Book Fair : อีเวนต์มาร์เก็ตติ้งของธุรกิจหนังสือ

โมเดลการรวมคอลัมน์ที่ลงประจำในนิตยสารมาจัดพิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊ก และโมเดลการจับคนดังมาลงหนังสือนั้นมีมานานแล้ว

แต่ที่เป็นกรณีประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือ ย่อมหนีไม่พ้น “กรรมกรข่าว” ของแพรวสำนักพิมพ์ จากอมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป ที่เปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่แล้ว และฮือฮาอย่างต่อเนื่องเพราะตัวคนเขียนเองมีแฟนประจำอยู่แล้วและมีช่องทางการสื่อสารผ่านโทรทัศน์ด้วย

ปกติหนังสือทั่วไปจะเริ่มพิมพ์ที่จำนวนประมาณ 3,000 เล่ม หรืออย่างมากก็หลักหมื่น แต่กรณีของกรรมกรข่าวนั้นพิมพ์ครั้งแรก 200,000 เล่ม พิมพ์ครั้งที่สอง 120,000 เล่ม ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดาได้ค่าลิขสิทธิ์รวมประมาณ 7.2 ล้านบาท แต่งานนี้คนที่ได้ไปเต็มๆ ย่อมต้องเป็นสำนักพิมพ์เจ้าของหนังสือนั่นเอง

สำหรับหนังสือใหม่ที่จะมาเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ แต่ละสำนักพิมพ์ยังคงอุบไต๋ไม่เปิดเผยไม้เด็ดของใครของมัน รู้แต่ว่าปีนี้แข่งเดือดกว่าปีก่อนเสียอีก เพราะจำนวนบูธมากขึ้น หนังสือมากขึ้น เงินที่ไหลเวียนในงานก็มากขึ้นไปอีก

ริสรวล อร่ามเจริญ อุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารเป็นกรรมการผู้จัดการ แปลน ฟอร์ คิดส์ มา 10 กว่าปี ในฐานะอุปนายกสมาคมฯ รับผิดชอบงานภายในประเทศ เธอเป็นหัวเรือในการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 33 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 6 เมษายน 2548 ที่จะถึงนี้ เล่าให้ฟังว่า “นับแต่จัดงานมาพบว่าคนมางานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ มาออกบูธมากขึ้น เห็นได้จากพื้นที่ที่ขอเข้ามา ปีนี้มีแสดงความต้องการมากว่า 1,000 บูธ แต่ด้วยพื้นที่จำกัด ก็จัดได้ 822 บูธ จากผู้มาออกบูธทั้งหมด 524 ราย เทียบกับปี 2547 มีจำนวนบูธทั้งหมด 723 บูธ”

การเติบโตของธุรกิจหนังสือส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เกิดสำนักพิมพ์ที่เป็น SME เกิดขึ้นมามากมาย มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหนังสือ เกิดโปรดักส์ใหม่ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับผู้เล่นรายเดิมที่ชะงักไปเมื่อวิกฤตทำให้มีหนังสือออกสู่ตลาดน้อย แต่ดีมานด์ของผู้อ่านยังคงมีอยู่และยิ่งต้องการอาหารสมองมากขึ้นในช่วงวิกฤต เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาดได้ง่ายขึ้นหนังสือใหม่เป็นที่ยอมรับเร็ว ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เริ่มเห็นแนวทางของหนังสือใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ผู้เล่นรายเดิมก็กระโดดเข้ามาผลิตหนังสือในเซ็กเมนต์นั้นเพิ่มขึ้น จึงทำให้เห็นว่าตลาดโดยรวมโตขึ้นมาก

ตลาดรวมของหนังสือมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่ละปีเติบโตประมาณ 15% มาจากการเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์ใหม่ และการที่สำนักพิมพ์รายเดิมเพิ่มปริมาณการผลิต งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญที่สุดของธุรกิจหนังสือ จะเห็นได้ว่าทุกสำนักพิมพ์รอที่จะเปิดตัวหนังสือใหม่ในงานนี้โดยเฉพาะ และอีกทางหนึ่งก็อาศัยงานนี้เป็นช่องทางระบายสินค้าที่มีอยู่เดิม เมื่อปี 2547 ประมาณการว่ามีเงินสะพัดในงานถึงประมาณ 250 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ คาดว่าจะสูงถึง 300 ล้านบาททีเดียว

“หนังสือเป็นสินค้าที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงเพราะค่ากระดาษ และเปอร์เซ็นต์ที่ต้องแบ่งให้คนจัดจำหน่ายหรือสายส่งก็ประมาณ 30-40% ของราคาปก เมื่อเหลือมาร์จิ้นน้อย สำนักพิมพ์ก็แบกรับค่าใช้จ่ายการตลาดไม่ไหว ไม่สามารถทำการตลาดได้ทุกครั้งที่พิมพ์ปกใหม่ออกมา การมาออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือจึงเป็นโอกาสสำคัญทางการตลาด จะเห็นว่าปัจจุบันสำนักพิมพ์เริ่มเห็นความสำคัญของ Event Marketing กันมากขึ้น งาน Book Expo เดือนตุลาคมก็มีสำนักพิมพ์มาออกบูธมากเกือบเท่าสัปดาห์หนังสือฯ เดือนมีนาคม นอกจากนั้นในช่วงอื่นๆ ของปี สำนักพิมพ์ยังมีการจัดอีเวนต์เองอีกต่างหากด้วย เพราะสามารถใช้เป็นตัวสร้างรายได้ นอกเหนือจากที่ใช้เป็นเครื่องมือการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย”

แนวหนังสือที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มี 5 แนวหลักๆ ได้แก่ 1. หนังสือที่เขียนโดยคนดัง เช่น กรรมกรข่าวของสรยุทธ สุทัศนะจินดา, หนังสือของดาราที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวชีวิตส่วนตัว หรือเคล็ดลับความงาม เป็นต้น 2. หนังสือสำหรับวัยรุ่น เช่น นิยายแปลจากเกาหลี ของสำนักพิมพ์แจ่มใส, หนังสือของกิ๊กกะจิ๊บ เป็นต้น 3. หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหนัง เช่น นวนิยายที่ถูกเอาไปสร้างเป็นหนัง, เบื้องหลังของหนัง เป็นต้น 4. หนังสือแนวฮาวทู ซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงวิกฤต และปัจจุบันตามกระแส Knowledge-based Society 5. หนังสือสำหรับเด็ก เนื่องจากพ่อแม่รุ่นใหม่มีการศึกษาดีขึ้น มีลูกน้อยลง จึงทุ่มเทเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับพัฒนาการของลูกมาก

ทางด้านคนที่มางานเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยพอสมควร เห็นได้ชัดในบูธของสำนักพิม์ที่ขายดีมากเป็นหนังสือวัยรุ่น เช่น สำนักพิมพ์แจ่มใส สำนักพิมพ์ใยไหม และกลุ่มสำนักพิมพ์การ์ตูน ที่ขยายตัวมากขึ้น

“สาเหตุเพราะวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่บริโภคสินค้าเอนเทอร์เทนมาก โดยไม่จำกัดว่าเป็นแค่หนังหรือเพลงเท่านั้น เมื่อกระแสจากสื่อบันเทิงในทีวีหรือหนังมีแนวนิยมเกาหลี ญี่ปุ่น ก็ส่งผลแง่บวกมาถึงหนังสือด้วย และนักอ่านวัยรุ่นไม่ยึดติดว่าต้องเป็นนักเขียนที่เป็นที่รู้จักเท่านั้น สำคัญอยู่ที่แนวเรื่องที่พวกเขาชอบ คือเรื่องแนวโรแมนติก นอกจากนั้นหนังสือแนวความสัมพันธ์ เช่น กิ๊กกะจิ๊บ กาละแมร์ เคล็ดลับจีบสาว เหล่านี้ก็เป็นที่ต้องการของนักอ่านวัยรุ่นมาตลอด เพราะหนังสือเป็นสื่อบันเทิงที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ จึงเป็นช่องทางให้ผู้สร้างเนื้อหาต่างๆ สามารถสื่อถึงตัวผู้อ่านได้โดยตรง”

ด้วยปริมาณการบริโภคหนังสือของบ้านเราที่ยังมีน้อย ตลาดจึงยังมีช่องว่างให้โตขึ้นไปได้อีกเป็นเท่าตัวหรือมากกว่า ในทุกเซ็กเมนต์ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งรายเก่ารายใหม่ กระโดดเข้ามาร่วมวง เช่น เครืออมรินทร์เองก็มีสำนักพิมพ์ย่อยกว่า 10 สำนักพิมพ์ผลิตหนังสือครอบคลุมทุกกลุ่มคนอ่าน หรือถ้าเป็นสำนักพิมพ์เล็กก็เลือกเล่นในเซ็กเมนต์ที่ตัวเองถนัดไปทางเดียว
ทุกคนต่างรู้ดีว่า หนังสือเป็นสินค้าที่ไม่มีวันโอเว่อร์ซัพพลาย แต่ละเล่มแต่ละเรื่องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเพาะเจาะจง มีมูลค่าในตัวเอง และบางเนื้อหาก็อ่านได้ไม่มีวันหมดอายุ ไม่เหมือนสินค้าอื่นที่ถ้าซื้อชิ้นหนึ่งแล้วไม่ต้องซื้อชิ้นอื่นอีกก็ได้ แต่สำหรับหนังสือ คนที่อ่านกรรมกรข่าว ก็ยังคงอ่านเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

Website

http://www.bangkokibf.com/
http://www.pubat.or.th/