Design Center : “มูฟ” ใหม่วงการออกแบบไทย

ย่างเข้าสู่ปี 2548 การค้าของโลกเริ่มมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างสินค้าแมส (mass product) กับสินค้ามีดีไซน์ (design product) ประเทศไทยซึ่งเคยอยู่ตรงกลางก็ถูกบีบให้เหลือทางเลือกไม่มาก เมื่อจีนและอินเดียเข้าสู่เวทีการค้าโลกอย่างเต็มตัว วันนี้ “ดีไซน์” จึงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย

จึงเป็นที่มาของสำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative and Design Center (TCDC) ขึ้น ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพัฒนานักออกแบบไทยให้ยืนหยัดอยู่บนเวทีโลกในฐานะผู้ผลิตสินค้ามีดีไซน์ได้อย่างยังยืน โดยแนวทางคือเป็นสถานที่สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงองค์ความรู้ และแรงบันดาลใจในไอเดียใหม่ๆ

“TCDC จะเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านดีไซน์ของดีไซเนอร์ไทยให้กว้างขึ้น เราจะดูดซับความคิดของมนุษย์โลกมาไว้ที่นี่ และจะเป็นแหล่งที่ให้ดีไซเนอร์ไทยได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกับดีไซเนอร์ชั้นนำจากทั่วโลก” พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานกรรมการ TCDC ชี้แจง

งานแรกของ TCDC ก็คือ สัมมนา “บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม” ที่มี 4 ปรมาจารย์ชาวอิตาลีเจ้าแห่งนักคิดนักออกแบบของโลกมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เมื่อวันที่ 6-8 ม.ค. ที่ผ่านมา กับหัวข้อ “Italian Design That Changed the World” ซึ่งไม่ได้มาบอกว่าควรออกแบบอย่างไร แต่เน้นกระบวนทัศน์แห่งการคิด และประวัติศาสตร์เบื้องหลังความคิดหรือดีไซน์นั้นว่าเป็นมาอย่างไร

ม.ล. ภาวินี สันติสิริ ในฐานะกรรมการเล่าที่มาว่า “เพราะผู้ประกอบการไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการออกแบบมากนัก สินค้าไทยจึงไม่มีศักยภาพพอที่จะแข่งกับสินค้าต่างประเทศได้ และดีไซน์ของเราก็ยังใช้การเลียนแบบ หรือดัดแปลงจากสินค้าของประเทศอื่น ทำให้ไม่มีความชัดเจนและความแตกต่างทางด้านแนวคิดในการสร้างรูปแบบและคาแร็กเตอร์ของตัวเอง”

กับความหวังจะเป็น Design Hub of Asia นี่คงเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่เราต้องไม่ลืมฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งมีดีไซน์เซ็นเตอร์ก่อนเรา และมีแนวคิดเกี่ยวกับ “ดีไซน์” ก้าวหน้ากว่าเรา เพราะเขามองว่าดีไซน์ไม่ใช่แค่ข้อได้เปรียบทางการแข่งขันหรือมูลค่าเพิ่ม แต่ “Design is National Agenda”

ขณะที่ดีไซน์เซ็นเตอร์ของญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่วัย 24 ปี มองไปไกลกว่านั้น คือ “Design is the bridge between cultural and material realities, the international language expressing life and the enrichment of human society.” …นี่เป็นที่มาของวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นแหล่งแห่งดีไซน์ใหม่ๆ สำหรับโลกในอนาคต

อย่างไรก็ดี วงการดีไซน์โลกก็คงจะพอมีที่ว่างสำหรับประเทศไทยบ้าง ขอแค่เราเอาจริง…ฝันให้ไกล แล้วก็ไปให้ถึง

Profile

Thailand Creative & Design Center (TCDC)

Mission : เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงคุณค่าการนำดีไซน์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้เกิดเอกลักษณ์จากการผสมผสานระหว่างวิทยาการสมัยใหม่และวัฒนธรรมอุษาคเนย์
Objective : เพื่อยกระดับคุณภาพนักออกแบบไทยให้เป็น Asian Standard Aesthetics ที่วงการดีไซน์โลกยกย่องให้เป็นมาตรฐานสากล
Target : ผู้ประกอบการ นักการตลาด นักธุรกิจ ดีไซเนอร์ นักศึกษา หรือคนทั่วไปที่สนใจด้านการออกแบบหรือพัฒนาธุรกิจด้วยงานดีไซน์
Activities : นิทรรศการจากต่างประเทศ นิทรรศการถาวร การประกวดการออกแบบ ศูนย์ข้อมูลหรือห้องสมุดการออกแบบ และสัมมนาด้านการดีไซน์ ตลอดจนเป็นเวทีเสนอผลงานสู่ตลาดสากลของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และเจ้าของธุรกิจใหม่ๆ พร้อมให้คำปรึกษากลยุทธ์ทางธุรกิจหรือการออกแบบ และเป็นดีไซน์คาเฟ่ หรือดีไซน์ช้อป
Location : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ (โทร 02-280-3480) ทั้งนี้ คาดว่า จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการราวเดือน ก.ค. 2548

People

– ม.ล. ภาวินี สันติสิริ

จบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ (มัณฑนศิลป์) มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และดีไซน์ (Design & Objects Association) เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โยธกา อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้บุกเบิกและผลิตเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวารายแรก และก่อตั้งบริษัท อโยทยา

ในปี 2547 เธอได้รับรางวัล Oveseas Award ของ Tokyo Creation Award จาก Tokyo Fashion Association รางวัลนักออกแบบแห่งปีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และรางวัล Good Design Award จากองค์กรผู้ออกแบบญี่ปุ่น (G-Mark Award)

– ปรมาจารย์ชาวอิตาลี 4 ท่าน

1. Andrea Brazi ดีไซเนอร์ชื่อดังของโลก มีประสบการณ์ในงานออกแบบอุตสาหกรรม และการวิจัยเพื่อการออกแบบ และเป็นนักเขียน เขาออกแบบสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลก เช่น Alessi, Cassino, Vitra, Zanotta ฯลฯ และเป็นผู้ก่อตั้ง Domus Academy สถาบันที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบสำหรับนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี
2. Dante Donegani ดีไซเนอร์ในแวดวงการตกแต่งภายใน ปัจจุบันทำงานกับบริษัท Corporate Identity Olivetti และเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรการออกแบบของ Domus Academy เคยออกแบบสินค้าให้กับแบรนด์ Sidomus, Cavari, Isuzu, Luceplan ฯลฯ
3. Giovanni Lauda ทำงานด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ และดูแลหลักสูตรวิชา “วัฒนธรรมการออกแบบ” ของ Domus Academy เคยทำงานในบริษัท Morozzi & Partners และออกแบบเครื่องใช้ในบ้านให้ Sedie & Company, Play Line, Radice ฯลฯ
4. Fracesco Morace เป็นประธาน Future Concept Lab ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและเชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา เป็นนักเขียน และที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้บริษัททั่วโลก และเคยเป็นผู้สื่อข่าวในแวดวงสังคมวิทยาและการวิจัยตลาดมากว่า 15 ปี

Did you know?

เชื่อหรือไม่ว่า สินค้าแบรนด์ดังของโลกอย่าง Apple, Mitsubishi, Montell, Phillips, Samsung, Nokia, Sharp, Whirlpool และ 3M มีบริษัทและดีไซเนอร์จากอิตาลีเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์