พฤติกรรมคนกรุงเมื่อเผชิญภาวะน้ำมันแพง

สภาวะน้ำมันแพง ส่งผลกระทบถึงทุกคนในสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม มนุษย์เงินเดือนทุกคนต่างต้องยอมรับสภาพกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายรับหรือเงินเดือนยังเท่าเดิม พฤติกรรมที่เคยมีมาคาดว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงไป แต่จะเป็นในทิศทางใดบ้างทางบริษัท นาโน เซิร์ช จำกัด ได้ทำการสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในขณะนี้ โดยทำการศึกษากับกลุ่มคนที่มีอายุ 25 – 45 ปี หรือผู้ที่มีรายได้ประจำเป็นผู้ที่ทำงานแล้ว ในชุมชนกลางใจเมืองของกรุงเทพมหานคร และเป็นกลุ่มคนโดยส่วนใหญ่พื้นที่ของกรุงเทพมหานครเช่นกัน กำหนดสัดส่วนเท่ากันระหว่างเพศชายและเพศหญิง กลุ่มที่ศึกษามีอายุในช่วง 25- 45 ปี ประกอบพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานด้านบุคคล การตลาด บัญชีการเงิน พนักงานขาย เป็นต้น โดยแบ่งเป็น

รายได้ ระหว่าง15,000 – 20,000 บาท 38.0%
รายได้ไม่เกิน 15,000 บาท 35.0%
รายได้มากกว่า 20,000 บาท 27.0%
สถานภาพโสด 50.5%
สถานภาพสมรสอยู่ด้วยกัน 44.0%
สมรสแยกกันอยู่ 3.5%

“ผู้บริโภคจะเอาเงินออกมาใช้หรือไม่ หากมีวิธีการออมที่ไม่ถูกวิธี จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่ เป็นสิ่งที่พึงระวัง สถาบันการเงิน ธนาคารและธุรกิจประกันภัย พึงให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น” ภูษิต เพ็ญศิริ ผู้ทำการวิจัยชิ้นนี้ บอก

ผลวิจัยส่วนหนึ่งพบว่า พฤติกรรมการเลือกลงทุนทำธุรกิจ ในช่วงปี 2548 นี้ กลุ่มผู้บริโภค 85.5% ไม่คิดที่จะลงทุนทำธุรกิจ ส่วน 14.5% คิดว่าจะทำธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่คิดว่าจะทำ คือ ร้านอาหาร 27.6% “ไม่ว่าจะทำวิจัยกี่รอบต่อกี่รอบ พบว่าธุรกิจร้านอาหารยังคงมาแรงเป็นอันดับ 1 เพราะตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานที่ว่า เศรษฐกิจไม่ดีอย่างไรคนก็ยังต้องบริโภค” รองลงมาคือ ธุรกิจสปา และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ในสัดส่วนเท่ากันคือ 10.3% “ธุรกิจที่จับกลุ่มวัยรุ่นไม่เคยสะดุด แม้เมื่อครั้งวิกฤตปี 2540 เพราะกลุ่มวัยรุ่นโดยมากไม่สะทกสะท้านต่อสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก เนื่องจากยังคงมีรายได้จากพ่อแม่อยู่ ขณะที่ธุรกิจสปาจะฉายแววเปลี่ยนทิศทางจับกลุ่มนักธุรกิจจากต่างชาติ ที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น”

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากที่สุดในขณะนี้ ถึงร้อยละ 47.5

ค่าใช้จ่ายที่มีผลกระทบกับชีวิตมากที่สุด %

ค่าเดินทาง (ค่าน้ำมัน / ค่ารถโดยสาร / ค่าที่จอดรถ ฯลฯ) 47.5
ค่าอาหารในชีวิตประจำวัน 32.5
สาธารณูปโภค (ค่าน้ำ / ค่าไฟ) 10.5
อยู่อาศัย (ค่าเช่า / ค่าผ่อนชำระ) 3.5
ค่าผ่อนชำระรถยนต์ / รถมอเตอร์ไซค์ 3.5
ของใช้ประจำวัน (สบู่ / ยาสีฟัน ฯลฯ) 2
ค่าผ่อนชำระสินค้า / บริการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า / มือถือ 0.5

ค่าใช้จ่ายที่คิดจะปรับลด ใช้จ่ายให้น้อยลง หรือตัดออกในแต่ละเดือน %

ความบันเทิง (คอนเสิร์ต / ละคร/ฟังเพลง / ดูภาพยนตร์ / ซื้อ-เช่า เทป ซีดี ดีวีดี วีซีดี เป็นต้น) 43.5
เสื้อผ้า / เครื่องแต่งกาย / เครื่องประดับ/เครื่องสำอาง 33.5
ค่าเดินทาง (ค่าน้ำมัน / ค่ารถโดยสาร / ค่าที่จอดรถฯลฯ) 5.5
ค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ / บ้าน 4.5
หนังสือ / นิตยสาร / สื่อสิ่งพิมพ์ 4.5
ค่าอาหารในชีวิตประจำวัน 3.5
สาธารณูปโภค (ค่าน้ำ / ค่าไฟ) 3.0
อยู่อาศัย (ค่าเช่า / ค่าผ่อนชำระ) 1.0
เงินออม เช่น ฝากธนาคาร / หยอดกระปุก 1.0

5 อันดับของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคเห็นว่าไม่ควรขึ้นราคานั้น “ค่าอาหาร” ยังคงเป็นอันดับแรก ถึง 28.2% ที่ผู้บริโภคเห็นว่ายังไม่ควรขึ้นราคา รองลงคือ ค่าน้ำมัน 18.6% และค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ 17.6%

วิธีการในการกู้ยืมเงิน %

– บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคาร 27.0
– บริษัทปล่อยสินเชื่อ เช่น อิออน อีซี่บาย ฯ 22.0
– บัตรเครดิตที่ออกโดยห้างสรรพสินค้า / ร้านค้า 14.0
– บริษัทเงินทุน / ลิสซิ่ง 12.0
– ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ 9.0
– ธนาคารของรัฐ 6.0
– หน่วยงานของตัวเอง 4.0
– โรงรับจำนำ 3.0
– ร้านทอง 3.0

“รูปแบบการใช้เงินจะเปลี่ยนแปลงไป จะมีการดึงเอาเงินในอนาคตจากบัตรเครดิตมาใช้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคำทำงานระดับ B ลงมา และส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออม จากเงินฝากเป็นการซื้อทองเพื่อเก็งกำไร ทั้งนี้จะมีการพิถีพิถันในการใช้เงินมากขึ้น”

“คนเราได้รับความเดือดร้อนจากเงินเดือนไม่พอใช้ เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากสภาวะน้ำมันแพง สินค้าอุปโภคบริโภคทยอยปรับราคาสูงขึ้น หรือไม่ก็ลดปริมาณต่อหน่วยลงหากขายในราคาเดิม ผู้บริโภคจะมีการวิธีการในการจัดการชีวิตอย่างไร เราพบว่า กลุ่มผู้บริโภคมักจะคิดถึงการกู้ยืมเป็นอันดับแรก ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงซึ่งมีวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยเพศชายจะมีสัดส่วนในการกู้ยืมเงินมากกว่าเพศหญิง และในขณะเดียวกัน เพศหญิงมักจะคิดถึงเงินออมและเงินเดือนในเดือนที่มีการซื้อ มากกว่าเพศชาย นั้นคือ เพศหญิงมีการวางแผนและคิดอย่างรอบคอบ ในการใช้เงินมากกว่าเพศชาย หรือมีการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก”

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป นักการตลาดจะใช้วิธีการแบบเดิมๆ ในการลดแลกแจกแถมเสมือนหนึ่งผู้บริโภคไร้สมองในการใคร่ครวญไม่ได้อีกต่อไป นับเป็นโอกาสพิสูจน์ฝีมือของนักการตลาดว่าใครจะทำให้ยอดขายของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นั่นหมายความว่าใครจะสามารถคิดได้แตกต่างและโดยใจผู้บริโภคที่มีสติในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

Profile

บริษัท นาโน เซิร์ช จำกัด เป็นบริษัทที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารงานวิจัยที่หลากหลาย โดยมี ภูษิต เพ็ญศิริ เป็นกรรมการบริหาร จบปริญญาตรี ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ปัจจุบันยังเป็นกรรมการบริหารบริษัท สินธุ ครีเอชั่น จำกัด บริษัท เกรทสตาร์ มัลติเทรด จำกัด ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจมิวเทค คณะบริหารธุรกิจ ม.เทคโนโลยีมหานคร นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษด้านการสื่อสารการตลาด การรณรงค์งานโฆษณามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร เซนต์จอห์นและรังสิต อีกทั้งยังเป็นวิทยากรรับเชิญทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เครือปูนซิเมนต์ไทย ไทยประกันชีวิต และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น