“ยูบีซี” สมรภูมิที่กำลังถูกท้าทาย

นับตั้งแต่การวมกิจการระหว่างเคเบิลทีวี 2 ราย ไอบีซี เคเบิลทีวี และยูทีวี จนกลายมาเป็น “ยูบีซี” แล้ว เป็นกว่า 10 ปี ที่ยูบีซีครองตลาดเคเบิลทีวีมาโดยลำพัง จนกระทั่งการเปิดฉากของ “พี.เซาท์เทอร์นเน็ทเวอร์ค” เคเบิลทีวีท้องถิ่นจากภูเก็ต ลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้าด้วยตัวเอง ก็ทำให้อาณาจักรของยูบีซีกำลังต้องเผชิญกับความท้าทาย

สัญญาณสึนามิเคเบิลทีวี

ปรากฏการณ์ที่อาจจะอุปมาอุปไมยครั้งนี้ เสมือน “สึนามิ” ในยุทธจักรเปย์ทีวี สามารถจับสัญญาณได้จากกรณีที่ผู้ประกอบการให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการประสานพลังกันอย่างแนบแน่น ภายใต้สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

การรวมตัวกันของผู้ประกอบการให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วฟ้าเมืองไทย ที่หลอมรวมเป็นสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีมีพลังอำนาจต่อรองทางธุรกิจกับเจ้าของลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับคนทั่วไป

ความเข้มแข็งของผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น และพฤติกรรมของผู้ชมทีวีที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยติดยึดอยู่กับเปย์ทีวียี่ห้อ “ยูบีซี” ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายใหญ่ที่สุด และครอบครองลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศเอาไว้มากที่สุด ไปสู่การแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ทำให้มีกลุ่มพันธมิตรลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ เพื่อจัดหารายการรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับรสนิยมการรับชมรายการของคนไทย ป้อนแก่กลุ่มผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น

การเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจจัดหารายการโทรทัศน์จากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ทำให้เหล่าผู้ให้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น “เปลี่ยนไป” จากที่เคยให้ความเกรงอกเกรงใจ “ยูบีซี” อย่างสูง ด้วยความที่ต้องพึ่งพารายการหลายส่วนจาก “ยูบีซี” มีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น และมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

ความขลัง…ความศักดิ์สิทธิ์ของ “ยูบีซี” ในฐานะผู้ให้บริการรายการแก่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก จากค่าย พี.เซาท์เทอร์นเน็ทเวอร์ค (พีเอสเอ็น) เคเบิลทีวีท้องถิ่นจากภูเก็ต ที่เปลี่ยน positioning ตัวเองใหม่ ขยับฐานะมาเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศ ขายส่งรายการให้กับเคเบิลทีวีท้องถิ่น

ถัดจากวันที่ “ยูบีซี” แถลงข่าวเปิดตัว 4 แพ็กเกจใหม่ได้วันเดียว ผู้บริหารของพีเอสเอ็น นำโดย ธนวัติ สุรเชษฐคมสัน ควงคู่มากับผู้บริหารของบริษัทโซนวิชั่น เอ็นเตอร์ไพรซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว แพ็กเกจรายการ บนโรงแรมหรู กลางกรุงเทพฯ โดยมีทั้งสื่อมวลชน และเคเบิลท้องถิ่นเข้าร่วมงาน

หมัดเด็ดของพีเอสเอ็น คือลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศ 9 รายการ ประกอบด้วยช่องรายการซีเอ็นเอ็นเฮดไลน์ ซึ่งเป็นหัวข้อข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกา ช่องรายการดิสคัพเวอรี่ไซน์ ช่องรายการดิสคัพเวอรี่เฮลท์ ช่องรายการดิสคัพเวอรี่ฮอบบี้แอนด์เลเชอร์ ช่องรายการดิสคัพเวอรี่ทราเวลแอนด์แอดเวนเจอร์ ช่องรายการดิสนีย์การ์ตูน ช่องรายการดิสนีย์เพลย์เฮาส์ ช่องรายการการ์ตูนบูมเมอแรง และช่องรายการเรียลิตี้ทีวี

ค่ายพีเอสเอ็นเชื่อมั่นว่าทุกรายการเหล่านี้ น่าจะยึดกุมหัวใจแฟนจอแก้วเมืองไทยไว้ได้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่กลุ่มนักนิยมเนื้อหาสาระ กลุ่มนักนิยมความตื่นเต้นหฤหรรษ์ และกลุ่มวัยโจ๋รุ่นจิ๋ว

แต่ที่สร้างความมั่นอกมั่นใจให้กับ “พีเอสเอ็น” คือ “ราคา” ที่จัดเก็บจากเคเบิลท้องถิ่นในอัตราเฉลี่ย 350 บาท เฉลี่ยวันละ 11 บาท ถ้าเทียบระหว่างรายการด้วยกันแล้ว อัตราการจัดเก็บของพีเอสเอ็นน่าจะชิงความได้เปรียบจากยูบีซีไม่มากก็น้อย

นอกเหนือจาก 9 รายการดังกล่าวแล้ว หมัดเด็ดที่สองของ “พีเอสเอ็น” ก็คือ การได้ ไทยโซไซตี้ชาแนล (ทีเอสซี) ที่มีเบรฟฮาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ มาเป็นพันธมิตร

สิ่งที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นได้รับจากค่ายทีเอสซี คือ ทุกรายการที่แพร่ภาพออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท เบรฟฮาร์ทอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นทุกรายการที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นสามารถจะดึงดูดสัญญาณเข้าสู่ระบบ เพื่อให้บริการแก่สมาชิกได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนใดๆ แก่ “บีเอชไอ”

รายการที่ “บีเอชไอ” แพร่ภาพผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีเอสซีให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นไปใช้ฟรีๆ คือ รายการประเภทมอเตอร์สปอร์ตระดับโลก อย่างการถ่ายทอดสดการแข่งรถยนต์สูตร 1 หรือฟอร์มูล่าวัน การถ่ายทอดสดแข่งขันแรลลี่โลก

สาเหตุที่ทำให้ทีเอสซีมีรายการมอเตอร์สปอร์ตที่ชาวบ้านไม่มี ก็ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน
เป็นเพราะว่าค่ายบีเอชไอ ซึ่งบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีเอสซี คือผู้ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬามอเตอร์สปอร์ตรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย…ก็เท่านั้น

“ยูบีซี” ขยับสู้เกมรุก

ปฏิกิริยาของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นซึ่งแปรเปลี่ยนไป จากที่เคยนอบน้อมกลับกระด้างกระเดื่อง กล้าโต้แย้ง เป็นอาการที่ค่ายยูบีซีสามารถสัมผัสรับรู้ได้ถึงสัญญาณการต่อสู้ที่ส่อเค้าเข้มข้น และรุนแรงมากขึ้นจากคู่แข่งหน้าใหม่

คณะผู้บริหารของค่ายยูบีซีมีการเคลื่อนไหวตอบสนองต่อสัญญาณการต่อสู้ที่ส่อวี่แววความดุเด็ดเผ็ดร้อนมากขึ้น ด้วยซื้อลิขสิทธิ์รายการใหม่ๆ จากต่างประเทศมาจัดเมนูรายการใหม่ โดยมุ่งตอบสนองความพึงพอใจของสมาชิกที่มีอยู่กว่า 4 แสนรายให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังจะยึดเหนี่ยวสมาชิกที่มีอยู่ให้แนบแน่นอยู่กับยูบีซีต่อไป ไม่ยอมปล่อยให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นฉกไปง่ายๆ

ผู้บริหารยูบีซี นำโดยองอาจ ประภากมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเมนูรายการใหม่ 4 แพ็กเกจ เพื่อหวังจะมา “ปรุงรสให้กลมกล่อม” มากยิ่งขึ้น จาก 2 แพ็กเกจเก่าที่เพิ่มเนื้อหาสาระเข้าไปใหม่ คือ SILVER และ GOLD นำมาเขย่าใหม่ เพิ่มรายการใหม่ พร้อมกับปรับราคาขึ้น SILVER เพิ่มจาก 10 ช่อง เป็น 21 ช่อง ค่าบริการรายเดือนเพิ่มจาก 900 บาท เป็น 1,070 บาท ส่วน GOLD แพ็กเกจ เพิ่มจาก 31 เป็น 33 ช่อง ช่องใหม่ที่เพิ่มเติมในแพ็กเกจนี้ คือ ช่องข่าวบูมเบิร์ก ราคา 1,412.97 บาท

ช่องรายการใหม่ที่มาเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ประกอบด้วย “มินิแพ็กเกจ” เป็นแพ็กเกจที่ยูบีซีตั้งใจเจาะลูกค้าต่างจังหวัดโดยเฉพาะ ไม่มีในกรุงเทพฯ โดยจะเป็นช่องรายการพื้นฐาน 10 ช่อง ราคา 350 บาท

ส่วน “แพลทตินั่ม” แพ็กเกจใหม่ ที่ต่อยอดจากแพ็กเกจ “โกลด์” ถือเป็นซูเปอร์พรีเมียร์แพ็กเกจ ประกอบไปด้วย 42 ช่อง ราคา 2,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ศึกจอแก้วในวงการเปย์ทีวีคราวนี้ ต้องถือว่ายูบีซีต้องอยู่ในสถานะตั้งรับ” และอาจต้องออกแรงสู้ศึก

Did you know?

– ถอดรหัส “พีเอสเอ็น”

“พีเอสเอ็น”…พยัญชนะภาษาอังกฤษ 3 ตัวที่นำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน มาจากชื่อ “บริษัท พี.เซาท์เทอร์นเน็ทเวอร์ค จำกัด” อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนวัต สุรเชษฐคมสัน ในฐานะกรรมการผู้จัดการ

“พีเอสเอ็น” ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ภายใต้ชื่อ บริษัท พี.เซาท์เทอร์นโปรดักส์ จำกัด มีภูมิลำเนาจังหวัดภูเก็ต เริ่มธุรกิจด้วยการเป็นผู้แทนจำหน่ายบัตรเติมเงินแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ควบคู่ไปกับการเป็นผู้แทนจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ทุกประเภทขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแปลงสภาพเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)

ปัจจุบัน พีเอสเอ็นได้พัฒนาขยายขุมข่ายธุรกิจเพิ่มเติมเข้าสู่ธุรกิจการให้บริการจำหน่าย และติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม รวมไปถึงการเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ของรายการโทรทัศน์จากต่างประเทศ เมื่อปี 2539 ภายใต้รหัส “พีเอสเอ็น” หรือ “บริษัท พี.เซาท์เทอร์นเน็ทเวอร์ค จำกัด”

– จากภูเก็ต สู่เครือข่ายทั่วไทย

ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ “พีเอสเอ็น” ทำตลาดอยู่ในวงจำกัด กลุ่มลูกค้าของ “พีเอสเอ็น” โดยส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่เฉพาะเพียงแค่ 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นครัวเรือนในจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ซึ่งบอกรับเป็นสมาชิก เพื่อรับชมรายการโทรทัศน์ชั้นนำของโลก ภายใต้ลิขสิทธิ์ที่อยู่ในความดูแลของ “พีเอสเอ็น”

ล่าสุด “พีเอสเอ็น” ตัดสินใจขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วเมืองไทย ขณะเดียวกัน พีเอสเอ็นก็ได้ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์รายการดังๆ จากต่างประเทศมาไว้ในมือ เช่น ลิขสิทธิ์ช่องข่าว CNN Headline ที่พีเอสเอ็นจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป

การได้ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ช่องข่าว CNN Headline แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในภาคพื้นเอเชีย ยอมยกลิขสิทธิ์ช่อง CNN Headline ให้อยู่ในความดูแลของบุคคลภายนอก

ไม่เพียงสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเท่านั้น แต่รวมไปถึงลิขสิทธิ์ค่ายการ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์ 2 ช่อง คือ “Disney Channel” และ “Disney Playhouse” รวมไปถึง ”การ์ตูนเน็ตเวิร์ก” ที่พีเอ็นเอ็นได้ลิขสิทธิ์ช่องการ์ตูนคลาสสิก ”Boomerang” รวมทั้งลิขสิทธิ์ช่องรายการ Discovery ที่ “พีเอสเอ็น” ได้มาทั้งหมด 4 ช่อง คือ Discovery Health-Discovery Hobby & Leisure-Discovery Science-Discovery Travel & Living

งานนี้พีเอ็นเอ็นคงตระหนักดีว่า หากจะต่อกรกับเจ้าตลาดได้ จำเป็นต้องมีรายการเด็ดๆ มาอยู่ในมือ