ขั้นบันไดการออกแบบธุรกิจ บ้านใร่กาแฟ

การกำหนดเป้าหมายต้นและเป้าหมายไกล คือ เบื้องหลังความสำเร็จของการสร้างธุรกิจใหม่ ถือเป็นพื้นฐานของการออกแบบธุรกิจ

ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ธุรกิจขนาดเล็กสร้างรูปแบบมีการบริหารอย่างมืออาชีพ จะมีเฉพาะจุดศูนย์รวมใหญ่ๆ เช่น ศูนย์การค้า แหล่งชุมชน ย่านธุรกิจ คำว่า “ธุรกิจใหม่” “ SME” “กาแฟสด” ไม่เป็นที่คุ้นเคย เมื่อ ๒๑ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๔๐ ตราบ้านใร่กาแฟ ถูกสร้างให้กำเนิดขึ้นอย่างมีเป้าหมาย สร้างรูปแบบด้วยวิธีการคิดที่เรียกในช่วงต้นว่า คิดแบบลูกทุ่ง มีพัฒนาการตามลำดับเวลาในการสร้างรูปแบบใหม่ของธุรกิจ ทั้งต่อระบบพาณิชย์ ระบบสังคม ระบบทุน ระบบคน ระบบงาน ฯ จนเกิดรูปแบบเฉพาะ โดยกำหนดเป้าหมายไกล คือ พันธกิจสร้างธุรกิจไทยให้ก้องโลก

พันธกิจนี้ไกลและใหญ่เกินกรอบความคิดแบบเดิม แต่ก็เป็นพันธกิจที่สมบูรณ์ที่สุดกับอุดมคติ คือ มีความท้าทายสามารถเป็นจริงได้ภายในช่วงระยะของเวลาหนึ่ง ได้กำหนดไว้ว่าพันธกิจนี้จะสมบูรณ์ที่สุด ภายในหนึ่งทศวรรษ คือก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (ครึ่งพุทธกาล กึ่งศตวรรษ) หรือไม่ก็ในช่วงชีวิตของตน คือก่อนปี พ.ศ. ๒๖๐๐ (ก่อนศตวรรษใหม่)

การกำหนดเป้าหมายต้น เป็นทางเข้าสู่เป้าหมายไกล เพื่อไม่ให้ไกลจนยากสำเร็จ เป้าหมายต้นจะรองรับเป็นขั้นๆ สูงขึ้นแบบขั้นบันใดตามช่วงเวลา เป้าหมายต้นในเชิงอุดมคติในเรื่องสร้างคนให้เป็นทรัพยากรสำคัญ เพื่อเป็นฐานขั้นต้นนำสู่เป้าหมายไกล เช่น “การทำงานหนักบรรลุผลเสมอเมื่อเวลาผ่านไป” “การรู้จักตน เท้าติดดินเสมอ” คิดถึงผู้อื่นเท่ากับคิดถึงตนเองหรืออย่างน้อยให้ใกล้เคียง” “เขา (ลูกค้า)ไม่ใช่พระเจ้า เราไม่ใช่พระเจ้า”

เป้าหมายต้นในเชิงปฏิบัติที่จะกรุยทางสู่เป้าหมายไกลตามพันธกิจ เช่น การกำหนดพื้นที่ขายรอบเมืองขยายรอบปริมณฑล ขยายสาขาโดยสำเร็จ ๑ วัดผลเพื่อขยาย ๑ จนครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง อีสาน เหนือ ใต้ ตามเส้นเดินทาง เป้าหมายต้นทั้งหมดทำให้ตราบ้านใร่กาแฟเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางตั้งแต่ ๒ ปีแรก ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้ที่จะสร้างรูปแบบ พัฒนาเอกลักษณ์ ก็เกิดขึ้นแบบขั้นบันใด จากขั้นหนึ่งสู่ขั้นสอง สู่ขั้นสาม สู่ขั้นสี่… ร้อย พัน หมื่น … ความสูงของขั้นบันใดก็เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา

การเรียนรู้ความผิดพลาดและความสำเร็จ จะเกิดขึ้นตลอดเวลาจนเป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จ พร้อมกับภาพลักษณ์ของตราที่เด่นชัดมากขึ้น รูปแบบที่มีความสำเร็จนี้เกิดซ้ำซ้อนหลายครั้งตลอดช่วงเวลา กลายเป็นความแม่นยำในการวางแผนและการตัดสินใจขององค์การในการออกแบบธุรกิจแบบขั้นบันใด เป็นระบบเฉพาะและเรียกว่า มาตรฐานบ้านใร่กาแฟ ที่ได้มาจากความสำเร็จในแต่ละยุค ดังนี้

๑. ยุคก่อนกำเนิดตรา ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๐ เป็นยุคการศึกษาวิจัยแบบลูกทุ่ง คือ ข้อมูลหลากหลายเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เก็บข้อมูลจากร้านชาวบ้าน ร้านมินิมาร์ท ร้านค้าขายตามเส้นเดินทาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ด้วยวิธีการพูดคุย เรียนรู้ต้นแบบความสำเร็จในลีลาการนำเสนอแบบวิถีวัฒนธรรมไทย การทักทายแบบอัธยาศัย การตั้งกาแฟไว้ที่สูง การเสนอแบบขั้น รส เข้มหรือกลางหรืออ่อน แบบ ร้อนหรือเย็น ปรุง นมหรือน้ำตาล

การหาอัตราส่วนกาแฟกระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟพร้อมชง โดยนับจำนวนจากชั้นขาย นับแก้วที่หายไป ยอดจากผู้ขาย รวบยอดข้อมูลวิเคราะห์ผลสรุปและตัดสินใจ วางแผนธุรกิจเชิงปฏิบัติและอุดมคติเบื้องต้น เข้าสู่ขั้นทดสอบวัดผลพื้นฐานภาคปฏิบัติ

๒. ยุคต้นกำเนิดพื้นฐานตรา ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒ เป็นยุคขั้นทดลอง หาความสำเร็จต่อเนื่องเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนา ทดลองเริ่มสาขาแรก (๒๑ ธ.ค. ๔๐) สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ในสถานีบริการน้ำมัน ทดลองศักยภาพสินค้าใหม่ กาแฟคั่วบดเมล็ดชงแก้วต่อแก้ว บรรจุภัณฑ์แก้วดินเผาแก้วคำกลอน กำหนดให้เป็นสินค้าสุนทรีย์ ตามแนวคิด อาคารทรงงามไว้ให้คาราวานผู้คนได้แวะเวียน

ทดลองแนวความคิดชาตินิยมต่อความเป็นไทย ชื่อตราไทย ชื่อผลิตภัณฑ์ไทย อาคารทรงไทย รายการแบบไทย ปรุงนมหวานมัน ปรุงน้ำตาลหวาน แบบขนมไทย ทดลองความเชื่อเรื่องคน การสัมฤทธิผลเชิงคุณภาพมาจากคนเหนือตัวคนคือจิตใจ เหนือจิตใจคือทัศนบวก ทัศนบวกสร้างโลก การรับบุคลากรโดยไม่จำกัดวุฒิขั้นต่ำ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดบุคลิกทางเพศ การกำหนดวันหยุด ในวันเกิดตน บุพการี วัดหยุดพิเศษ วันเหลวไหล วัดผลด้านจิตใจ (ความดีของคน) และวัดผลด้านความอุตสาหะ (ความดีของงาน)

ทดลองปรัชญาต้นทุนที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ไม่ต้องต่ำ (ต้นทุนจากการเกษตร ต้นทุนจากผู้มีรายได้น้อย เช่นค่าแรงงาน ค่าเงินเดือน)โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และเพิ่มราคาขายให้สูงโดยควบคุมกำไรโดยไม่ให้เกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เงินเดือนไม่เกิน ๑๗ เปอร์เซ็นต์ การทดลองกำหนดวัฒนธรรมองค์กร โดยนำวิถีสังคม วัฒนธรรม เข้าสู่ระบบธุรกิจใช้พื้นฐานวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมองค์กร
๓.ยุคสร้างตราขั้นสูง ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๖ เป็นยุคสร้างเครื่องมือสนับสนุนจากยุคก่อนให้เข้าสู่ความสำเร็จขั้นสูงตามอุดมคติขององค์กร เป็นการส่งเสริมความสำเร็จของผลทดลอง โดยสร้างโรงเรียนบ้านใร่วิทยา เป็นศูนย์พัฒนาคนบ้านใร่กาแฟ เพื่อการสร้างคน สู่วิชาชีพทักษะกาแฟ แนวคิดองค์กร และวัฒนธรรมองค์การ สร้างคนหนึ่งให้สร้างอีกคนหนึ่งเป็นทอดๆ

สร้างมาตรฐานคุณภาพวัดผลเชิงตรรกศาสตร์ด้านคนและด้านงาน ประเมิน ๓ ระนาบ น้องประเมินพี่ พี่ประเมินน้อง เพื่อนประเมินเพื่อน ทุกรอบ ๖ เดือน โดยคณะกรรมการเลือกตั้งและประเมินฯ สร้างโครงการออกแบบใร่นา เพื่อสนับสนุนเกษตรกรและศึกษา ตามปรัชญาการรวมพาณิชย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นเอกภาพ ปรัชญาต้นทุนไม่ต้องต่ำสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างบ้านสาขาที่ ๙๑ ชื่อบ้านเก้าเอ็ดเอก แสดงผลยืนยันความสำเร็จและเผยแพร่แนวคิดจากผลการทดลองทั้งหมด

๔.ยุคผลประมวลตรา ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ เป็นยุคบัญญัติ ประมวลผลความสำเร็จจากช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นผลจากภาพโดยรวมที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร กำหนดเป็นหลักการเรียกว่าบทบัญญัติบ้านใร่ ไว้เป็นแบบแผนและการเรียนรู้ต่อไป หลังจากนี้นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้น จะเป็นยุคใช้ศักยภาพจากความสำเร็จของตรา บนโอกาสทางธุรกิจและสังคม เช่น การสร้างตราย่อย การสู่ธุรกิจสาขาอื่น การสร้างโครงการที่ส่งผลต่อสังคมและมวลชน เพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายไกล คือ พันธกิจสร้างธุรกิจไทยให้ก้องโลก

ความสำเร็จเป้าหมายต้นถือว่าสมบูรณ์และเข้าสู่เป้าหมายไกลมากยิ่งขึ้นตามพันธกิจว่า สร้างธุรกิจไทยให้ก้องโลก ๔ ยุคจากรอบ ๕ ปี ผ่านมาบนการคาดการณ์ ตัดสินใจและวัดผลไม่เคยได้ศึกษาจากที่ใด นอกจากการเรียนรู้และสร้างระบบและย้อนเรียนรู้จากตนเอง ดูเสี่ยงแบบลูกทุ่งแต่หุ่นจำลองแบบระบบบ้านใร่นี้ ก็สามารถเป็นไปตามยุคและเข้าสู่เป้าหมายตามความตั้งใจ ภายใต้อุดมคติที่เกิดจากความเพ้อฟัน ที่หาได้จากนอกรอบ ของกรอบความคิดที่ซึมกะทือ จนได้กำเนิดชื่อ ตราใหม่ แบบไทยๆ บ้านใร่กาแฟ

หมายเหตุ

สายชล เพยาว์น้อย เคยเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน มาก่อนที่จะเป็นสถาปนิกออกแบบธุรกิจร้านกาแฟยี่ห้อไทยแท้อย่างเช่นทุกวันนี้ ด้วยความเป็นนักสร้างสรรค์ของเขา ประกอบกับความสำเร็จอย่างไม่ฉาบฉวยของบ้านใร่กาแฟ การติดอันดับ 2 ใน Top Ten Young Executives ที่ผู้อ่าน POSITIONING เทคะแนนโหวตให้กับเขาเมื่อฉบับที่ 7 ประจำเดือนธันวาคม 2547 จึงนับว่าสมเหตุผล และคอลัมน์ Next Gen, Next Step จึงเป็นผลพวงอันดับต่อมา เพื่อเป็นตัวกลางถ่ายทอดแนวคิดและวิสัยทัศน์จากผู้บริหารรุ่นใหม่เหล่านี้สู่สายตาผู้อ่าน