล้องดิจิตอล Cybershot, กล้อง Handycam, เครื่องโน้ตบุ๊ก VAIO, อุปกรณ์ในกลุ่ม DVD, B2B Solutions และTV ติดรถยนต์ซึ่งจะเป็น Killer Product ของ Sony โดยใช้ Code Name ว่า Flat Slim ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำให้ภายในรถกลายเป็นห้องนั่งเล่นห้องที่ 2 โดยรองลงมาจากห้องนั่งเล่นในบ้าน

การเติบโตของเครื่องพีซีที่รวดเร็ว Sony จึงได้นำสินค้าในกลุ่ม B2B Solutions เข้ามาจำหน่าย เช่น กล้อง Webcam กล้องโทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น และด้วยความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น จึงทำให้สินค้าในกลุ่ม นี้กลายเป็นหนึ่งในสินค้ากลยุทธ์ของ Sony
VAIO World เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของ Sony ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากลูกค้าว่ามีความต้องการจะทำอะไรกับเครื่องโน้ตบุ๊ก VAIO จึงได้พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเครื่อง VAIO ได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การตัดต่อวิดีโอ ตัดต่อภาพจากกล้องดิจิตอล Cybershot เป็นต้น ซึ่งซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นทำให้ VAIO เป็นโน้ตบุ๊กเพื่อบันเทิงอย่างสมบูรณ์แบบ

ในขณะเดียวกัน การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เป็นอีกจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่เข้ามาเติมเต็มให้กับกลยุทธ์ของ Sony ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การสร้างศูนย์บริการ การสร้างอุปกรณ์ในระดับมืออาชีพ ที่เน้นการใช้งาน ๆ ใครก็ใช้ได้ และการให้ข้อมูลอย่างชัดเจนกับทุกคำถาม

นอกจากนี้ Sony ได้จัดตั้งฝ่าย Customer Communication Marketing-CCM ขึ้นมาเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากขึ้นทั้งในแง่ของการขาย และประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ ด้วยการใช้หลักการของ Customer Centric Marketing

กลยุทธ์ที่ฝ่าย CCM นำมาใช้ขยายผลทั้งกับตัวบริษัท Sony เอง รวมทั้งเป็นแนวทางให้กับตัวแทนจำหน่ายให้นำกลยุทธ์นี้ไปใช้เพื่อรักษาฐานลูกค้า และสร้างยอดขายให้กับตัวเอง โดยจะต้องทำควบคู่กันไปทั้งกิจกรรมภายใน และภายนอก เช่น การปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ใหม่ ให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น การจัดสัมมนาในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ การสร้าง Show Room จัดหน้าร้านใหม่ ให้มีความทันสมัย มีการนำเอาฐานข้อมูลลูกค้ามาให้มากขึ้น อบรมพนักงานให้มีความรู้ ความเข้าใจในตัวสินค้ามากขึ้น ก้าวทันเทคโนโลยี เป็นต้น

แม้ว่าในสภาวะที่ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีการแข่งขันสูง แต่ Sony จะไม่ลงไปเล่นเรื่องราคา เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งกับผู้ขาย และผู้บริโภค เนื่องจากการทำราคาสินค้าให้ต่ำลงมา จะต้องตัดฟีเจอร์ ฟังก์ชันบางอย่างออกไป เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ลดลง ทำให้สินค้ามีคุณภาพลดลง ในขณะเดียวกันผู้ขายก็ได้ส่วนแบ่งกำไรที่น้อยลงไปด้วย ซึ่ง Sony จะใช้การสร้างความแตกต่างด้วยเทคโนโลยีของสินค้ามาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันแทน

Sony ตั้งเป้ายอดขายไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท (เม.ย. 2547- มี.ค. 2548) และในปีหน้าคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และปี 2549 จะมียอดขาย 2 หมื่นล้านบาท เมื่อนำจิ๊กซอว์แต่ละตัวมาต่อเข้าด้วยกัน จะเห็นภาพของการขับเคลื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 48 อย่างชัดเจน แต่ละชิ้นต่างเป็นตัวเสริมของกันและกัน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสังคมของชาว Sony ที่มั่นคง และมีขนาดใหญ่กว่าเดิม

Website :

www.sony.com