เมื่อนึกถึงการ printing คุณคิดถึงอะไร ก็คงจะเป็นพวกป้ายต่างๆ แผ่นโฆษณา แต่จริงๆ แล้ว printing สามารถทำได้มากมายกว่าที่คิด
จากรุ่นพ่อ ที่ปลุกตำนานสร้างโรงพิมพ์ ที่เน้นงานพิมพ์สกรีน มากว่า 43 ปี ทุกวันนี้ “โมริโอ” กำลังขยายบทบาทตัวเอง ไปสู่การวาง positioning ใหม่ของการเป็นโรงพิมพ์ ภายใต้แนวคิดที่ว่า innovation beyond printing ที่เน้นงานดีไซน์เป็นหัวใจสำคัญ
“ชื่อบริษัท โมริโอ เป็นชื่อจีน ที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น คุณพ่อเคยเป็นนักเรียนญี่ปุ่น ก็ไปเอาระบบการพิมพ์มาจากญี่ปุ่นเป็นคนแรกๆ เป็นระบบการพิมพ์ screen พิมพ์วัสดุได้ค่อนข้างหลากหลาย เล่นอะไรได้เยอะ ความที่ผมเรียนทางด้านดีไซน์ ก็มาช่วยตรงนี้ได้ ได้สายเลือดมาจากคุณพ่อ เพราะคุณพ่อก็เป็น artist ก็เลยชอบ” นาถวัฒน์ ธัมพิพิธ รุ่นที่ 2 ของตระกูล ที่เข้ามารับช่วงกิจการ ในตำแหน่ง Project & Design Manager
ธุรกิจด้านการพิมพ์ของโมริโอแตกต่างไปจากโรงพิมพ์ทั่วไป เน้นหนักเรื่องของเทคโนโลยีด้าน “สกรีน” ลงบนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระจกใหญ่ เตาอบไมโครเวฟ หน้าปัด รถขนส่งโค้ก ป้ายน้ำมัน สแตนด์ใหญ่ในโรงหนัง
“อย่างป้ายสแตนด์ของหนัง Harry Potter บางคนไม่ทราบว่าจริงคนไทยทำ trend กระดาษจะถูกนำมาทำเป็น display มากขึ้น ข้อดีคือ รีไซเคิลได้ ซึ่งเราสามารถเล่นกับมันได้ค่อนข้างหลากหลาย ให้เห็นภาพกว้างกว่า พอมาถึงรุ่นผม ผมว่ามันธรรมดา เราเพียงแต่พัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น แต่มันก็ไม่ได้มีแค่นั้น printing มันทำได้เยอะกว่าที่เห็น มากกว่าที่คุณเห็น เรามองมันเป็น material ใหม่ๆ ด้วย”
นาถวัฒน์ เป็นลูกชายคนรองของครอบครัว บินไปเรียนต่อด้าน Academy of Art ที่ San Francisco ซึ่งบ่มเพาะความรู้ และสร้างแรงบรรดาลใจในงานออกแบบ
“ตอนที่อยู่อเมริกาก็ไปเห็นและสัมผัสกับบริษัทที่อาจารย์ของผมทำอยู่ ชื่อ Lando อันดับหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ ออกแบบให้ ไนกี้ การบินไทย S&P คือทำให้เราคิดว่า เราก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ ถ้าเราพยายามและตั้งใจ ได้เห็นงานระดับมืออาชีพก็กระตุ้นเรา เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก”
เดิมที “บอย” ตั้งใจทำงานที่สหรัฐอเมริกาต่อทันที แต่ระหว่างที่ต้องเดินทางไปดูงานด้านการพิมพ์ที่ญี่ปุ่น แวะกลับมาบ้าน พบว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ขาดคนช่วย และน่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนแผนบินกลับมาช่วยงานที่บ้าน
“ผมมาเรียนรู้งานตั้งแต่เบื้องหลัง ทำทุกอย่าง 2-3 ปีแรก พี่ชายผมเขาดูส่วน production พี่สาวดูการตลาด น้องชายแตกไปทำ gallery ”
หลังจากใช้เวลา เรียนรู้งานทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังมากกว่า 2 ปี บอย ริเริ่มนำงานดีไซน์เข้ามา โดยบุกเบิกก่อตั้งแผนกออกแบบและวิจัย R&D (Research & Development) และได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของมาริโอ ต่อยอดไปแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และเพื่อให้สอดรับกับ trend ของงานออกแบบที่มีบทบาทสำคัญ
“ตอนแรกก็เริ่มจากดีไซน์ก่อน แต่มันก็ธรรมดา R&D มันเป็นเรื่องของการคิด ถอยเข้าไปอีก คิดในสิ่งที่มันไม่มีตัวตนมาก่อน เราต้องการที่จะสร้างอะไรขึ้นมาเอง ที่คนอื่นไม่มี เราจะได้ไม่ต้องแข่งกับใคร มันทำให้ต่อยอดครอบคลุมลูกค้าหลากหลาย มันค่อนข้างที่จะตอบโจทย์ที่เราคิดไว้ อะไรที่มันไม่มีลองทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา”
Disney เป็นลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่ตัดสินใจใช้บริการออกแบบของโมริโอ ในการทำป้าย stand ภาพยนตร์ ก่อนจะขยายไปยังผลิตภัณฑ์ด้านอื่นๆ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน แม้กระทั่งบ้านพักอาศัย
“printing เป็น material ใหม่ๆ ที่สามารถทำอะไรได้บ้าง อย่างบ้านหลังหนึ่งห่อด้วยฟิล์มพิเศษทั้งหลัง กลางวันเป็นอีกภาพนึง กลางคืนเป็นอีกแบบนึง เป็นอีกอารมณ์นึง เป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นมา ใช้งานพิมพ์มาทำให้เกิดเทคโนโลยีลงไป พิมพ์หมึกพิเศษลงไป ตอนนี้ที่เราทำไปแล้วก็คือ สร้างแบรนด์ชื่อ Take a Luxe ขึ้นมา ในการทำ product design เช่น เก้าอี้ โคมไฟ”
เขายกตัวอย่าง การนำงานพิมพ์ไปทำงานศิลปะ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจโดยไม่จำเป็นต้องใช้มือวาด งานศิลปะทีว่านี้ เป็นผลงานที่ทำจากงานพิมพ์สามมิติ ขนาดประมาณ 7 เมตร มี 2 ชิ้น โดยเขาได้ร่วมกับอ้อม อิสริยา –มาทำชุดๆ หนึ่งที่ทำมาจากลายพิมพ์สามมิติ
นอกจากงานศิลปะแล้ว ยังขยายไปในส่วนของเรื่องของงานตกแต่งภายใน “ Interior เราก็ทำได้ เอามาผลิตเป็นวัสดุ เช่นติดลงบนตู้ ซึ่งต่อไปยางรถจักรยานก็จะมีลวดลายมากขึ้น เวลาขี่ตอนกลางคืน ก็จะมีสีสะท้อนแสงให้เห็น อันนี้ก็คือตัวอย่าง printing มันไม่ใช้ printing แล้ว มันเป็น material อย่างหนึ่ง มียาง พลาสติก ไม้ สามารถสกรีนลงไปได้เลย เราไม่ได้แข่งกับใคร”
“ต่อไปที่เราคิดก็คือ ในอนาคต printing มันก็คืออะไรก็ได้ คือเราก็จะจินตนาการไปไกลขึ้นอีก printing กำลังจะเป็นแฟชั่น เป็นเฟอร์นิเจอร์ อะไรที่มันไฮ-เทคขึ้น อะไรที่คุณคิดไม่ถึง เป็น เคาน์เตอร์บาร์ ใช้เรื่องของงานพิมพ์สามมิติเข้ามาเล่น อยากจะให้เห็นภาพว่าเราคิดอะไรใหม่ๆ”
เขาเชื่อว่า กุญแจความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีของญี่ปุ่น และศิลปะของไทย “จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นระบบสกรีน ญี่ปุ่นเค้าค่อนข้างนำมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง แต่สไตล์ของเขาไม่ได้ทำงานละเอียดมาก เป็นกราฟิก แต่ความละเอียดอ่อนของคนไทยทำได้ดีกว่า เราอาจจะเห็นเขาทำแบบนี้ ก็ทำให้ละเอียดกว่า มันเลยกลายเป็นว่า งานสวยๆ เราทำได้ดีกว่า พูดเฉพาะเรื่องความสวยงาม เรื่องนวัตกรรม เราคิดเยอะกว่า เรามาทีหลัง เรามีเค้าเป็นแรงบันดาลใจ พยายามจะไปให้ถึง ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งเราก็แซงเขาไปแล้วในบางเรื่อง”
คอนเนกชั่นจากรุ่นพ่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนา
“การผลิต เราก็ใช้เทคโนโลยีมาจากญี่ปุ่น เรื่องหมึกที่ใช้และเครื่องมือของญี่ปุ่น เพราะเรามั่นใจในคุณภาพของเค้า เทคนิคเฉพาะตัว ความละเอียดอ่อน บริษัทอื่นๆ เขาจะรู้ไม่ลึกเท่าเรา เพราะเราจะไปศึกษาถึงแหล่ง มีคนมาอบรม คุณพ่อปูทางไว้ดีอยู่แล้ว รู้จักบริษัทใหญ่ มี connection ที่ดีเยอะ แถมยังมีรุ่นลูกมาต่ออีก”
“นอกจากนี้ เราก็จะมีชาวต่างชาติมาเทรนให้ เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการพิมพ์ เป็นนักเคมีบ้าง เป็นคนที่อยู่ในสายดีไซน์บ้าง สิ่งที่เรานำมา เราต้องมาคิดต่อ คือเราเอาแค่จุดเล็กๆ นิดเดียว ซึ่งญี่ปุ่นเค้าไม่ได้คิดแบบนี้ เค้าไม่คิดว่า เราจะคิดไปไกลกว่าที่เค้าคิดเยอะ เราไม่ได้ไปเอาแบบเขามา เพราะเรามีแนวทางของเรา พวกนี้เป็นสิ่งที่เอามาเติม และอีกส่วนหนึ่งของมาจากเซ้นส์ เพราะเป็นคนชอบคิด”
“จริงๆ ผมว่าจุดเปลี่ยนแปลงน่าจะมาจากช่วงที่ไปเรียนต่อที่เมืองนอก เราได้อยู่กับตัวเอง ได้หาว่าตัวเองอยากทำอะไร เราชอบดีไซน์อยู่แล้ว เราอยากจะเอาความรู้มาพัฒนาธุรกิจของเราว่ามันสามารถไปได้สุดแค่ไหน คือถ้าคุณกลับมาแล้วก็มานั่งเก้าอี้ที่พ่อคุณเคยนั่ง แล้วก็ไม่ได้พัฒนาอะไร มันไม่ท้าทาย การอยู่เฉยๆ มันก็คือการถอยหลังแล้ว
“คนไม่คิดว่าเราเป็นโรงพิมพ์แล้ว เขาคิดว่าเราเป็น printing & design service นามบัตรของเราจะมีสโลแกนที่ว่า innovation beyond printing ใช้เป็นงานศิลปะ งานพรีเมียม งานอาร์ต เริ่มที่จะกว้างขึ้น จริงๆ แล้ว ใช้เวลาไม่ได้นานมาก ประมาณ 1-2 ปี ที่จะเข้ามาเจาะตลาดตรงนี้ ถ้าเราทำให้เกิดการยอมรับได้เร็วกว่านั้น ก็คงเริ่มตั้งแต่ 4 – 5 ปีที่แล้ว อาจจะช้าแต่ก็ไม่สายเกินไป เท่าที่ทราบยังไม่มีบริษัทไหนทำแบบนี้ เราไม่ได้ไปทาง printing อย่างเดียว เราไปทาง media คือ การทำป้ายต่างๆ มีพื้นที่ของตัวเอง และให้เช่าด้วยซ้ำ ตรงนี้มันเกิดขึ้นในรุ่นของผม”
ไม่ใช่แค่หน้าที่การงานเท่านั้น แม้แต่ “บ้าน” ชั้นบนสุดของโรงงาน สไตล์ทันสมัยในแบบ minimalist ผสมกับวัสดุตกแต่ง ที่เน้นความเก๋าในแบบ retro ที่บอยออกแบบด้วยตัวเอง ทำให้บ้านแห่งนี้ปรากฏบนนิตยสารหลายฉบับและบริษัทเอเยนซี่โฆษณา หยิบยืมขอใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำโฆษณาสินค้ามาแล้ว
บ้านหลังนี้ จึงเป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นตัวตน ความชอบ และงานที่เขาทำ รวมทั้งกลุ่มคนที่เป็นพันธมิตรที่ร่วมมือกับเขา ที่มีทั้งนักออกแบบตกแต่งภายใน ศิลปินวาดภาพ
“กลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็คือกลุ่ม product และ interior การสร้างวัสดุใหม่ให้ดีไซเนอร์ได้ใช้ อย่างบ้านหลังนี้ เมื่อ 3 ปีก่อนยังไม่มีบ้านสไตล์แบบโนเบิลเลย แต่พอลงหนังสือ daybed ไป เริ่มมีบ้าน noble บ้าน loft ออกมาเยอะแยะเลย แสดงว่าเค้าก็คงเห็นตลาดตรงนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นคน set trend หรือเปล่า อาจจะเป็นเพราะว่า เราอ่านหนังสือจากเมืองนอก เราเดินทางบ่อย คิดไปก่อนคนอื่นเค้า สื่อเอาสิ่งที่เราคิดไปลง มันก็อาจจะเป็นการช่วยทำให้คนหันมามอง อย่างตอนที่ผมไปออกงาน Big ทำให้ได้รู้ว่า สิ่งที่ผมทำอยู่ที่อเมริกาฮิตมาก มันก็ทำให้เราได้รู้ว่าเรามาถูกทางแล้ว”
Profile
Name : นาถวัฒน์ ธัมพิพิธ
Age : 34 ปี
Education :
– M.F.A (Graphic Design), Academy of Art College, San Francisco, USA
Career Highlights :
– ปัจจุบันเป็น Project & Design Manager ของบริษัท Morio