เสียบ ทิ่ม จิ้ม โหลด สงครามโปรดักต์ยุคข้อมูลมัลติมีเดียติดตามตัว

ถ้าคุณชอบฟังเพลงฮิพฮอพมันส์ๆ อย่าง “ไททาเนียม” หรือเพลงเด็กแนวแปลกๆ คงต้องเปิดคลื่น Fat Radio เพราะไม่มีที่อื่นเปิดให้ฟัง อยากฟังเพลงวัยรุ่นเด็กๆ ก็คงต้องเปิดสถานีที่อาร์.เอส.จองไว้ เพลงผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็คงต้องหาคลื่นประเภท คูล-ซอฟต์ ทั้งหลายของ เวอร์จิ้นซอฟต์ หรือฟังลูกทุ่งยอดฮิตอย่าง “กระท่อมทำใจ” ก็ต้องเปิดคลื่นลูกทุ่งเฉพาะทาง หรือกระโดดไปคลื่น AM

แต่ถ้าอยากฟังทั้งหมดเลย คงหาคลื่นอะไร ดีเจคนไหน คงเปิดให้ฟังไม่ได้บนแผงหน้าปัดเพลงไทยในระบบผูกขาดทุกวันนี้

ถ้าคุณอยากซื้อซีดีเพลงฮิตแค่เพลงเดียว แต่ไม่อยากได้เพลงที่เหลือในอัลบั้ม อยากได้วงไอน้ำ คาราบาว บอย เบิร์ด ลาบานูน และจินตรา พูนลาภ เฉพาะรายเพลงจับมารวมอยู่ในแผ่นเดียวก็ไม่มีใครขายให้ได้ เพราะเงื่อนไขผลประโยชน์ค่ายเพลงนั้นขวางคอ

ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น เพื่อนซี้ที่เพิ่งติดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เหมือนกัน เพิ่งส่งไฟล์ MP3 เพลงบอยเวอร์ชั่นใหม่ที่อัดมาจากคอนเสิร์ตมาให้ แล้วจะทำยังไงกับมันดี

คำตอบง่ายๆ ของมนุษย์ยุคดิจิตอลก็คือ ทำไมไม่รวมเพลงขึ้นมาเอง แบบไม่แคร์คลื่น ไม่สนใจค่าย ลืมไปเลยว่า มันผิดหรือถูกกฎหมาย ของถูกต้องหรือว่าลักลอบอัดแบบบูธเลก เพราะในเมื่อในตลาดไม่มีซีดีถูกกฎหมายวางที่ตรงสไตล์มาขายให้คุณ และซอฟต์แวร์แปลงไฟล์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก คอมพิวเตอร์และเครื่องไรต์ซีดีกันก็มีเกลื่อนเมือง ก็ทำเองเสียเลยน่าจะดีกว่ารอซื้อสินค้าที่ไม่มีวันขาย

ถ้าชีวิตคนเหมือนหนัง ทุกคนที่เดินไปตามถนน หรือนั่งทนทำงานตามสำนักงานก็ต้องการ “ซาวนด์แทร็กชีวิต” ของตัวเอง เปิดเพลงประกอบชีวิตตัวเองในแบบที่ตนเลือกและพอใจ บางตนซาวนด์แทร็กชีวิตอาจเป็นแจซ บางคนอาจเป็นลูกทุ่งสามช่า

คำถามถัดไปก็คือ…จะเอาไฟล์พวกนี้ไปใส่ใน “อะไร” ดี แบนด์วิธพร้อม ไฟล์พร้อม พฤติกรรมผู้บริโภคพร้อม เหลือแต่โปรดักต์ที่ยังไม่มี

เสียบ-จิ้ม-ทิ่ม-โหลด

ในที่สุด โปร์ดักต์ใหม่ที่รองรับพฤติกรรมใหม่ของยุคสมัยก็คือ เครื่องเล่น MP3 ที่ใช้ฟอร์แมตในการย่อไฟล์จนบีบอัดเพลงจำนวนมากลงไป แต่คุณภาพเสียงไม่ลดลงไปมากจนเสียอรรถรสการฟัง นอกจากนั้นยังเสียบโหลดถ่ายโอนข้อมูลต่างๆ ได้มากมาย

ย้อนเวลากลับไปแค่ไม่กี่ปี ทุกอย่างเริ่มจากรูปแบบง่ายๆ ของ Thumb Drive หรือ Handy Drive ที่ใช้ประโยชน์จากพอร์ต USB ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อห้าหกปีก่อน สินค้าพวกนี้ที่มีความจุ แค่ 8-16 เมกะไบต์ได้เข้ามาในไทยพร้อมๆ กับการแถมกับคอมพิวเตอร์ ไม่มีใครใช้อะไรมากนอกจากดาวน์โหลดไฟล์เวิร์ด เอาไว้ทำงานนอกสถานที่

ไม่กี่ปีผ่านไป ทุกอย่างเปลี่ยนตามอย่างเหลือเชื่อ แผ่นความจุสูงอย่าง Zip Drive ของ Iomega ที่เคยฮิตฮอตถูกฆ่ากลางตลาด เพราะทั้งเทอะทะ เสียง่าย ราคาแพง ในขณะไดร์ฟพกพาที่ใช้เสียบ USB ราคาถูกลงหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดเล็ก สะดวก มนุษย์ไอทีเริ่มคล้องคอเหมือนกับเป็นหลวงพ่อองค์ใหม่ของศาสดาแห่งอนาคต

พอร์ต USB ที่เคยซ่อนอยู่ข้างหลังเครื่อง ก็ถูกย้ายมาอยู่ข้างหน้าตามความนิยมของการใช้งาน ในหมู่เพื่อนร่วมงาน การจิ้มโหลดไฟล์กลายเป็นเรื่องปกติและง่ายกว่าการส่งข้ามเน็ตเวิร์กแลน หรือแนบไฟล์ไปกับอีเมล สำหรับใครที่ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ “ดุ้นความจำ” พวกนี้ง่ายกว่า Zip Drive และแน่นอนกว่าแผ่นซีดี เวลาส่งไฟล์โรงพิมพ์ สำหรับมือไอทีมันกลายเป็นที่เก็บไดเวอร์และซอฟต์แวร์จำเป็น

ไม่ใช่ระบบ LAN ต่อสาย หรือ Wireless แต่เป็นระบบ LAN ทำมือ ที่ส่งต่อไฟล์ผ่านคนต่อคนจากการเสียบโหลดจากเครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ไดร์ฟ A ในเครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มหมดความหมาย เหตุเพราะเข้าถึงข้อมูลได้ช้า และด้วยความจุข้อมูลแค่เมกะไบต์กว่าๆ จัดว่าน้อยเกินไปสำหรับไฟล์มัลติมีเดียสมัยใหม่

ก่อนนั้น พอร์ต USB เวอร์ชั่น 1.0 ยังจัดว่าช้าอยู่ แต่แค่ไม่ถึงสองปี พอร์ต USB รุ่นใหม่ 2.0 ก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ ที่เริ่มสูสีความเร็วกับพอร์ต Fire Wire ที่มีราคาแพง และใช้กันไม่แพร่หลายเท่า

เมื่อปีที่แล้ว ห้างพันธุ์ทิพย์ที่เป็นเหมือนดัชนีวัดกระแสไอทีไทย เกลื่อนไปด้วยร้านขายกล้องดิจิตอลที่จัดว่าทอปฮิตที่สุดของปี แต่น้อยคนจะเผลอสังเกตว่า นอกจากกล้องแล้วยังมี Thumb Drive ที่วางตลาดไม่น้อยเช่นกัน พร้อมๆ กับราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

ปีของกล้องผ่านไป มาปีนี้ เวลานี้ โปรดักต์ดังที่สุด และขายได้เร็วที่สุดกับเป็น Thumb Drive มาดใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เพราะผ่านการโด๊ปมัลติมีเดียมาเรียบร้อยแล้ว และนี่คือต้นตอของ MP3 Player ที่ส่งกระแสสะเทือนทั้งเมืองไทยและเมืองนอก นับตั้งแต่ยี่ห้อโนเนมจากเมืองจีนและไต้หวัน ไปจนถึง iPod จากอเมริกา

ยุคใหม่ MP3 Player

ไม่ว่าใครก็เริ่มคุ้นเคยกับการ เสียบ-ทิ่ม-จิ้ม-โหลด กับสารพัดไฟล์ข้อมูล ที่เหลือก็รอแค่ว่า ผู้ผลิตจะเพิ่มฟังก์ชันมัลติมีเดียให้กับมันอย่างไร เจ้าใหญ่อย่าง Iriver จากเกาหลีใต้ และ Creative จากสิงคโปร์ รวมทั้งเจ้าโนเนมหลากยี่ห้อจากไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มลงมาชิมลางตลาดใหม่ด้วยหน่วยความจำที่เป็นมากกว่า “ดุ้นความจำ” เพราะมันอัดเสียงพูด เล่น MP3 เก็บไฟล์เวิร์ด เอ็กเซล สารพัดจะจุลงไป

เครื่องเล่น MP3 มีอยู่สามแบบใหญ่ๆ ในยุคแรกจะเป็นเครื่องเล่นแผ่นซีดีที่อ่านฟอร์แมต MP3 และ VCD ได้ เมื่อสองปีก่อนได้รับความนิยมสูงเพราะราคาถูกแค่ 3-5 พันบาท แต่มีข้อเสียที่จุได้ไม่เกิน 650 เมกะไบต์ตามความจุแผ่น และการใช้แผ่นทำให้มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว ซึ่งใช้มอเตอร์ที่กินไฟแบตเตอรี่และอายุการใช้งานสั้นลง

โปรดักต์รุ่นถัดมาคือ เครื่องเล่นที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งข้อดีคือ สามารถจุได้สูงหลายกิกะไบต์ ซึ่งสามารถใส่เพลงได้หลายหมื่นเพลง หรือแบ่งหมวดฟังได้ตามอารมณ์เพลงแต่ละช่วงของวัน ถูกบุกเบิกโดย Apple เมื่อสามปีก่อน และยังเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน

โปรดักต์ประเภทที่สามเกิดจาก ราคาหน่วยความจำแบบแฟลชมีราคาถูกลงมาก เพราะการขยายตัวของมือถือและกล้องดิจิตอล ส่งผลให้มีเครื่องเล่น MP3 รุ่นใหม่ที่ใช้แฟลชเมมโมรีล้วนๆ ในการอัดโหลดเพลงหรือไฟล์อื่นลงไป ข้อดีคือขนาดเล็กกว่ารุ่นที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ และไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวที่กินไฟ ทำให้ใช้งานได้นานกว่า แต่ก็จุเพลงหรือไฟล์ดิจิตอลอื่นๆ ได้น้อยกว่าเช่นกัน รุ่นนี้เป็นการฟาดฟันของหลายแบรนด์โดยมี Apple และ Creative เป็นผู้นำตลาด ตามมาด้วยผู้ผลิตจากจีนและค่ายโซนี่ที่ลงตลาดนี้เมื่อเดือนก่อน

ในขณะที่ Creative และ iRiver เข้ายึดหัวหาดในเอเชียอย่างเงียบๆ และเจาะตลาดมานานหลายปี ทางค่าย Apple Computer ได้เข้าตลาดนี้เมื่อราวสามปีก่อนด้วยแบรนด์ iPod ที่ไปดังในอเมริกาและยุโรป และแผลงฤทธิ์เมื่อปีกลายด้วยการกวาดยอดขายเกือบสี่ล้านเครื่องในระยะเวลาแค่สามเดือนสุดท้ายของปี

ยอดขายประวัติการณ์ชนิดเกือบสี่ล้านเครื่องในไตรมาสเดียวของ Apple มากพอๆ กับประชากรของเกาะสิงคโปร์หรือประเทศเล็กๆ ทั้งประเทศ คงบอกได้ว่าตลาดใหม่นี้ร้อนแรงขนาดไหน เพราะในไตรมาสเดียวกันนั้นทางค่าย Creative ก็ทำได้เกือบสองล้านเครื่องเช่นกัน

หากคิดรวมกับเจ้าอื่นๆ อีกนับล้านเครื่อง อย่าง iRiver หรือ Rio และเครื่องไม่ติดแบรนด์ ไร้ยี่ห้ออีกสารพัดรวมกัน มูลค่าและขนาดรวมของตลาดนับว่ามหาศาลทีเดียว แถมยังมีอัตราเติบโตเร็วอย่างเหลือเชื่อ

ร้อนแรงมากจนในที่สุดค่าย Sony เจ้าของตำนานอมตะ “Walkman” ทนอยู่เฉยไม่ได้ ต้องกระโดดลงมาร่วมวงเมื่อต้นมีนาฯ นี้ด้วยการออก “Walkman Player” ที่กะจะมาฟาดฟันกับ รุ่น Shuffle ของ iPod โดยเฉพาะ

Sony ขอทวงบัลลังก์คืน

ในขณะที่ตลาดกำลังบูมสุดๆ แต่โซนี่ เจ้าของตำนานวอล์กแมนกำลังย่ำแย่ในทุกด้านของสถานการณ์ และคู่แข่งอย่าง Samsung กำลังมาแรงในทุกตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การที่ Apple Computer ที่ไม่เคยขึ้นชื่อในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มาก่อนกลับพลิกกลายมาเป็นผู้นำตลาดเครื่องเล่นเพลง นับเป็นเรื่องที่โซนี่ไม่อาจทนได้อีกต่อไป

จริงอยู่ว่า นับจากปี 1979 เป็นต้นมา Sony ขายเครื่องเล่นเทปและซีดีในตระกูลวอล์กแมนไปได้มากกว่า 340 ล้านเครื่อง แต่ทุกอย่างเป็นแค่เรื่องในอดีต เพราะจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตการขายหากโปรดักต์ที่มีอยู่อย่างเครื่องเล่นเทปและซีดี ดีวีดี หรือแม้แต่เอ็มดี กลายเป็นเรื่องล้าสมัยในสายตาผู้บริโภคที่ปันใจมาให้เครื่อง MP3 Player อย่างไม่ลืมหูลืมตา

ช่วงปีที่ผ่านมา Sony เจอกดดันหนักในทุกแนวรบ ในเรื่องของ PDA ต้องประกาศยุติสายการผลิตทั้งหมดของ เครื่อง PDA ตระกูล Clie ในตลาดกล้องดิจิตอลที่โซนี่เป็นผู้นำตลาดมาแต่ไหนแต่ไรต้องเจอเข้ากับการแข่งเดือดจากค่าย Canon และ Kodak รวมทั้งติดปัญหาที่ตลาดพอใจกับสื่อเก็บข้อมูลแบบ Compact Flash มากกว่าสื่อ Memory Stick ที่โซนี่ออกแบบมาเองกับมือ

ในตลาดโทรทัศน์และเคลื่องเล่นออดิโอ กำลังถูกกดดันอย่างหนักจาก Samsung ที่หนีการแข่งจากผู้ผลิตเมืองจีน แล้วเปลี่ยนโพสิชั่นและอัพเกรดแบรนด์มาชิงดำกับโซนี่ในตลาดไฮเอนด์ ในเรื่องจอแบนที่โซนี่ภูมิใจในเทคโนโลยีตัวเองมานาน สุดท้ายก็ต้องกลืนน้ำลายยอมลงทุนสร้างโรงงานผลิตจอแบบร่วมกับซัมซุงในเกาหลีใต้

ในสถานการณ์ที่ร้อยเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ Sony ไม่อาจพลาดได้อีกในตลาดเครื่องเล่น MP3 ที่จะมาแข่งกับโปรดักต์ไลน์วอล์กแมนทั้งหมดที่ตนมีอยู่

ล้างบางภายในก่อนบุก

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในที่สุดบอร์ดบริหารของโซนี่ก็ได้ตัดสินใจจะทำในสิ่งที่ยากแสนยากที่สุดที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในบริษัทจากแดนอาทิตย์อุทัย นั่นคือ ดัน CEO ญี่ปุ่นออกจากตำแหน่งแล้วให้ฝรั่งขึ้นมากุมอำนาจการบริหารสูงสุดภายในบริษัท

โนโบยุกิ อิเดอิ CEO เลือดซามูไรคนเดิมจะก้าวลงจากตำแหน่งที่ครองมานาน แล้วเปิดทางให้ เซอร์ โฮเวิร์ด สตริงเกอร์ ที่เดิมคุมงานมีเดียและภาพยนตร์ของโซนี่ในอเมริกา ผู้บริหารคนนอกที่ไม่ใช่ลูกหม้อเก่าและร่วมงานมากับโซนี่ไม่ถึงสิบปี ก้าวขึ้นบัญชาการโซนี่ทั่วโลกแทน

และที่สำคัญ นายคนใหม่ของ Sony พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ และวางแผนที่จะสั่งการจากนิวยอร์กแทนที่จะเป็นโตเกียว

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผู้บริหารจะต้องเป็นคนญี่ปุ่นเสมอไป” อิเดอิเผยก่อนล้างมือจากตำแหน่งนายใหญ่

นักวิจารณ์หลายรายชี้ว่า ถ้าสถานการณ์ไม่เข้าตาจนขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าเช่นที่เกิดคงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้บริหารคนใหม่ที่นอกจากจะไม่ใช่เชื้อสายดั้งเดิมของบริษัทแล้ว เขายังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสายการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน

Sony ลงสนาม MP3

หลายคนมองว่าสาเหตุที่ค่ายโซนี่ลงสนามเครื่องเล่น MP3 ล่าช้ากว่าใครอื่น ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากความกังวลว่า มาตรฐานไฟล์เพลงแบบใหม่นี้จะทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงที่จะส่งผลกับธุรกิจค่ายเพลงและคอนเทนต์ที่โซนี่มีผลประโยชน์มหาศาล

แต่เมื่อไม่มีทางเลือก ในช่วงปีหลังท่าทีของฝ่ายบริหารโซนี่ก็เปลี่ยนไป พร้อมๆ กับเริ่มมีโปรดักต์ไลน์มาตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป

ล่าสุดคือการตอบโต้ Apple ด้วยการออกโปรดักต์ Walkman ตัวใหม่มาชนกับรุ่นชัฟเฟิลของค่ายนี้ในตลาดเครื่องเล่น MP3 ราคาประหยัด ที่ 99 เหรียญฯ เหมือนกัน ความจุ 512 เมกะไบต์เหมือนกัน แต่มีจอ LCD ขนาดเล็กติดมากับเครื่องด้วย

ถึงแบรนด์จะอ่อนแรงแรงแต่ชื่อชั้นของ Sony ยังคงมีน้ำหนักในตัวอยู่ไม่น้อย หลังประกาศข่าวออกมา ส่งผลให้ หุ้นของ Apple Computer ร่วงลงทันทีกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ในการเทรดวันเดียว

แต่นักวิเคราะห์ก็ยังชี้ว่า Apple Computer และสินค้าตระกูล iPod จะยังแข็งแกร่งต่อไป เพราะก้าวนำตลาดไปไกล พร้อมกับสถานการณ์ที่ตลาดขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งในเวลานี้ ถึงแม้ส่วนแบ่งตลาดของค่าย iPod จะร่วงลงมาเหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าตลาดขยายตัวเป็น 10 เท่า Apple ก็จะยังทำกำไรมหาศาลอยู่ดี

ซึ่งเกมต่อไปคงแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะ Appleได้รอดตายแล้ว ด้วยการเปลี่ยนโพสิชั่นและเปลี่ยนโปรดักต์สำเร็จอย่างงดงาม แต่ Sony ที่จะมาทวงตำแหน่งคืนยังต้องลุ้นอยู่ ว่าตัวเองจะทำในแบบเดียวกันกับที่สตีฟ จ็อบเคยทำได้หรือไม่

ในแง่การตลาดทุกอย่างกำลังเมามันส์อย่างเหลือเชื่อ ในด้านหนึ่งผู้บริโภคกำลังขยายตัวไม่หยุดยั้ง ดีมานด์พุ่งจนล้นทะลัก ส่วนค่าย iPod กำลังไปอย่างฉุดไม่อยู่ ทาง Sony ก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียอีกแล้ว ด้านมวยรองอย่าง Creative ก็ปักหลักในตลาดมานาน ส่วนทาง Samsung และเจ้าอื่นจากจีนและไต้หวันก็คอยสอดแทรกเป็นตัวแปร พร้อมเสมอที่จะชิงนำ

ไม่นับรวมพาร์ตเนอร์ธุรกิจจำนวนมากที่ถูกลากเข้ามาร่วมวงด้วย ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตมือถือทุกค่ายหลัก ธุรกิจดาวน์โหลดเพลงบนเว็บ ค่ายเพลงต่างๆ ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์และแฟลชเมมโมรี ฯลฯ

ในอีกสองปี เราอาจจะเห็นโฉมหน้าใหม่ของผู้ชนะที่อาจเป็นรายที่เราไม่เคยคาดคิดก็ได้ ประเด็นมีอยู่ง่ายๆ ว่า ใครชนะก็จะครองทุกตลาดรวมกัน และใครแพ้ก็ยากจะอยู่รอดต่อไป แรงจูงใจทั้งหมดเกินพอที่จะเกิดสงครามอีกครั้งในหลายแนวรบ ตั้งแต่อุตสาหกรรมเพลง คอนซูเมอร์โปรดักต์ ไล่ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเดิมพันมากเกินพอสำหรับสงครามครั้งใหม่ที่กำลังก่อตัว

ศึกครั้งนี้เดิมพันสูงกว่าแค่การชิงตลาด MP3 Player เหตุเพราะมันเป็นแค่ศึกแรกในสงครามครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อชิงตลาดโปรดักต์ใหม่ ที่ยูสเซอร์หลายร้อยล้านคนทั่วโลกจะใช้ เสียบ-ทิ่ม-จิ้ม-โหลด ไฟล์นานาชนิดในแต่ละวัน ไม่ว่าเพื่องาน บันเทิง หรืออะไรก็ตามแต่

ทุกคนต้องการชิงตลาดใหม่ของ “สื่อข้อมูลดิจิตอลติดตามตัว” ที่มนุษย์สมัยใหม่ทุกคนต้องใช้ ในยุคที่โทรศัพท์มือถือ PDA Thumb Drive วิทยุ กล้องดิจิตอล กำลังจะหลอมรวมกัน เป็นโปรดักต์ใหม่เพียงโปรดักต์เดียว