ปลายเดือนนี้ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กเมืองไทยจะได้ต้อนรับรถยนต์ฮอนด้าซีวิครุ่นล่าสุด เป็นรถยนต์โมเดลใหม่และเปิดตัวภายหลังตลาดอเมริกา และยุโรปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยที่เห็นคือโมเดลที่เปิดตัวและเริ่มขายในสหรัฐอเมริกาไปแล้วเมื่อราวๆ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้
โดยในอเมริกานั้น ฮอนด้าซีวิค ในรุ่น 4 ประตูมีความยาว 176.7 นิ้ว (4,488 มิลลิเมตร) กว้าง 68.9 นิ้ว (1,750มิลลิเมตร) สูง 56.5 นิ้ว (1,435 มิลลิเมตร) และระยะฐานล้อ 106.3 นิ้ว (2,700 มิลลิเมตร)
ส่วนรุ่นคูเป้ 2 ประตู มีความยาว 174.8 นิ้ว (4,440 มิลลิเมตร) กว้าง 68.9 นิ้ว (1,750 มิลลิเมตร) สูง 53.5 นิ้ว (1,360 มิลลิเมตร) และระยะฐานล้อ 104.3 นิ้ว (2,650 มิลลิเมตร) เครื่องยนต์ที่ทำตลาดในรุ่นซีดานเปิดตัวมาแค่บล็อกเดียวคือ 4 สูบ i-VTEC บล็อกใหม่ 1800 ซีซี 140 แรงม้า ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.6 กก.-ม. ที่ 4,300รอบ/นาที
ส่วนรุ่นคูเป้ นอกจากเครื่องยนต์ 4 สูบ 1800 ซีซี แล้ว ก็มีรุ่นตัวแรงรหัส Si บล็อก 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 2000 ซีซี i-VTEC 197 แรงม้า ที่ 7,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.2 กก.-ม. ที่ 6,200 รอบ/นาที
สำหรับในเมืองไทยนั้น แน่นอนว่ารุ่นแรกที่ทำตลาดจะต้องเป็นรุ่น 4 ประตูเป็นหลัก ขณะที่รุ่นคูเป้นั้นอาจจะไม่นำมาทำตลาดในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยจะมีทำตลาดเพียงรุ่นเดียวคือเครื่องยนต์ขนาด 1800 ซีซี ขณะที่ซีวิครุ่นที่ขายอยู่ก่อนหน้านี้ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1700 ซีซี
การเปิดตัวฮอนด้าซีวิคใหม่นี้ แน่นอนผู้ที่ได้ผลกระทบหลักคงหนีไม่พ้นค่ายใหญ่อย่างโตโยต้า
โดยในรุ่นอัลติสนั้นจะต้องใช้โมเดลปัจจุบันห้ำหั่นกับซีวิคใหม่ไปพลางๆ ก่อนที่จะมีการโมเดลเชนจ์อีกครั้งราวๆ ปลายปี 2549 ซึ่งก็เป็นข้อเสียเปรียบที่ทางโตโยต้าคงต้องยอมรับ
ส่วนว่าจะต้านทางความแรงของซีวิคใหม่ได้มากน้อยเพียงใดก็น่าจะขึ้นอยู่กับโตโยต้าจะใช้กลยุทธ์ใดออกมาเล่น เพราะอัลติสมีทำตลาดถึง 2 รุ่นคือ รุ่น1600 ซีซี และ1800 ซีซี ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันในขณะนี้ ช่วงที่ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และพฤติกรรมการซื้อรถยนต์ที่นิยมหันมาใช้รถเครื่องยนต์ขนาดเล็กมากขึ้น อัลติส 1600 ซีซี ก็น่าจะพอต้านทางพลังของซีวิคได้บ้าง
ส่วนค่ายฟอร์ด และมาสด้า ที่เพิ่งเปิดตัวฟอร์ด โฟกัส และมาสด้า 3 ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็อาจได้รับแรงกระแทกจากซีวิคใหม่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องความแข็งแกร่งของแบรนด์ เครือข่าย ศูนย์บริการ ที่เหนือกว่าของฮอนด้า และยิ่งเมื่อต้องเจอกับความสดใหม่ของซีวิค ทั้ง 2 แบรนด์ที่ว่านี้ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น โดยเฉพาะกับมาสด้า ซึ่งมีปัญหาในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มยอดขายสู้คู่แข่งได้ นอกจากนี้ยังปัญหาการส่งมอบรถล่าช้า ที่มาจากสาเหตุเดียวกัน
ขณะที่ฟอร์ด โฟกัส เองก็ต้องถือว่าชนกับซีวิคตรงๆ เพราะรุ่นเล็กสุดของโฟกัส ก็ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1800
ซีซี เช่นกัน ข้อเสียเปรียบของโฟกัส คือ ไม่ใช่รถใหม่ถอดด้ามเหมือนเช่นซีวิค
โฟกัสเปิดตัวในต่างประเทศไปตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าโฟกัสเปิดตัวในไทยช้าเกินไป
แม้ว่าฝ่ายการตลาดของฟอร์ด ประเทศไทยจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้กับโฟกัส ในสไตล์ที่แตกต่างโดยใช้เรื่องแฟชั่นเป็นตัวนำ
แต่อย่าลืมว่าผลการวิจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจในการเลือกซื้อรถยนต์รูปทรงรูปลักษณ์เป็นปัจจัยในการตัดสินใจลำดับต้นๆ รวมถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ และศูนย์บริการ ซึ่ง 2 ประเด็นหลังทำให้สถานการณ์ของฟอร์ดตกเป็นรองไม่น้อยทีเดียว