Podcasting : เฉพาะรายการที่ชอบในเวลาที่เลือกเท่านั้น

ทุกคนมีรายการวิทยุและดีเจที่โปรดปราน แต่ไม่ใช่จะมีเวลาฟังเสมอไป

ในรถยนต์ ก่อนหน้ายุคมือถือครองเมือง คุณมีทางเลือกอยู่สองทาง คือเปิดวิทยุหรือเทปฟัง พอโทรศัพท์มือถือแพร่หลาย ทางเลือกที่ตามมาคือ คุยโทรศัพท์ พอถึงยุค iPod และเครื่องเล่น MP3 อื่นๆ ก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ด้วยการระบาดของ Podcasting ในที่สุด

พูดง่าย ก็คือ Podcasting (iPod+broadcasting) คือการนำเอาไฟล์เสียงดิจิตอล ซึ่งมักจะเป็น MP3 มาออนไลน์ ในรูปแบบรายการวิทยุ หรืออื่น ๆ แล้วให้ยูสเซอร์ดาวน์โหลดแบบอัตโนมัติผ่านอินเทอร์เน็ตมาลงเครื่องเล่น MP3 อย่าง iPod แล้วใช้ฟังตามสะดวกในเวลาที่ต้องการ

สิ่งที่ได้ไม่ผิดอะไรไปจาก รายการวิทยุที่ได้จากคลื่นทั่วไป แต่ได้ฟังในเวลาที่เลือก เหมือนสื่อวิทยุบวกเข้ากับแมกกาซีน แต่เดิมวิทยุเลือกฟังตามสะดวกไม่ได้ ส่วนแมกกาซีนอ่านตามสะดวกได้ แต่ไม่มีเสียงและขาดความเร้าใจ เมื่อหลอมเข้าด้วยกันก็ได้สื่อใหม่ในยุคดิจิตอลขึ้นมา โดยมีเว็บเป็นตัวกลาง

ในอเมริกามีบริการทางเลือกสำหรับสื่อทีวีอย่าง TiVo ที่เก็บรายการที่ชอบไว้ดูในยามว่าง แต่สิ่งที่จะเกิดกับสื่อวิทยุจะไปไกลกว่านั้น

แทนที่จะฟังรายการผ่านวิทยุธรรมดา หรือฟังผ่านคอมพิวเตอร์อย่างอินเทอร์เน็ต เรดิโอ Podcasting ได้เปลี่ยนโปรดักต์ที่ใช้มาเป็นเครื่องเล่น MP3 ที่พกติดตามตัวสะดวก เก็บเอาไว้ฟังรายการโปรดได้แม้แต่เวลาจ๊อกกิ้ง หรือเดินทางไปต่างจังหวัด

ในอเมริกาเริ่มมีรายการ Podcasting มากมายเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา มีตั้งแต่ การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า รายการเพลงร็อกนอกรีต ไปจนถึงการบ่นระบายอารมณ์กับสังคม (ดูตัวอย่างจาก link ท้ายเรื่อง)

เมื่อโปรดักต์เปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน ปัญหาคงไม่ได้จบอยู่แค่นั้น สื่อวิทยุแบบเดิมจะปรับตัวอย่างไรในยุคที่เครื่องเล่น MP3 ครองเมือง และผู้ฟังทุกคนเริ่มเบื่อกับรายการเปิดแผ่นตามสั่งจากค่ายเพลง เซ็งกับการเล่นเกมไร้สาระ และการยัดเยียดโฆษณาในทุก ๆ เบรก

วิทยุเป็นสื่อราคาถูกที่มีอายุมากกว่าร้อยปี และกำลังอ่อนแรงลง เคยรอดและปรับตัวมาครั้งหนึ่งหลังการแพร่หลายของทีวีและทีวีสี โดยมีตัวช่วยจากเทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ที่ย่อขนาดวิทยุลงในวิทยุติดรถยนต์ และวอล์กแมน เพราะเมื่อบ้านถูกยึดด้วยโทรทัศน์และเครื่องเล่นวิดีโอ ตลาดก็หันมาอยู่ที่ผู้ใช้รถ พนักงานออฟฟิศแทน

ไม่น่าแปลกใจที่เมืองไทยมีคลื่นเอาใจคนใช้รถมากมายอย่าง ร่วมด้วยช่วยกัน หรือ สวพ. 91 เพราะพฤติกรรมและเวลาที่ฟังถูกผูกติดกับโปรดักต์อย่างรถยนต์ หรือเป็นเรื่องปกติที่คนจัดรายการจะเอาใจพนักงานออฟฟิศเป็นพิเศษ

แต่มาวันนี้หลายคนเริ่มมองว่า สื่อวิทยุที่รัฐและเอกชนที่ได้สัมปทานจะถึงเวลาสั่นคลอน เพราะไม่สามารถผูกขาดคลื่นได้อีกต่อไป สื่อดิจิตอลอย่าง Podcasting จะเข้ามามีบทบาท เว็บ blog หรือไดอารีออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั้งเมืองไทยและเมืองนอกจะเปลี่ยนเป็นไดอารี่เสียง หรือ audio blog ที่ใครก็ตามสามารถผลิตรายการอะไรขึ้นมาก็ได้ ทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นดีเจ โดยไม่ต้องรอให้ กบว.ตีตรา

ไม่แน่ว่ารายการละครวิทยุอาจกลับมา เพลงนอกสังกัดค่ายเพลงอาจดังเปรี้ยงปร้าง เด็กมัธยมปลายอาจกลายเป็นดีเจ Podcasting ที่ดังที่สุดในประเทศไทย ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

และเมื่อถึงวันนั้น สื่อทางเลือกในอินเทอร์เน็ตอาจแซงนำขึ้นแท่นลำดับความนิยม และถัดจากนั้น เรื่องที่หลายคนอาจอยากจะรู้ต่อไปก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นกับเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมหาศาลที่สูบฉีดวงการวิทยุอยู่ในเวลานี้!

Website

www.podcasters.org
www.podcastalley.com
www.podcast.net
audio.weblogs.com
www.ipodder.org
ipodderx.com
www.podcasting-tools.com