Media Marketing

หากมองในแง่การตลาดของผลิตภัณฑ์แล้ว ภาพที่ปรากฏบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 47 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบการณ์สำเร็จในระดับหนึ่ง ที่สามารถทำให้ชื่อของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ กลายเป็นหัวข้อในการถกเถียงกันในวงกว้าง

จากข้อเท็จจริง ซึ่งกลุ่มคนร้ายที่เป็นวัยรุ่น ถือมีดสปาต้าเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ แล้วถูกยิงตาย ถูกตัดต่อจากมีดสปาต้าให้ดูคล้ายเป็นกริช ซึ่งเป็นอาวุธมีความสูงส่งมากในวัฒนธรรมมะลายู ถือเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ให้ปัญหาขยายวงกว้าง จนกลายเป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา

สุดท้ายสมาคมผู้สื่อข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยทำดีที่สุด ด้วยแถลงการณ์

“สำหรับกรณีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับลง วันที่ 29 เม.ย.47 ซึ่งได้ลงภาพข่าวภาพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้สอบถามไปยัง น.ส.ดวงกมล โชตะนา บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทำให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ภาพดังกล่าวมีความผิดพลาดในกระบวนการผลิต เมื่อทางกองบรรณาธิการตรวจสอบพบก็ได้ดำเนินการแก้ไข โดยลงภาพที่ตรงกับข้อเท็จจริง และขออภัยต่อผู้อ่านและสังคมอย่างทันท่วงที ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 เม.ย.47 เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของสังคม เพราะภาพที่เสนอออกไปนั้น มิได้เป็นเจตนาของกองบรรณาธิการแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้กำชับว่าไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ อีกต่อไป”

ต่อมา “กรุงเทพธุรกิจ” ต้องมาขออภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นว่า เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค

เรื่องนี้คล้ายๆ กับกรณี BrandAge

เมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา วงการสนทนาทางอินเทอร์เน็ต (www.pantip.com) ได้ถกเรื่องปก BrandAge ฉบับเดือนเมษายน ซึ่งเหมือนกับปก WIRED Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์อย่างมาก ทั้งๆ ที่ BrandAge ได้กล่าวถึงเรื่องการทำปกฉบับนั้นมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน