“Gossip Star นิตยสารบันเทิงฉบับปฐมฤกษ์ที่คุณถืออยู่ในมือ เป็นการแหวกแนววงการหนังสือบ้านเรา ที่ผม และทีมงานจะนำเสนอล้วงลึกเรื่องราวของวงการมายามาให้คุณผู้อ่านได้รู้ถึงแก่นแท้ความจริง เนื้อหาในเล่มพูดได้เต็มปากว่า… ครบทุกรส สด…สด…ซิง…ซิง… ข้อความข้างต้นเป็นข้อเขียนหน้าเปิดในบทบรรณาธิการของ ศิริ เหลืองสวัสดิ์ ในฐานะบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Gossip Star นิตยสารร้อนที่มีอยู่จะครบ 2 ปี
ชื่อ “แก้ว พรีเมียร์” ที่รู้จักจากวงการบันเทิงมาแทบตลอดชีวิต ทั้งการทำหนังสือและการเป็นผู้จัดการส่วนตัวนักแสดงชื่อดังหลายคน เขายอมรับว่าการแข่งขันในธุรกิจสื่อบันเทิงทุกวันนี้มีความเข้มข้นสูง และจุดยืนที่แตกต่างนั้นนำมาสู่ความสำเร็จของเขา
“Gossip Star” เป็นสื่อในเครือบริษัทโมโนกรุ๊ป (เครือเดียวกับบริษัทผลิตภาพยนตร์โมโนฟิล์ม) กอสซิปสตาร์ ฉบับแรกวางแผงเมื่อเดือนตุลาคม 2003 ในราคา 30 บาท ก่อนที่จะปรับฐานราคาไปพร้อมๆ กับความสำเร็จของนิตยสารบันเทิงแนวใหม่ของคนไทย ที่เดินเรื่องด้วยภาพเป็นสำคัญ แบบแนว “Paparazzi” ที่คนไทยพูดถึง หัวหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหัวหอกที่ทำให้เกิดกระแสร้อนต่อวงการสื่อบันเทิงในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก
“ถ้าในต่างประเทศ มันเป็นแนวของปาปาราสซี่… แต่ถ้าถามว่ามันแตกต่างกันไหม ก็ไม่แตกต่าง เรานำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ปาปาราสซี่ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าปาปาราสซี่จริงๆ จะเป็นช่างภาพอิสระที่ไปแอบถ่ายรูปคนดังแล้วเอารูปเขาไปขาย แต่ของผม ทีมงานช่างภาพมีสังกัดอยู่ในบริษัท มีเงินเดือน และภาพที่ผมให้ถ่ายก็คือเน้นที่มันเป็นธรรมชาติ เราไม่ได้ไปแอบถ่ายเหมือนในต่างประเทศเขา… ผมยอมรับว่าหนังสือบันเทิงในประเทศตอนนี้ หลังจากที่เราจุดกระแสไป ก็มีที่กำลังทำแนวนี้ตามกันมา แล้วก็ล้ำหน้าไปกว่าผมด้วย…” ศิริกล่าว
“การทำงานผมมีลิมิตของผม เราไม่ได้ไปแอบถ่าย ดักถ่ายเขาหน้าบ้าน หรือไปแอบถ่ายตอนที่เป็นส่วนตัวของเขามากๆ ซึ่งผมทำผมได้แต่ผมไม่ทำ”
ศิริเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังการทำงานของนิตยสารเล่มนี้ เนื่องจากการเริ่มต้นที่ต้องการขายจุดยืนที่แตกต่างในวงการสื่อบันเทิง จนมาเป็นไอเดียของการขาย “ความจริง” ผ่านภาพถ่าย นอกเหนือไปจาการหาข่าวด้วยการสัมภาษณ์แบบเดิม เขายอมรับว่าการทำงานกับทีมงานในเบื้องต้นต้องสร้างความเข้าใจกับทีมงานของตัวเอง เนื่องจากความสัมพันธ์แบบเดิมระหว่างนักข่าวกับคนที่มีอาชีพในวงการเริ่มเปลี่ยนไป
“ไม่ว่าจะเป็นทางกองนักข่าวหรือช่างภาพ เราต้องคุยกับเขาก่อนว่าทำได้ไหม บางคนก็เหมือนกับว่าเขาเคยสนิทกับดารา เจอดาราบางคนบ่นหน่อย เขาก็ปฏิเสธไม่ทำ” ซึ่งถ้าหากลองสังเกตชื่อที่ใช้แนะนำกองบรรณธิการในฉบับแรกที่เกือบทุกคนจะใช้นามแฝง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อจริงในภายหลัง ที่ศิริว่าเป็นการสร้างความเชื่อถือให้กับวิธีการทำงานมากขึ้น รวมไปถึงการแนะนำตัวผู้ถ่ายภาพ การมีนามบัตรจากนิตยสาร ที่ไม่ได้ทำงานด้วยการแอบแฝง
“ผมบอกตรงๆ ว่า ไม่ใช่ว่าทำตรงนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะไปรังแกใคร นโยบายเราไม่ใช่เป็นแบบนั้น อย่างถ้ารูปที่ทำให้ดาราเสียหายเราไม่ทำ แต่ว่าถ้าเกิดเขาอยู่ในที่สาธารณะ แล้วประชาชนทุกคนสามารถมองเห็นว่าเขาทำอะไรกันอยู่ อันนี้เรานำเสนอภาพได้ …คอนเซ็ปต์ของผมในเรื่องภาพ ตั้งแต่เปิดเล่มหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีดาราคนไหนฟ้องร้องเกี่ยวกับภาพที่เรานำเสนอในเล่ม ซึ่งยอมรับว่ามีกรณีอื่นในเรื่องของการพาดหัวข่าวแรง”
“ผมมีความคิดว่า อยู่วงการมา 20 ปี หนังสือบันเทิงมันก็มีอยู่แค่นี้เองไม่หนีไปไหน ผมคิดว่าประชาชนหรือคนอ่านอยากจะได้อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างในวงการบันเทิง ภาพของดาราที่ออกมาในวงการบันเทิงที่จะให้ประชาชนดูเนี่ย มันน่าจะเป็นภาพที่เป็นธรรมชาติมากกว่า เห็นได้ทั่วไป จะไปออกงานหรือจะไปไหนที่มันเป็นธรรมชาติมากกว่าจะเป็นมุมที่มาดูสวยงามอย่างเดียว มันก็เลยเกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา”
ส่วนหนึ่งการเปิดตัวนิตยสารในช่วงแรกๆ ที่ให้รางวัลกับภาพถ่ายที่ส่งมาจากทางบ้าน เป็นการเริ่มจุดกระแสทางหนึ่งในคนในวงการสนใจ ที่ให้ภาพปก 7,000 บาทกับ 3,000 บาทสำหรับในเล่ม ซึ่งสร้างกระแสร้อนไปทั่ววงการ เนื่องจากพฤติกรรมส่วนตัวของเขาจะสามารถถูกแอบถ่ายได้ทุกที่ แม้แต่จากชาวบ้านธรรมดากับโทรศัพท์มือถือธรรมดา ก็เป็นอีกหนึ่งกระแสร้อนที่พูดถึง
“ส่วนใหญ่มันไม่ใช่ภาพที่เราต้องการ ยอมรับว่า เคยมีส่งมาแบบภาพส่วนตัวของดารามากๆ มีภาพแบบอยู่ในห้องกันสองคน ที่ส่วนตัวมากๆ เลย แต่ว่าเอาออกไป ทุกคนก็ต้องตกใจ แต่ผมไม่เอาออกไป อย่างภาพบางที่ภาพที่พูดกันมากในตอนนี้ ผมก็ได้มาตั้งนานแล้วแต่ผมก็ไม่ได้เอาออกไป ทั้งคุณภาพของภาพที่ถ่ายไม่สามารถมาลงในหนังสือได้ และเรื่องราวในภาพไม่เหมาะสมหรือไม่มีประเด็น อย่างภาพที่ผมซื้อ เช่น ภาพของโดโด้ที่เขาไปเที่ยวกับลูกเขาที่ชายทะเลที่น่ารัก คนทางบ้านเขาส่งมาให้ เป็นภาพครอบครัวที่มีความสุข ผมว่าอย่างนี้มันก็น่าเอาลง”
ปรากฏการณ์ความแรงของนิตยสารบันเทิงเล่มนี้ นอกจากจะเป็นตัวจุดกระแสในเกิดนิตยสารเล่มอื่นที่ตามมาในแง่มุมเดียวกันอีก 5-6 ฉบับ จากเดิมที่เคยวางตัวเป็นนิตยสารรายเดือน ก่อนที่จะถูกปรับเป็นรายปักษ์ในเดือน+++++และในปีที่ 2 ปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 บาทเป็น 35 บาท รวมถึงจำนวนยอดพิมพ์อีกหลายหมื่นเล่ม นอกจากนั้นยังมีรายการโทรทัศน์ในชื่อเดียวกันที่ออกอากาศผ่านช่อง UBC inside
กระแสนี้ส่งผลไม่เว้นแม้แต่นิตยสารบันเทิงเจ้าเดิม ก็ยังปรับให้มีเชกชั่นด้านนี้เข้ามาอยู่ในเล่มอย่าง+++++ ความสำเร็จของนิตยสารเล่มนี้เมื่อมองที่ยอดพิมพ์ราว 300,000 ต่อเดือน จำนวนยอดโฆษณาที่เต็มเล่ม ซึ่งถือว่า ที่จับกลุ่มระดับกว้าง ที่ชอบเรื่องเมาท์ อายุ 15 ปีขึ้นไป เช่นกลุ่มแม่บ้าน นักศึกษา และคนทำงานระดับกลาง
“อย่างดาราบางคน วันนี้ออกทีวีบอกว่า “พี่ผมยังไม่มีแฟนเลยยังโสดอยู่” พูดออกทีวีวันนี้ พอพรุ่งนี้ช่างภาพผมเห็นว่าเดินจูงมือแฟนเฉยเลย แล้วก็ถ่ายภาพออกมายืนยันให้ประชาชนเห็นเลย มันยืนยันอยู่แล้ว ถึงคุณจะปฏิเสธอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ออก”
ศิริเล่าให้เราฟังว่า เขามั่นใจพอสมควรเมื่อจุดยืนที่เขาทำนั้นแตกต่าง และยังไม่หนังสือเล่มไหนทำแนวนี้มาก่อน “มันกลายเป็นกระแสไปแล้ว ซึ่งทั้งวงการบันเทิงหรือว่าคนอ่านเนี่ยเขาบอกว่า “มันแรง” แล้วนับวันก็จะยิ่งแรงขึ้น …ซึ่งหากมองว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์หรือเปล่า ก็บอกได้ว่าตั้งแต่ผมทำหนังสือบันเทิงมา ก็เล่มนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ผมประสบความสำเร็จสูงสุดกับการทำหนังสือมา”
“ตอนนี้คนอ่าน (คนดู) ก็อยากจะดูภาพที่มันเป็นธรรมชาติ ตอนนี้ดาราเวลาที่เขาทำงานกัน เขาก็แต่งตัวกันตามบท ส่วนนอกเหนือจากงานแล้ว คนอ่านก็อยากจะรู้ว่าดาราคนโปรดแต่งตัวกันยังไง แต่งหน้ากันอย่างไร ไปไหนกับใคร ไปกับแฟน หรือไปกับครอบครัวหรือไปคนเดียว เขาก็อยากจะรู้เรื่องราวของดาราคนที่เขาชอบ”
ธุรกิจการมอง “ความจริง” เป็นสินค้าของวงการบันเทิงนั้น เป็นมุมมองใหม่ที่ทุกคนก็อยากเสพ แม้แต่ “Reality” ของเหล่านักแสดงเอง