130 ปี วัฒนา สู่วิทยาลัย

โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีนับเป็นผลพวงประการหนึ่งจากการที่คณะมิชชันนารีนิกาย Presbyterian จากอเมริกาได้เข้ามาสู่ประเทศสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โดยริเริ่มระบบการศึกษาสมัยใหม่ให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กชาย

ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 เป็นวาระครบรอบ 130 ปีการก่อตั้ง ท่านผู้หญิง สุมาลี จาติกวณิช ศิษย์เก่าโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง – วัฒนา ในฐานะประธานจัดงานฉลอง 130 ปี ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ตลอดปีการศึกษา 2547 อาทิ ละครเพลง The Sound of Music ซึ่งขอซื้อลิขสิทธิ์บทละครจากอังกฤษ มาจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 18-25 กรกฎาคม 2547 งานกาลาดินเนอร์ ในวันที่ 4 กันยายน และ 25 ธันวาคม 2547 ละครเวทีการกุศล “ชีวิตวังหลัง-วัฒนา” ในวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2547 รวมไปถึงแรลลี่ในวันที่ 12-13 มีนาคม 2547 ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นการฉลองอย่างยิ่งใหญ่กว่าโอกาสครบรอบปีที่ผ่านๆ มา

ความก้าวหน้าของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยนั้น ด้านการเรียนการสอนได้พัฒนามาเป็นระยะ โดยมี ดร.โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ ศิษย์เก่าและประธานกรรมการบริหารโรงเรียน ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนกับโรงเรียน Niagara Christian Collegiate, Ontario ประเทศแคนาดา เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ปัจจุบันโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย มีนักเรียนชั้นอนุบาล ประถมศึกษา เป็นแบบไป-กลับ และชั้นมัธยม ซึ่งเป็นแบบประจำ มีนักเรียน 1,030 คน ในอนาคตมีโครงการเปิดระดับวิทยาลัย (College) หลักสูตรภาษาอังกฤษ ตามแนวคิดของท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งโรงเรียนมีที่ดินที่ได้รับบริจาค ที่ อ. ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมหลักสูตร สถานที่ และขออนุญาตจากสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย

Did you know?

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 คือวันก่อตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (School for Girls) อย่างเป็นทางการ โดย Mrs. Harriet M. House ภรรยาของนายแพทย์ Sammuel R. House แพทย์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นักเรียนรุ่นแรกมี 17 คน วิชาที่เปิดสอนในสมัยนั้น ได้แก่ คำนวณ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คัมภีร์ไบเบิ้ล การถักลูกไม้ มารยาทและการฝีมือ การตัดเสื้อผ้า และการเย็บผ้าด้วยจักร โดย Mrs. House มีแนวคิดว่าการให้สตรีได้มีวิชาความรู้ เป็นการยกสถานภาพสตรีให้เสมอภาคกับบุรุษ

เดิมโรงเรียนตั้งอยู่ที่ตำบลวังหลัง เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุค Modernization บรรดาเชื้อพระวงศ์และเจ้านายจึงนิยมส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลังกันมาก Ms. Edna Sara Cole ผู้บริหารโรงเรียนในขณะนั้น จึงตัดสินใจซื้อที่ดิน 25 ไร่ บริเวณทุ่งบางกะปิ (ซึ่งปัจจุบันคือซอยสุขุมวิท 19) และได้รับบริจาคเพิ่มเติมจากพระอาจวิทยาคม รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ แล้วย้ายโรงเรียนมาเมื่อปี พ.ศ. 2463 จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น วัฒนาวิทยาลัย

Website

www.wattana.ac.th