คร่ำหวอดในวงการเภสัชกรรมมานานกว่า 30 ปี จวบจนกระทั่งโบกมือลาตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาโนฟี่-ซินเตลาโบ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ ภญ.อินทิรา เขมกวัฒน์ ก้าวเข้าสู่การเป็นเถ้าแก่ นำความรู้ที่สั่งสมมาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำสมุนไพร”
หวังสร้างกระแสฟีเวอร์ตามรอยชาเขียว ภายใต้ชื่อ CACH โดยบริษัทน้องใหม่ แครอท เฮล์ทแคร์ จำกัด ซึ่งเธอบอกว่าครั้งนี้ “ทุ่มแบบหมดตัว”
CACH ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่เครื่องดื่มสมุนไพรที่ทำการตลาดชัดเจน ผู้บริโภคดื่มน้ำสมุนไพรน้อย เนื่องจากรสชาติไม่อร่อย และไม่สะดวก ถึงแม้น้ำสมุนไพรจะมีขายอยู่ทั่วไป แต่ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในความสะอาดและคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นด้วยความเชี่ยวชาญในแวดวงเภสัชกรรม แครอท เฮล์ทแคร์ จึงรุกตลาดระลอกแรกด้วย 3 รสชาติ คือ เห็ดหลินจือผสมมะนาว ชาใบหม่อนผสมสารสกัดจากเมล็ดองุ่น และน้ำส้มแขกผสมดอกคำฝอย โดยบริษัท มาลีบางกอก จำกัด ผลิตด้วยกำลังการผลิต 400,000 ขวดต่อเดือน และ 1,000,000 กล่องต่อเดือน จำหน่ายในราคา 14 บาทสำหรับกล่องยูเอชที และราคา 30 บาทสำหรับขวด PET 500 มล.
ภญ.อินทิรา บอกว่า การทุ่มงบการตลาดกว่า 50 ล้านบาทครั้งนี้ เน้นโฆษณา TVC สร้างการรับรู้แบรนด์ รวมทั้งแจก sampling เพื่อสร้างกระแสให้คนหันมาดื่มน้ำสมุนไพร โดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้หญิงสมัยใหม่ที่รักสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งนักศึกษา วัยทำงาน และผู้ป่วยที่ฟื้นฟูสุขภาพ โดยคาดว่าในปีแรกจะทำยอดขายได้ 600 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 3 ปีจะสร้างตลาดนี้ให้มีมูลค่า 1,000 ล้านบาท และเธอหวังเป็นอย่างยิ่งภายใน 5 ปีตลาดนี้จะมีมูลค่า 3,000 ล้านบาท
“เราจำหน่ายในราคาสูงกว่าชาเขียว เนื่องจากเรามีต้นทุนสูงในส่วนของสมุนไพร และสมุนไพรที่เราคัดเลือกมาล้วนมีคุณค่า”
ขณะที่ภายในปีนี้ จะออกน้ำสมุนไพรอีกอย่างน้อย 2 รสชาติ คือ รสรากบัวผสมว่านกาบหอยและมะตูม และอีกรสชาติหนึ่งจะมีส่วนผสมของรางจืด สมุนไพรไทยที่ขึ้นชื่อในการแก้อาการเมา ออกมาบุกตลาดข้ามห้วยชิงแชร์กับ HANG อีกด้วย
ถึงแม้ว่า “ดอยคำ” ที่เคยผลิตน้ำสมุนไพร ก็ยุติการทำการตลาดไปแล้ว เนื่องจากรสชาติไม่ถูกปาก เนื่องจากมีแนวคิดแบบ “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเท่าที่ควร ภญ.อินทิรา กล่าว
แผนธุรกิจในอนาคตจะยังคงยึด “สมุนไพร” เป็นแนวทางหลัก โดยจะริเริ่มจัดตั้งสถาบันสมุนไพรของเอกชน และเตรียมออกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสมุนไพรหาก CACH ได้รับการตอบรับดี พร้อมกับเล็งตลาดต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสดใส
Key to success
• การช่วงชิงพื้นที่จากตู้แช่ใน 7-eleven มาได้นับเป็นการเปิดประตูทดลองตลาดที่มีความหมาย อย่างน้อยๆ ย่อมเกิดการทดลองดื่มจากผู้บริโภค
• ทีมงานเภสัชกรที่มีประสบการณ์มายาวนาน ซึ่งทำให้มีการพัฒนาสูตรได้หลากหลาย
• รสชาติของเครื่องดื่ม และส่วนประกอบซึ่งมีหลายชนิด ทำให้การเลียนแบบทำได้ยาก
• packaging สีสันสดใส ดูทันสมัย เกินกว่าจะเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ทำให้ดึงดูดใจผู้บริโภค
“แต่กระนั้น ราคาก็เป็นอุปสรรคสำคัญของ CACH เนื่องจากผู้บริโภคอาจเกิดความรู้สึกว่า สมุนไพรไทยไม่น่าจะมีราคาแพง และสามารถหารับประทานได้ง่าย ผิดกับชาเขียวซึ่งไม่ใคร่จะมีใครทำดื่มเอง อีกทั้งผู้บริโภคอาจรู้สึกว่าชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่ in trend และยังมีราคาต่ำกว่า นอกจากนี้ CACH ต้องเผชิญหน้ากับน้ำผลไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแบรนด์ดังครองตลาดมานาน”
Website