“Recursos Umanos” รายการ reality show จากอาร์เจนตินา เปิดตัวเมื่อเมษายน ปี 2545 ผ่านพ้นไปเพียง 2 ปี กลับโด่งดังขจรขจายไปอีก 8 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา โรมาเนีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เป็นต้น เป็น reality show ที่เล่นกับความฝันเล็กๆ ของคน แต่เป็นฝันที่ใช้เพื่อยังชีพตลอดไป …ฝ่าเกม…ชิงงาน
Recursos Umanos เกิดขึ้นในช่วง economic crisis ของอาร์เจนตินา ช่วงนั้นอัตราการจ้างงานต่ำเพียง 22 % เท่านั้น หลังจากรายการออกอากาศเพียงไม่กี่ตอน รายการนี้ก็โด่งดังสอดรับกับกระแสคนโหยงานได้อย่างเหมาะเจาะ
ว่าไปแล้วรูปแบบของเกมหางานในเมืองไทยเคยปรากฏมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เกมชีวิต reality show ที่ไม่ประสบความสำเร็จของกันตนา ยอดคนตะลุยฝุ่นจากแกรมมี่ หรือเกมสมัครเล่นจากอาร์เอส ล่าสุดกับการซื้อลิขสิทธิ์ Recursos Umanos เป็นเวลา 2 ปี โดย UBC ออกอากาศภายใต้ชื่อว่า “Human Resources โอกาส…พลิกชีวิต” ด้วยงบการผลิตและการตลาดรวม 20 ล้านบาท
นับเป็นการเดินเครื่อง reality show คำรบ 2 ของ UBC หลังจากสร้าง Academy Fantasia ให้เป็น talk of the town มาแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการอุ่นเครื่อง คั่นเวลา ก่อนที่ AF รุ่นสองซึ่งเตรียมการไปแล้วกว่า 90% จะมาสร้างสีสันให้วงการ reality show อีกครั้งภายในไตรมาส 2 ของปี 2548 นี้
แม้ HR โอกาส…พลีกชีวิต จะไม่ใช่โครงการใหญ่โตเหมือน AF แต่ก็ถือเป็นการเชื่อมกระแส reality show ไม่ให้จางหายไปจาก UBC (ขณะนี้ UBC มีรายการ reality show ที่ซื้อลิขสิทธิ์เต็มรูปแบบจากต่างประเทศ โดยไม่ได้เป็นผู้ผลิตเองประมาณ 8 รายการ) และตอกย้ำ positioning ของ UBC ที่ต้องการเป็นผู้ให้ความบันเทิงที่ดีที่สุด
“Impact แตกต่างจาก AF เพราะ AF เข้าถึงทุกเพศทุกวัย แต่สำหรับ HR เจาะกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะเป็นเรื่องของงานที่เด็กๆ ยังไม่ให้ความสนใจ” องอาจ ประภากมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอก
Human Resources ออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 22.00 น. – 26.00 น. ทางช่อง UBC X-ZYTE (37) ตั้งแต่เสาร์ที่ 4 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งสิ้น 26 ตอน 26 อาชีพ โดยมีจุดต่างจากเกมโชว์อื่นๆ คือ รางวัลของผู้ชนะไม่ใช่เงินทอง หรือของล้ำค่าใดๆ แต่ “งาน” คือรางวัลที่จะอยู่กับผู้ชนะตลอดไป ซึ่งตำแหน่งงานหรือรางวัลนั้น ทั้งหมดจะเป็นตำแหน่งระดับพนักงานปฏิบัติการ (staff) เช่น Hydrotherapist, Courier Man, Call Centre Staff, Caddy, Pretty เป็นต้น โดยพิจารณาคัดเลือกตำแหน่งงานจากอาชีพที่น่าสนใจ สามารถถ่ายทอดอารมณ์และสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชมได้ ให้ผู้ชมรู้สึกถึงความยาก ท้าทายในหน้าที่ เป็นการดึงเอาความสามารถของผู้เข้าแข่งขันออกมาแสดง
และถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้มีการโหวตผ่านทาง sms โดยทาง UBC และ sponsor รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดแทนผู้โหวต องอาจให้เหตุผลว่า ทำเพื่อสังคม พร้อมกล่าวเสริมว่าต่างจากกรณีของ Academy Fantasia ซึ่งมีแฟนคลับ มีคาแร็กเตอร์ดึงดูดผู้คนให้โหวต ขณะที่ผู้เล่นของ Human Resources อาจไม่สร้างแรงจูงใจดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม popular vote ยังคงเป็นจุดตัดสินว่าใครคือผู้ได้งาน พร้อมกันนั้นจะมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างงานออกอากาศด้วย
องอาจบอกว่ากระแส AF fever มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการ 3 ไตรมาสแรกของปี 2547 เมื่อเทียบกับปี 2546 ดีขึ้น โดยมีกำไร 700 ล้านบาท ขณะที่ปี 2546 มีกำไรเพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น
ช่องทางการสมัครเล่นเกมหางานนี้ UBC จับมือกับ Jobsdb.com เว็บไซต์หางานระดับอินเตอร์ หวังอาศัยฐานการฝาก resume กว่า 28,000 ราย/วัน
Did you know?
เกมหางาน แบบ reality show ในไทย
เกมชีวิต – กันตนา (ยุติการออกอากาศแล้ว) ออกอากาศทางช่อง 7
ยอดคนตะลุยฝุ่น – แกรมมี่ (สรรหาพนักงานอาชีพต่างๆ เช่น ดีเจ โดยมี ออม- ภัสสร พัชรสราวุฒิ เป็นผู้ชนะและขณะนี้เธอเป็นพิธีกรรายการ Five Live และดีเจในเครือ A-time) และแม้ยอดคนตะลุยฝุ่นจะได้รับความนิยมแต่ก็ปิดฉากรายการนี้ลงไปแล้วเช่นกัน โดยมีรายการ First Stage Show มาลงผังแทน ออกอากาศทางช่อง 5
เกมสมัครเล่น – อาร์เอส ส่งรายการ reality tv ขานรับกระแส reality show ในเมืองไทย เล่นซ้ำรอยเดิมเติมฝันให้คนหางาน เช่น สรรหาดีเจในเครือ Sky High Network และแอร์โฮสเตส ของสายการบินนกแอร์ (เป็นการคัดเลือกแอร์โฮสเตสผ่านรายการ reality tv รอบ 2 ของสายการบินนกแอร์) ออกอากาศทาง Modern 9 TV
นกฮันท์ – UBC และนกแอร์ ออกอากาศทาง UBC Inside (35) เมื่อเดือนเมษายน 2547