รวมกัน “เรา” อยู่

“ช่วยกันให้ประเทศไทยสามารถปักธงในถนนช้อปปิ้งของโลกให้ได้” เป็นเสียงจากตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ หรือ RSTA (Ratchaprasong Square Trade Association) ซึ่งทิ้งท้ายไว้ในงานเปิดตัวสมาคมฯ เป็นครั้งแรก

RSTA เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำผู้เป็นเจ้าของโรงแรม และศูนย์การค้าในย่านราชประสงค์ 4 กลุ่มหลัก คือ เกษร กรุ๊ป, อมรินทร์พลาซ่า กรุ๊ป, กลุ่มโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล และมณียา กรุ๊ป ซึ่งรวมเป็นเนื้อที่ราว 1 ล้านตร.ม. เป็นพื้นที่ช้อปปิ้งกว่า 6 แสนตร.ม. หรือกว่า 800 ร้าน มีโรงแรมจำนวน 1,809 ห้อง พร้อมทั้งเปิดตัวพันธมิตรร่วมชูธง “Shopping Street” ซึ่งเป็นโรงแรมและห้างร้านชั้นนำละแวกนั้น (ดังตาราง) ยกเว้นเพียงศูนย์การค้าเพนนินซูล่า ซึ่งแม้ตึกจะตั้งอยู่หน้าโครงการ “รอยัล ราชดำริ” ของกลุ่มมณียากรุ๊ป ก็ไม่ใคร่จะร่วมเป็นพันธมิตร

“การรวมตัวของผู้ประกอบธุรกิจในนามสมาคม ถือเป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่มุ่งเน้นความร่วมมือ การเป็นพันธมิตร และการสร้างเอกลักษณ์ให้กับย่านราชประสงค์ เพื่อผลักดันให้ราชประสงค์เป็นแหล่งช้อปปิ้งชั้นนำระดับโลก” ชาย ศรีวิกรม์ กล่าวในฐานะนายกสมาคมฯ

อันที่จริง กลวิธีการรวมตัวเพื่อความร่วมมือในลักษณะองค์กรหรือสมาคมเช่นนี้ ผู้ประกอบการบนถนนช้อปปิ้งระดับโลกอื่นๆ ก็ได้มีการทำกันเป็นรูปธรรมมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Champs Elysees กรุงปารีส หรือ Oxford Street กรุงลอนดอน หรือ Times Square กรุงนิวยอร์ก เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อศักยภาพในการทำกิจกรรมทางการตลาดกระตุ้นการขายและการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม X’mas และ Countdown อย่างยิ่งใหญ่เหมือนกับที่ถนน Champs Elysees หรือ Times Square ทำจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก หรือกระทั่งการอ้างอิงถึงประวัติของถนนราชประสงค์ เหมือนกับที่ถนนช้อปปิ้งอื่นๆ ทำ รวมไปถึงการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในบริเวณถนนช้อปปิ้งนั้น

นอกจากนี้ การรวมตัวกันยังจะช่วยความหลากหลายของสินค้า (แบรนด์เนม) อันจะเป็นสิ่งดึงดูดนักช้อปนักเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการขอความสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะอาดร่มรื่น สะดวกสบาย และปลอดภัยมากขึ้น ดังพอจะเห็นกันไปบ้างแล้ว เช่น การขยายพื้นที่ทางเท้าและทางม้าลาย และสะพานทางเดินเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าเข้าไปยังศูนย์การค้าในโครงการสมาชิก อันเป็นการเสริมเสน่ห์การช้อปปิ้งให้กับย่านนี้ และอนาคตอันใกล้ สมาคมฯ จะทำการเชื่อมตึกต่างๆ ของสมาชิกและพันธมิตรให้ถึงกันหมด เพื่อเพิ่มความสะดวกในการจอดรถ

งานเปิดตัวสมาคมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมแกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนการเปิดตัวงาน Amazing Thailand Grand Sales ครั้งที่ 6 (1 มิ.ย.-31 ก.ค. 2547) ซึ่งเป็นโครงการที่ ททท.ขอความร่วมมือจากห้างร้านต่างๆ บน “ถนนช้อปปิ้ง” ให้ช่วยลดราคาสินค้าลง แต่ “ถนนช้อปปิ้ง” ที่ ททท.เป็นเจ้าภาพเนรมิตครั้งนี้กินพื้นที่จากสี่แยกปทุมวันไปจนถึงห้างเอ็มโพเรียม อันเป็นเส้นทางเดียวกับพาเหรดแฟชั่นโชว์ในงาน Bangkok Fashion City Extravaganza เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2547 โดยมีกลุ่มเดอะมอลล์และสยามพารากอนเป็นแม่งาน

จากงานวันนั้นทำให้สยามดิสคัฟเวอรี่และสยามเซ็นเตอร์สถานที่จัดพิธีเปิด และดิเอ็มโพเรียมสถานที่จัดพิธีปิดได้รับอานิสงส์สูงสุด ขณะที่ศูนย์การค้าย่านราชประสงค์เกือบจะถูกลืมพล็อตลงบนแผนที่ “ถนนช้อปปิ้ง” ที่วาดเส้นทางโดยผู้จัดงานครั้งนั้น

ก่อนที่สยามพารากอนจะเปิดตัว (ปลายปีพ.ศ. 2548) การรวมตัวกันครั้งนี้ของกลุ่มผู้ประกอบการ (โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีก) ในย่านราชประสงค์ จึงเป็นการผนึกกำลังเพื่อเพิ่มแรงดึงดูดและความน่าสนใจ เพื่อป้องกันก่อนที่ศูนย์การค้าของตนจะเลือนออกจากแผนที่ช้อปปิ้งในใจ (map in mind) ของนักช้อปนักเที่ยว

… หรืออีกมุมหนึ่งก็คือ การเตรียมตัวก่อนลงสนามแข่งขันระหว่างกลุ่มที่มี “เซ็นทรัล” หนุนหลัง กับกลุ่มที่มี “เดอะมอลล์” เป็นแกนนำ นั่นเอง

ตารางแสดง สมาชิกและทรัพย์สินของสมาชิกในสมาคมฯ รวมทั้งพันธมิตร

สมาชิกกลุ่ม RSTA

1. เกษร กรุ๊ป
* ปัจจุบัน
– โรงแรม : –
– ออฟฟิศและห้างร้าน : เกษร (พลาซ่า)
* ภายใน 3-4 ปี
– โรงแรม : –
– ออฟฟิศและห้างร้าน : –

2. อมรินทร์ พลาซ่า กรุ๊ป
* ปัจจุบัน
– โรงแรม : แกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ
– ออฟฟิศและห้างร้าน : อมรินทร์ พลาซ่า
* ภายใน 3-4 ปี
– โรงแรม : –
– ออฟฟิศและห้างร้าน : เอราวัณ แบงค็อก : บูติก มอลล์ (เสร็จ ต.ค. 47)

3. กลุ่มโรงแรม อินเตอร์ คอนติเนนตัล
* ปัจจุบัน
– โรงแรม : อินเตอร์ คอนติเนนตัล
– ออฟฟิศและห้างร้าน : –
* ภายใน 3-4 ปี
– โรงแรม : ฮอลิเดย์ อินน์ (เสร็จ ต.ค. 47)
– ออฟฟิศและห้างร้าน :-

4. มณียา กรุ๊ป
* ปัจจุบัน
– โรงแรม : –
– ออฟฟิศและห้างร้าน : มณียา เซ็นเตอร์
* ภายใน 3-4 ปี
– โรงแรม : รอยัล ราชดำริ (เสร็จราวปี 2550)
– ออฟฟิศและห้างร้าน : –

กลุ่มพันธมิตร
* ปัจจุบัน
– โรงแรม :
1. ฟอร์ ซีซั่นส์
2. อโนมา 1. เซ็นทรัล เวิลด์
2. เซ็นทรัล ชิดลม
3. นารายณ์ภัณฑ์
4. บิ๊กซี
– ออฟฟิศและห้างร้าน :
1. เซ็นทรัล เวิลด์
2. เซ็นทรัล ชิดลม
* ภายใน 3-4 ปี
– โรงแรม : เซ็นทรัล เวิลด์ (เสร็จราวปี 2550)
– ออฟฟิศและห้างร้าน : อาคารสำนักงานเซ็นทรัล เวิลด์

Champs Elysees Committee ใช้สัญลักษณ์

เป็นกลุ่มสมาคมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโปรโมตและพัฒนาถนน Champs Elysees อันที่จริงสมาคมฯ นี้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักธุรกิจผู้รักษ์ถนนแห่งนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) ต่อมา Louis Vuitton จึงได้จัดตั้งเป็นสมาคม ทั้งนี้เพื่อปกป้องรักษาและโปรโมตให้ถนนสายนี้เป็นถนนที่สวยที่สุดในโลก จนปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) จึงเปลี่ยนมาเป็น Champs Elysees Committee ซึ่งจะมีคณะกรรมการทั้งหมด 15 คน มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่จะอาสาสมัครเข้ามาเป็นคณะกรรมการจะต้องเป็นผู้ที่พำนักอยู่บนถนนแห่งนี้เท่านั้น โดยทุกวันนี้ องค์กรนี้ถือเป็นองค์กรอิสระ เพราะเงินที่ได้รับทั้งหมดมาจากค่าสมาชิก จึงถือเป็นตัวแทนธุรกิจบนถนนแห่งนี้ในการโปรโมตและดูแลถนนสายนี้ ร่วมกับภาครัฐ ปัจจุบัน ถนนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมบริษัทกว่า 160 ห้างร้านขนาดใหญ่ มีสมาชิกกว่า 200 คน และมีลูกค้ากว่า 20 ล้านคน

Oxford Street Association ใช้สัญลักษณ์

เป็นสมาคมที่เกิดจากการรวมตัวโดยนักธุรกิจในย่าน Oxford Street ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในย่านนี้ รวมทั้งเพื่อโปรโมตธุรกิจบนถนน Oxford แห่งนี้ และจากวารสารของสมาคมฯ คือ Street Scene เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา บอกว่าทางสมาคมฯ กำลังศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะจากสมาคมไปเป็น Business Improvement District (BID) เหมือนที่ Times Square ทำ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (เทศบาลเมือง) โดยอาจจะมีการขยายอาณาเขตไปถึง Bond Street และ Regent Street

Oxford Street เป็นถนนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่เดิมถนนสายนี้เคยถูกใช้เป็นทางด่วนของชาวโรมันเชื่อมระหว่าง Hampshire กับ Colchester ต่อมาปี ค.ศ.1851 (พ.ศ. 2394) ได้มีการนำเอาโค้งประตูหินอ่อนซึ่งเคยเป็นประตูเข้าพระราชวัง Buckingham ที่ออกแบบโดย John Nash มาตั้งไว้ในบริเวณถนนแห่งนี้ ในปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อ Earl of Oxford เข้ามาซื้อที่ดินแปลงสำคัญๆ บริเวณนี้ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินแถบนี้ให้กลายเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมบันเทิง (event) และพาเหรดต่างๆ จนได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และในศตวรรษที่ 19 ถนนแห่งนี้ก็เริ่มมีร้านค้ามากมายผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนทุกวันนี้ มีร้านแบรนด์อินเตอร์มาจองทำเลบนถนนสายนี้จำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นถนนที่ได้รับความนิยมที่สุดในเรื่องของการช้อปปิ้ง รวมทั้งมีความหนาแน่นที่สุดในอังกฤษ เพราะถนนเส้นนี้มีร้านค้ากว่า 300 ร้านบนพื้นที่รวม 5 ล้านตร.ฟุต นอกจากนี้ ยังร้านอาหารเครื่องดื่มกว่า 50 ร้าน รองรับนักช้อปปิ้งและนักท่องเที่ยวกว่า 200 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 9 ล้านคน

Times Square BID หรือ Times Square Alliance ใช้สัญลักษณ์

ชื่อ Times Square มาจากการที่ New York Times ไปตั้งสำนักงานใหญ่ที่นั่น และจูงใจให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “Times Square” เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) ต่อมาเดือน ต.ค. ปีเดียวกันสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Times Square ก็เปิดให้บริการ และวันส่งท้ายปีเก่าในปีนั้นเอง ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ Times Square นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนทุกวันนี้ ย่านนี้กลายเป็นสถานที่ที่ชาวอเมริกา โดยเฉพาะชาวนิวยอร์กใช้เป็นแหล่งหาความบันเทิงให้กับตัวเอง เพราะย่านนี้เป็นแหล่งรวมโรงภาพยนตร์ที่หนาแน่นที่สุดในอเมริกา นอกจากนี้ Times Square ยังเป็นเสมือนห้องทดลองวิธีการสื่อสารและโฆษณาใหม่ๆ จากสองจุดนี้เองที่ทำให้ Times Square แตกต่างจากแหล่งช้อปปิ้งอื่นๆ อย่างชัดเจน

สำหรับ Times Square BID (Times Square Business Improvement District) นี้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) โดยมีลักษณะเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ที่ควบคุมดูแลโดยคณะกรรมการที่เป็นอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการตั้ง เพื่อมาดูแลความสะอาด และความปลอดภัยในย่าน Times Square ตลอดจนทำหน้าที่บริการข้อมูลและคำแนะนำในการทำธุรกิจในย่านนี้ รวมทั้งช่วยโปรโมตและพัฒนาความเจริญของธุรกิจในย่านนี้ ภายใต้งบประมาณ 6 ล้านเหรียญดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเงินที่ได้มาจากเจ้าของตึก (property owner) และผู้พักอาศัยในย่านนี้ โดยเทศบาลเมืองจะเป็นผู้เก็บเงินให้แล้วนำมาแจกจ่ายให้กับองค์กร
พื้นที่ย่าน Times Square ประกอบด้วยเจ้าของตึก (property owner) 399 คน (ไม่รวมตึกที่เป็นบ้านพักอาศัย) มีธุรกิจและองค์กรปักหลักอยู่ในย่านนี้ถึง 1,500 องค์กร บนเนื้อที่ 21 ล้านตร.ฟุต (มีอีก 2.4 ล้าน ตร.ฟุต อยู่ระหว่างซ่อมแซม) ในย่านนี้มีโรงแรมถึงจำนวน 12,500 ห้อง คิดเป็น 1 ใน 5 ของห้องทั้งหมดในกรุงนิวยอร์ก (อีก 3,000 ห้องที่จะถูกสร้างเพิ่ม) และมีร้านอาหารกว่า 251 แห่ง รองรับนักท่องเที่ยวประมาณ 26 ล้านคนต่อปี

Website

ข้อมูลและรูปภาพงานฉลองปีใหม่มาจาก : www.timessquarebid.org
และรูปภาพที่เหลือมาจาก : www.newyorkcitytravels.com/New-York-City-Photos/