ประสบการณ์ยาวนานของการย่างก้าวสู่ปีที่ 15 ของ “เจาะใจ” เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ของรายการโทรทัศน์คุณภาพที่ผ่านการต่อสู้กับกระแสการตลาด รายการได้สร้างภาพลักษณ์ของความน่าเชื่อถือ จนถือเป็นหนึ่งในผลพวงการผลิตรายการคุณภาพของ “JSL”
“…ใน 15 ปีที่เราอยู่มานาน เราต้องต่อสู้เพื่อให้ผู้ชมยังอยู่เราอยู่ และให้ผู้ชมรับรู้ว่าเราไม่ใช่รายการที่แก่ที่เก่า ที่อยู่บนหิ้งแต่ไม่มีใครดู เราไม่อยากเป็นรายการดีที่ไม่มีใครดู” วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม กล่าวถึงการการทำงานตลอด++++ ปีที่อยู่กับเจาะใจมา ในฐานะของโปรดิวเซอร์รายการ
15 ปีที่วีรณาเล่านี้ คือการต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง ระหว่างสมดุลของสาระกับการตลาด ซึ่งบางครั้งการตลาดหรือสปอนเซอร์ก็เข้ามามีผลต่อรายการ เธอยอมรับว่าความพยายามต่อสู้ของทีมงานมีคนทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจตลอดเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเจาะใจ สำหรับคนดูที่เป็นแฟนเจาะใจมาตลอด ปฏิกิริยาของเทปแรกที่ออกอากาศมีสูงมากมายมหาศาลทั้งในแง่บวกและลบ
แม้ว่าจะปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยตลอด แต่บนจุดยืนที่จะทำเสนอสาระบนฐานของความจริง ซึ่งแน่นอนว่าหลากหลายคำถามเกิดขึ้นตามมา เมื่อเห็นการปรับตัวครั้งล่าสุดกับ “Reality” กับความเป็นเจาะใจ
“เจาะใจ” เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 มกราคม 2534 โดยดำรง พุฒตาล และสัญญา คุณากร รับหน้าที่เป็นพิธีกร ในชื่อ “เจาะใจใส่จอ” กับรูปแบบที่ยังเป็น วาไรตี้ เกมโชว์ ในช่วงปีแรก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นทอล์กโชว์ยอดนิยม จากการทำงานร่วมกันงานของทั้งสองต่อเนื่องราว 9 ปี ซึ่งแน่นอนว่าภาวะขึ้นลงของความนิยมเกิดขึ้นโดยตลอด
จนเมื่อถึงปี 2542 ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นจุดสูดสุงของรายการสวนกระแสเศรษฐกิจ แทนที่ยอดคนดูจะน้อยลง แต่ยอดโฆษณาและเรตติ้งกลับสูงสุด เนื่องจากความร้อนแรงของรายการ ผ่านตัวแขกที่มาสัมภาษณ์อย่าง มนตร์สิทธิ์ คำสร้อย สมพงษ์ เลือดทหาร น้องอ้อม ตอนช่วงปี 42 ถึง 43 ก่อนที่ 9 ปีนับจากวันแรก เจาะใจก็เปลี่ยนมาใช้เป็นพิธีกรหญิงอย่าง นารากร ติยายน หลังจากที่ดำรง พุฒตาลถอดตัวออกจากรายการ
หลังจากนั้นเรื่อยมา ทิศทางความนิยมเริ่มเปลี่ยนไป ช่วงขาลงในช่วงต้นปี 46 รายการเคยประสบแม้กระทั่งยอดโฆษณาลดเหลือเพียงครึ่งเดียว เป็นผลมาการแข่งขันต่างๆ ในปัจจุบันที่ค่อยๆ เกิดขึ้น วีรณา เล่าให้ฟังถึงการเกิดขึ้นของรายการทอล์กโชว์แบบเดียวกัน ตลอด 5-7 วัน เช่น “รายการถึงลูกถึงคน” หรือ “ที่นี่ประเทศไทย” สร้างความนิยมในรายการเชิงสาระสูง แต่ได้สร้างความลำบากให้เจาะใจในหลายด้าน อีกทั้งเป็นการดึงกลุ่มผู้ชมและจำนวนสปอนเซอร์จำนวนหนึ่งของรายการไป
โดยเฉพาะทีมงานการหาประเด็นร้อนที่ตรงกับความสนใจของคนดูก็ยากมากขึ้น จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องมีการปรับภาพ และแนวทางครั้งใหญ่ของรายการที่ออกอากาศมานาน อีกทั้งการเพิ่มความน่าสนใจของเนื้อหา จึงเป็นความจำเป็นที่เจาะใจต้องเสริมทัพ ปรับรายการในทิศทางใหม่ที่ต่างจากเดิม ไปพร้อมๆ กับการได้รับอนุมัติเพิ่มเวลาขึ้นอีก 1 ชั่วโมง
นี่จึงเป็นหนึ่งในอีกเหตุผลที่ปรับเอาพิธีกรนำคนรุ่นใหม่อย่าง “ปิติ ภิรมย์ภักดี” เข้ามาสร้างสีสัน และดึงอายุรายการที่มีมานานให้ดูอ่อนวัยลง “เรียลลิตี้” จึงกลายเป็นประเด็นร้อนของภาพเจาะใจใหม่เข้ามา ทั้งฉาก กราฟิก และ Identity บางอย่าง การปรับโดยร่วมได้สร้างลุคใหม่ให้กับรายการ เมื่อ 7 เมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากจุดอ่อนของเจาะใจส่วนหนึ่งคือจุดยืนรายการที่มีสาระไม่เน้นคนดัง มีจำนวนวันออกอากาศน้อย การคัดเลือกผู้ร่วมรายการแบบไม่ค่อยมีชื่อเสียงแบบเดิม ทำให้คนไม่ค่อยสนใจ และความจำเป็นที่ต้องหาประเด็นที่แตกต่างจากรายการอื่น เป็นตัวจำกัดทิศทางการทำงานให้ยากขึ้น ก่อนที่ “เรียลลิตี้” จะเข้ามา…
“เราคิดว่าสิ่งที่เราอยากจะบอกมาตลอด คือสาระที่บอกโดยคนที่ไม่ค่อยมีใครจะรู้จัก คนที่มานั่งในรายการบางทีไม่มีใครรู้จักเลยว่าเขาเป็นใคร แต่มันมีเป้าหมายที่นำไปสู่สาระ ในทางกลับกัน…ที่เราเอาคนไม่ดังมาเพราะเราไม่ได้คิดว่าเขาดังไม่ดัง…แต่เครดิตของรายการทำให้คนดูเชื่อและฟังเขา ส่วนคนดังเราก็ท้าทายว่าเราทำอะไรกับคนดังได้ในแนวทางของเจาะใจ เราก็เลยดึงคนดังเข้ามาในเรียลลิตี้”
จากผลตอบรับของรายการในช่วงเริ่มต้นปี 47 ถึง 48 ค่อนข้างจะนิ่งพอสมควร แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงก็มีเสียงตอบรับจากผู้ชมกลับมามากมายมหาศาล
“เราไม่ปฏิเสธว่าเราต้องการอยู่ในกระแส เราต้องการเป็นรายการที่อยู่ในทอล์กออฟเดอะทาวน์ของผู้คน ซึ่งมันเกิดขึ้นทันทีในเช้าวันศุกร์ที่เราเปลี่ยนรูปแบบรายการเป็นเรียลลิตี้ อันนี้คือสิ่งที่เราแฮปปี้ แม้ว่าตอนนี้ทางสปอนเซอร์ถือเป็นผลบวก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่เป้าหมายที่หนึ่งของเรา มากไปกว่าเสียงตอบรับของผู้ชม”
ในแง่การทำงานเองเรียลลิตี้ก็ทำรูปแบบการทำงานส่วนหนึ่งของเจาะใจเปลี่ยนไป “เราก็โตมาจากการที่ทำทอล์กโชว์ ต้องมีการเซตทีมงานขึ้นมาอีกทีม เพราะทีมงานที่ทำทอล์กโชว์ ถนัดในการเจาะลึกขุดคุ้ยข้อมูลของแขก และประเด็นทางสังคมและสถานการณ์ข่าว แต่ทีมเรียลลิตี้เนี่ยต้องมีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทำ มีความสามารถในการเล่าเรื่องด้วยภาพ ใช้ดนตรีประกอบ มีลูกเล่นในการนำเสนอ เป็นทักษะคนละอย่างกับประเภททอล์กโชว์เลย”
สิ่งที่ยากสำหรับเรียลลิตี้คือ การออกไปเจอกับสถานการณ์ที่ต้องปรับเปลี่ยนเฉพาะหน้า ความยากในการควบคุมสถานการณ์มากกว่าการที่มีตากล้องหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือครบครัน ซึ่งยากกว่าในเรื่องของการจัดการและประเด็นพูดคุย
“ตัวอย่างของคุณชายอานันท์ทวีป เรามีโจทย์ให้เขารู้คร่าวๆ ว่า เขาจะไปอยู่บ้านใครในแต่ละวัน วันหนึ่งเขาจะต้องไปอยู่บ้านของคุณลุงคนหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำ มันเป็นบ้านอยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งเราคิดไว้ก่อนว่าเขาคงจะลำบาก แล้วอยู่ไปอย่างเป็นทุกข์ แล้วตั้งความหวังไว้อย่างนั้น แต่ว่าเขาไปอยู่แล้วเขาสุข มันไม่ได้สุขกายแต่สุขใจ มันสงบ มีเด็กๆ มีความน่ารักที่เราไม่เซตไม่เตรียม เขามาเล่นกับชาย มาสร้างสีสันให้กับรายการ มันก็เป็นอะไรที่เราคว้าเขามาอยู่ในรายการโดยที่เราไม่ตั้งใจ” ศิษฎา ธรรมวณิชย์ ครีเอทีฟรายการเล่าให้
ความสำเร็จของตอนที่ออกอากาศไปนี้ มีคนติดต่อเข้ามาขอซื้อเทปรายการมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนสำหรับการทำงานใน JSL จนต้องผลิตออกมาเพื่อให้กับแฟนรายการ โดยกำไรก็นำไปใช้ในการกุศล
วีรณาให้ความเห็นว่า เรียลลิตี้ถือเป็นแค่เพียงรูปแบบรายการแบบหนึ่งเท่านั้น ที่มีพื้นฐานมาจากการทำงานแบบสารคดี แต่มีส่วนผสมหลักของความเป็นดราม่า ซึ่งความนิยมของคนดูเอง ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นกระแสหลักของผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายเจ้าในตอนนี้
“โลกในปัจจุบันนี้ คนดูก็โตไปพร้อมกับคนทำ คนถึงจุดที่เขาต้องการดูสิ่งที่มันเป็นชีวิตจริงที่ทำให้เขาหัวเราะได้ ร้องไห้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนบทละครเสมอไป ถ้าถามว่าจะทำเรียลลิตี้มันมีความเป็นดราม่าเข้าไปไหม มันก็เข้าไปอย่างมีความเป็นธรรมชาติ อย่างปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนจากการประกาศข่าวมาเป็นการเล่าข่าวให้ฟัง ก็เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วยนะ แทนที่เราจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ เราก็มานั่งฟังคนเล่าในหนังสือพิมพ์ให้ฟัง แล้วเกิดอารมณ์ร่วมมันก็มาพร้อมๆ กัน”
“เรายอมรับว่าเนื่องจากรายการโทรทัศน์ที่เราทำอยู่ตอนนี้ ทิศทางมันเป็นไปเพื่อความบันเทิงมากกว่าสาระ แต่เรายอมไม่ได้ที่จะเป็นไปเพื่อความบันเทิงโดยไม่มีสาระ เจาะใจเดิมที่มันมีเป้าหมายเพื่อสาระ เรียลลิตี้มันก็มีเป้าหมายเพื่อสาระเหมือนกัน ในทุกๆ ตอนเราคิดกันอย่างหนักว่า สุดท้ายแล้ว ผู้ชมจะได้อะไร ในระหว่างทางที่มีความสนุกสนาน”
“มันไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะดึงกระแสที่ฮิตแล้วเอารูปแบบนั้นขึ้นมาทำ เพียงแต่ว่าตัวเนื้อหาต่างหากที่เราให้ความสำคัญ แม้รูปแบบเรียลลิตี้ โดยคำนึงว่าเนื้อหามันยังไง จริงๆ แล้วเราก็เห็นเหมือนกันว่า เรียลลิตี้มันก็มีอยู่พอสมควรในตอนนี้ เราอาจจะมีภาพเรื่องการไม่ตามกระแส ที่นี้พอเรามาทำเรียลลิตี้ เราถูกวิจารณ์ว่าตามกระแส ก็เลยคิดว่าเราก็ไม่อยากโดนตรงนั้น แต่เราก็พบว่าเราก็เป็นเรียลลิตี้ แล้วมันเป็นความจริง ซึ่งเรายืนยันเสนอความจริงมาตลอด ซึ่งมันเป็นแค่รูปแบบไม่ใช่แก่น”
แม้ว่าผลตอบรับที่มีมากมายท่วมท้น รูปแบบการทำงานแบบเรียลลิตี้ในวาระปีที่เจาะใจครบ 15 ขวบจะถูกใช้อย่างสัมฤทธิผล เธอเล่าว่าก็ไม่แน่ว่าหมด 15 ปี อาจยังตอบไม่ได้ว่าเรียลลิตี้คนดังคนที่ 16 ถึง 20 จะมีให้แฟนเจาะใจได้ชมกัน แต่คำตอบของคำถามน่าจะมีในใจของคนงานทำงานในเจาะใจอยู่แล้ว
“15 ปี อยู่มาแล้วตั้ง 15 ปี นานเนอะ… (หัวเราะ)” วีรณาถามผม