BKKIFF 2005 เรียบง่าย แต่แตกต่าง

ผ่านไปแล้วกับงานภาพยนตร์ระดับนานาชาติที่ชื่อ Bangkok International Film Festival (BKKIFF) 2005 ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นปีที่ 3 มีขึ้นระหว่าง 13 – 24 ม.ค. 2548 เป็นเวลา 12 วัน แต่มีเนื้อหาบางอย่างที่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

เริ่มตั้งแต่วันเปิดงาน เนื่องจากเหตุการณ์สึนามิ ททท. แทนที่จะจัดพิธีเปิด ในรูปแบบงานกาล่าสุดหรูเหมือนปีก่อน ปีนี้จึงเน้นความเรียบง่าย และรายได้ค่าตั๋วสมทบทุนช่วยผู้ประสบภัยใน 6 จังหวัดภาคใต้

แต่ภาพยนตร์ที่เลือกมาในวันเปิด 6 เรื่อง 6 โรง ไม่มี “หนังไทย” ขณะที่ปีที่ใช้ “ทวิภพ” เป็นหนังเปิดตัวเพียงเรื่องเดียว

โรงภาพยนตร์ที่เข้าร่วม นอกจาก 8 โรงที่เป็นพันธมิตรมาตั้งแต่ปีก่อน ในปีนี้ มีโรงภาพยนตร์ House RCA ซึ่งเป็นโรงหนังที่มาแรงในเรื่องของหนังนอกกระแส เพิ่มขึ้นมาอีก 1 แห่ง

เนื่องจากเป็นช่วงเดียวกับงาน Thailand Animation จึงได้เปิดตลาดหนังแอนิเมชั่น (animation market) พร้อมการสัมมนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชั่น โดยมีวิทยากร คือ Gabor Csupo ผู้ก่อตั้ง Klasky Csupo สตูดิโอหนังแอนิเมชั่นจากอเมริกา

ผลจากความสำเร็จของ BFM เมื่อปีที่แล้ว ที่มีผู้คนในวงการหนังเข้าร่วมซื้อขายร่วม 600 คน ราว 200 บริษัท จากเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก ทำให้ ททท. ต้องยืดเวลาในการซื้อขายเพิ่มขึ้นมาอีก 2 วัน เป็น 5 วัน

รางวัลใหม่เพิ่มมาอีก 3 รางวัล ได้แก่ People’s Choice Award ซึ่งเป็นรางวัลมอบแด่ผู้สร้างหนังที่ผู้ชมโหวตให้มากที่สุด New Voices Award เป็นรางวัลมอบแก่ผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีผลงานมาแล้วไม่เกิน 2 ครั้ง ส่งผลให้มีหนังจากประเทศใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ และรางวัล Royal Jasmine มอบแด่ผู้ส่งเสริมภาพยนตร์แห่งเอเชีย ซึ่งเป้าหมายก็เพื่อผลักดันให้วงการภาพยนตร์เอเชียพัฒนาเทียบชั้นกับแถบยุโรปและฮอลลีวู้ดให้ได้นั่นเอง

งานนี้ ททท.ไม่ลืมตอกย้ำนโยบาย “Movie Making Hub of Asia” หรือ ศูนย์กลางผลิตภาพยนตร์แห่งเอเชีย เพื่อโปรโมตเมืองไทย และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ททท. นำเสนอตัวเลข หนังต่างประเทศที่ขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย ระหว่างเดือน ต.ค. 2546 – ส.ค. 2547 มีอยู่ถึง 21 เรื่อง ก่อให้เกิดเงินตราต่างประเทศหมุนเวียนเข้ามาถึง 554,150,000 บาท

Did you know?

สถิติที่น่าสนใจ

1. จำนวนหนังแยกตามโซนทวีป (ประมาณการข้อมูลจาก www.bangkokfilm.org)
เอเชียตะวันออก (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน) 15 เรื่อง
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) 55 เรื่อง
เอเชียกลาง-ใต้ 8 เรื่อง
อเมริกาเหนือ (US และแคนาดา) 36 เรื่อง
อเมริกากลาง-ใต้ 17 เรื่อง
ยุโรป 71 เรื่อง
ทวีปออสเตรเลีย 4 เรื่อง
ทวีปแอฟริกา 4 เรื่อง

2. ประเทศที่ส่ง (ชื่อ) หนังเข้าร่วมงานมากที่สุด 5 อันดับ (จาก www.bangkokfilm.org )
ไทย 35 เรื่อง
อเมริกา 30 เรื่อง
ฝรั่งเศส 17 เรื่อง
อังกฤษ 15 เรื่อง
อิตลาลี 9 เรื่อง

3. ประเทศที่ปีนี้มีหนังเข้าชิงรางวัลมากที่สุดคือ ฝรั่งเศส 3 เรื่อง และอังกฤษ 2 เรื่อง หนังเอเชียมี ไทย และ เกาหลี ประเทศละ 1 เรื่อง ขณะที่ปีที่แล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสสูสีกันมาก คือส่งประเทศละ 2 เรื่อง และมีหนังเอเชียเข้าชิงถึง 4 เรื่องจาก 4 ประเทศ คือ จีน เกาหลี ไทย และอินเดีย

4. ส่วนหนังจาก ASEAN ที่เข้าชิงรางวัล BEST ASEAN FILM มากที่สุด คือ ไทยและฟิลิปปินส์ ประเทศละ 4 เรื่อง ส่วนมาเลเซียและเวียดนาม ประเทศละ 2 เรื่อง ขณะที่ปีที่ผ่านมาหนังไทยเข้าชิงมากที่สุดถึง 5 เรื่อง ตามมาด้วยมาเลเซีย 3 เรื่อง และอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ ประเทศละ 2 เรื่อง

5. ส่วนหนังที่เข้าประกวดสาย New Voices หรือผู้กำกับหน้าใหม่จากโซนยุโรปถึง 7 รายจาก 15 ราย ตามมาด้วยโซนเอเชียกลาง-ใต้ 6 ราย โดยใน 15 รายนี้ไม่มีผู้กำกับหน้าใหม่จากไทยเลย

เชื่อหรือไม่?

ต่อปี มนุษยชาติจัดงานเทศกาลหนังร่วม 3,500 งานต่อปี ตกวันละเกือบ 10 งานทั่วโลก (ข้อมูลจาก www.talkingpix.co.uk/ArticleFilmFestivalSensations.html)