ภัทรเทพ วีระพงศ์ ห้องเรียนนอกประเทศ

ภัทรเทพ วีระพงศ์ ในวัยเพียง 26 ปี กับความรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการบริหาร บริษัท Student Exchange Corporation จำกัด หรือ SEC อาจจะดูเด็กเกินไปในสายตาผู้ปกครองนักเรียนและอาจารย์ที่มาติดต่อ แต่หากใครได้คุยกับเขาแล้วจะรู้ว่าประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เขามีนั้นไม่น้อย

หลังจากจบปริญญาตรีสาขาบริหารจัดการการท่องเที่ยวและโรงแรม วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขากลับไปช่วยกิจการที่แม่ทำไว้อยู่แล้ว คือการติดต่อหาสถานที่ไปซัมเมอร์แคมป์ในอเมริกา ให้นักเรียนมัธยมที่สนใจไปใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนเพื่อฝึกภาษาและเพิ่มเติมประสบการณ์

เขายอมรับว่า การเริ่มงานในช่วงแรกไม่ค่อยสันทัดนัก ต้องทำไปเรียนรู้ไป จนเวลาผ่านไปได้สัก 1 ปี จึงเริ่มเข้าที่เข้าทาง เข้าใจภาพรวมของกระบวนการทำงาน สามารถอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน การดำเนินโครงการ และให้คำตอบกับข้องใจต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมาก เพราะช่วงราวปลายปี 2546 มีข่าวอื้อฉาวกรณีน้องปุ้ย นักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ ของสมาคมส่งเสริมการศึกษานักเรียนทุนแอลเอฟเอส ถูกครอบครัวชาวอเมริกันที่เธอไปพักอยู่ด้วยกักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นเรื่องราวถึงขนาดต้องมีตำรวจพาตัวออกมา จนผู้ปกครองน้องปุ้ยต้องยื่นฟ้องร้องสมาคมฯ ฐานบกพร่องในการดูแลเด็กในโครงการ ซึ่งกรณีนี้ทำให้ธุรกิจโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนโดยรวมต้องเสียหลักไปทั้งขบวนเลยทีเดียว

“ผมพยายามให้ความรู้กับผู้ปกครองนักเรียน และอาจารย์ในโรงเรียนทุกแห่งที่ผมเข้าไปติดต่อเสนอโครงการ ว่าทำอย่างไรจึงจะเลือกโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนได้อย่างมั่นใจ และดูออกว่ารายไหนมีหน่วยงานรับรอบรองถูกต้องหรือไม่ เพราะในเมืองไทยเรายังไม่มีการตั้งองค์กรมาดูแล หรือให้การรับรองโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน แต่ในต่างประเทศเขามี อย่างที่อเมริกา ก็มีหน่วยงานที่ชื่อว่า CSIET และกระทรวงการต่างประเทศดูแลอยู่”

ภัทรเทพเล่าว่า การแข่งขันในธุรกิจนี้ ผู้ปกครองยังพิจารณาที่ “ราคา” เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการส่งลูกหลานไปต่างประเทศแต่ละครั้ง แม้เป็นระยะเวลาไม่นานก็เสียค่าใช้จ่ายถึงหลักแสน แต่ถ้าวัดกันที่คุณภาพความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินโครงการแล้ว มีรายใหญ่อยู่เพียงไม่กี่ราย หนึ่งในนั้นที่คนไทยรู้จักกันดีคือ ทุน American Field Service หรือ AFS ซึ่งภัทรเทพตั้งเป้าให้ SEC ขยับเทียบชั้น AFS ให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้

กลยุทธ์ที่เขาใช้ คือการติดต่อขอ Exclusive License จากโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดโครงการหนึ่งของอเมริกา นั่นก็คือ โครงการ Presidential Classroom ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีเยาวชนจาก 120 ประเทศทั่วโลก จำนวนมากกว่า 110,000 คนที่เคยเข้าร่วม นับจากก่อตั้งโดยประธานาธิบดี John F. Kenedy ผ่านสภาคองเกรสเมื่อปี ค.ศ. 1968

จากการติดต่อเจรจากับ President Classroom ซึ่งบริหารโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไรของอเมริกา ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ความพยายามของภัทรเทพก็ประสบผลสำเร็จ ทำให้ SEC ได้เป็นผู้แทนพิเศษแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ได้ใบอนุญาต อันได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

“การเข้าร่วมโครงการ Presidential Classroom นั้นไม่ใช่ว่าผู้ปกครองมีเงินก็สมัครให้เด็กแล้วเป็นอันจบ แต่ต้องมีผลการเรียนเทอมสุดท้ายได้เกรด 3.00 ขึ้นไป และต้องสอบแข่งขันกันด้วย แต่ถ้าใครสามารถฝ่าด่านไปได้ ก็จะได้ประสบการณ์ที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แม้จะใช้เวลาเพียง 9 วัน เพราะจะได้ไปสัมผัสการทำงานจริงของสภาคองเกรส ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาว ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งจาก Value นี้เองที่จะส่งให้ชื่อ SEC และ Presidential Classroom เป็นที่รู้จักในหมู่นักเรียนไทยได้ไม่ยาก”

นอกเหนือจากโครงการ Presidential Classroom แล้วปกติ SEC ก็ดำเนินโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนระดับ High School และโครงการ Camp Adventure USA สำหรับนักเรียนอายุ 16-19 ปี โดยวาง positioning ตัวเองที่การทำโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ลงไปไลน์อื่นเพื่อสร้างการรับรู้ที่ชัดเจนต่อผู้บริโภค ซึ่งหลายครั้งภัทรเทพพบว่า ผู้ปกครองมองธุรกิจนี้ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจนำเที่ยว ที่ใครที่มีกำลังซื้อก็ส่งลูกหลานไปสัมผัสสภาพแวดล้อมการใช้ภาษาอังกฤษในต่างประเทศแล้วกลับมาอวดเพื่อนได้ว่าไปซัมเมอร์แคมป์ โดยที่ไม่ได้พัฒนาทักษะและประสบการณ์อย่างจริงจัง

“เมื่อภาพการเป็นผู้เชี่ยวชาญโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนของเราอยู่ตัวแล้ว และชื่อโครงการ Presidential Classroom เริ่มติดหูคนไทย ต่อไปเราจะขยับไปที่กลุ่มเป้าหมายเยาวชนวัยทำงานหรือผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งในไลเซ่นส์ครั้งนี้ เราได้รับอนุญาตให้ส่งคนไปร่วมโครงการฝึกงาน Presidential Classroom Internship ที่สำนักงานใหญ่ในวอชิงตันดีซี ด้วย” ภัทรเทพกล่าวปิดท้าย

โครงการ Presidential Classroom ประกอบด้วย 7 โครงการย่อย คือ

– Future World Leaders Summit 2005 เวทีสุดยอดอนาคตผู้นำระดับโลกจากกว่า 120 ประเทศ มาร่วมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้เยาวชนตัวแทนแต่ละประเทศเสนอแนวคิดประเด็นระดับสากล แสดงจุดยืนด้านการทูต การเจรจาทวิภาคี โปรแกรมพัฒนาโดย The Academy of Diplomacy

– Presidential Classroom Scholars เน้นการร่วมสัมผัสการทำงานของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา เข้าสนทนาและพูดคุยกับผู้นำระดับประเทศโดยตรง ณ ทำเนียบขาว

– National Security in Democracy เข้าถึงระบบความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ตั้งแต่การเจรจาการทูตจนถึงการรักษาความสงบ ความสัมพันธ์การทำงานของประธานาธิบดี สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาคองเกรส และมีโอกาสไปเยี่ยมชมกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Pentagon)

– Science, Technology & Public โอกาสเข้าร่วมสัมมนาในหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ สภาผู้แทนสหรัฐ ศูนย์การบินอวกาศ องค์การ NASA

– Global Business & Public Policy Program เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและแรงงาน เยี่ยมองค์การศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เช่น ธนาคารโลก กองทุน IMF และโอกาสเข้าร่วมสัมมนากับบริษัทชั้นนำของอเมริกา

– Law & Justice in a Democracy เข้าถึงระบบยุติธรรมผ่านการสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารในศาลสูงสหรัฐอเมริกา เรียนรู้และเข้าใจกฎหายอเมริกัน เข้ามีส่วนร่วมใน Moot Court การอภิปรายประเด็นทางรัฐธรรมนูญต่อหน้าสภานักศึกษา รวมทั้งการสัมมนาพิเศษกับเจ้าหน้า FBI และเยี่ยมบริษัทกฎหมายในวอชิงตัน ดี.ซี.

– Media & Democracy เปิดโลกทัศน์การสัมผัสเบื้องหลังการทำข่าวและบทบาทของสื่อ อิทธิพลของสื่อต่อนโยบายสาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนและรัฐบาล เรียนรู้จากนักวิเคราะห์จากสื่ออิสระ ผ่านเวิร์กช็อป

Profile

Name: ภัทรเทพ วีระพงศ์
Age: 26 ปี
Education:
มัธยมศึกษา โรงเรียนหอวัง
ปริญญาตรี บริหารจัดการการท่องเที่ยวและโรงแรม วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล
Career Highlights:
2544 – ปัจจุบัน ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท Student Exchange Corporation จำกัด

Website

www.student-xchange.org/pc