โมโตโรล่าบุกรากหญ้า

ว่ากันว่า งานแถลงข่าวล่าสุดของกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่โมโตโรล่า ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในบ่ายวันหนึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ ณ โรงแรมแพนแปซิฟิก สีลม ถือเป็นอีกย่างก้าวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภาพลักษณ์ของค่ายมือถือเก่าแก่ของโลกและของไทยนับต่อจากนี้เป็นต้นไป

ไม่เพียงแต่เป็นการแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยรายละเอียดว่าในปี 2548 ทั้งปี โมโตโรล่าจะทำการตลาดในรูปแบบใหม่ไม่เหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการสร้างแบรนด์มาโดยตลอด โดยปีนี้โมโตโรล่าจะมุ่งไปยังการขยายช่องทางในการเข้าถึงสินค้า หรือช่องทางในการจัดจำหน่ายของตนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโมโตโรล่ายอมรับอย่างยินดีว่า สิ่งนี้คือสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนอย่างอื่น เพราะการกระจายสินค้าให้ถึงมือคนในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้มากเท่าใด นั่นหมายถึงโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้นก็ย่อมสอดคล้องกันไปด้วย

โมโตโรล่าเน้นที่จะทำการเปลี่ยนรูปแบบของการตกแต่งหน้าร้านหรือช็อปของตนอย่างที่ไม่เคยได้เห็นกันมาก่อนหน้านี้ เพราะเชื่อว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนซื้อมือถือนั้นล้วนแล้วแต่ตัดสินใจกันแล้วว่าจะเลือกแบรนด์ไหน และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือสามารถโน้มน้าวจิตใจให้มาเลือกแบรนด์ของโมโตโรล่าได้ ดังนั้นการเปลี่ยนรูปลักษณะของการจัดวางจะช่วยให้ผู้ซื้อที่มาดูของจริงที่ร้านได้ตัดสินใจเลือกโมโตโรล่าในที่สุด

งานแถลงข่าววันนั้นนับว่าสำคัญเพราะเป็นการเปิดตัว จงรักษ์ สกุลภักดี ผู้จัดการประจำประเทศไทยกลุ่มอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด คนล่าสุดเป็นครั้งแรกต่อสื่อมวลชน หลังเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการหลายเดือนก่อนหน้านี้

จงรักษ์ เป็นผู้หนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในวงการไอทีทั้งไทยและต่างประเทศมานานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะการรับตำแหน่งเดียวกันนี้ในบริษัทซอฟต์แวร์องค์กรชื่อดังอย่าง SAS ก่อนตัดสินใจมาร่วมงานกับโมโตโรล่า

ด้วยความที่เป็นคนเริ่มบุกตลาด SAS ในไทยตั้งแต่การเปิดสำนักงาน หาทีมงาน พัฒนาช่องทางการขายจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของเธอซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในยามนี้โมโตโรล่าต้องการความสามารถแบบนี้จากเธอ

แม้จะถูกตั้งคำถามในครั้งนี้ว่า ประสบการณ์ของเธอในวงการไอทีจะเหมาะกับการทำตลาดของโมโตโรล่าหรือไม่ แค่คำตอบที่ได้จากจงรักษ์ก็คือตลาดมือถือกับตลาดไอทีไม่ได้ห่างกันอย่างที่คิด การเข้าใจตลาด และดูแลช่องทางการขายที่เธอเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจะเป็นประโยชน์กับโมโตโรล่าอย่างแน่นอน

Penetration โทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย
ปี 2547 38 %
ปี 2548 45 %

ส่วนแบ่งทางการตลาดของโมโตโรล่า 16 % แบ่งเป็น
40 % Basic handset User
60 % mid & high user