“ทำไม Apple เพิ่งคิดจะมี MD คนแรกในไทย” หลังจากเข้ามาตั้งสำนักงานสร้างสีสันตลาดในตระกูลแม็คมากว่า 5 ปี ภายใต้การบริหารงานของ “ภาคภูมิ เสตะรัต” ผู้จัดการทั่วไปของ Apple คนเดียว แต่วันนี้ Apple ตัดสินใจเพิ่มตำแหน่งผู้บริหารในไทย โดยเลือก “เทริดศักดิ์ สกุลยง” เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่บริหารตลาดในไทยดีเดย์ครึ่งปีหลังนี้
การเปิดตัว MD ใหญ่ของ Apple ในวันนั้น ใช้จังหวะเดียวกับการเปิดตัวสินค้าใหม่ iPod nano ไปด้วย โดยเลือกร้านอาหารหรูชั้น 67 อาคารสเตท ทาวเวอร์ ย่านสีลมบางรัก เปิดตัวผู้บริหารใหม่อย่างเป็นทางการในบ่ายวันที่ 20 กันยายน 2548 ด้วยบรรยากาศเรียบหรูแต่ดูดีเหมือนจะสื่อถึงบุคลิกของ Apple ที่วางโพสิชันนิ่งที่เป็นสินค้าค่อนข้างมีระดับอย่างชัดเจน
แม้บุคลิก MD ใหม่จะเปลี่ยนไป ด้วยการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลการตลาดล่วงหน้า ตัวเลขสำคัญๆ รวมถึงกลยุทธ์ที่จะใช้ในการลีดตลาด ตรงกับวัฒนธรรม Apple นัยจะถูกเทรนนิ่งมาดี เพราะก่อนการเปิดตัวได้เข้ามารับตำแหน่งล่วงหน้าแล้ว 1 เดือน
แต่ Apple เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เป็นตัวตอบโจทย์ เพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ตลาดแทน สังเกตได้จากยอดขายเครื่องเล่นเพลง iPod ในไตรมาส 3 (เม.ย.-มิ.ย.) ปีนี้มียอดรวมทั่วโลกถึง 6.3 ล้านเครื่อง
“Apple เห็นศักยภาพตลาดประเทศไทยว่าจะเติบโตได้อีกมาก ทั้งในตลาดระดับคอนซูเมอร์ และซิสเต็มส์ (องค์กร) จึงเลือกผมให้เข้ามาดูแลตลาดภาพรวม และมีแผนจะเพิ่มพนักงานอีก 5 ตำแหน่ง โดยจะมี GM เข้ามาดูแลตลาดเฉพาะๆ ไป ขึ้นตรงกับผม และผมจะประสานงานตรงไปยังสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์”
หากพิจารณาประสบการณ์ที่ “เทริดศักดิ์” เคยดูแลตลาดพีซีให้ยักษ์สีฟ้าอย่าง IBM และความชำนาญด้านการดูแลช่องทางจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ให้ Oracle น่าจะอธิบายเกมรุกตลาดของ Apple ในปีนี้ได้ชัดเจน
ว่าโจทย์ในปีนี้ มุ่งมั่นที่ต้องการขยายตลาด และเพิ่มช่องชาแนลสินค้าคอนซูเมอร์ให้แมสมากขึ้น ทั้งสินค้าตระกูล iBook และ Mac เพราะที่ผ่านมา Apple ประสบสำเร็จสูงสุดเฉพาะตลาด iPod เท่านั้น เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มซิสเต็มส์ที่ชะลอตัวลง หลังจากเจ้าตลาดพีซี Windows บุกตลาดอย่างหนักในช่วง 1- 2 ปีมานี้
ที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญให้ Apple เลือกขยายไซส์สาขาประจำประเทศไทย เพื่อบุกตลาดรับมือคู่แข่งได้มากขึ้น รวมทั้งมีแผนย้ายสถานที่สำนักงานแห่งใหม่ เพื่อรองรับพนักงานที่มากขึ้น และเพิ่มความคล่องตัวในการไดร์ฟตลาดในไทยนั่นเอง
Did you know?
ตอนนี้ Apple ยกเลิกการผลิต iPod mini อย่างเป็นทางการ หลังสร้างยอดขายทะลุทลายทั่วโลกสูงที่สุดในตระกูล iPod ขณะเดียวกัน Apple ต้องแบกรับภาระในการบริหารจัดการสินค้าตามมา ดังนั้นจึงเลือกไม่ผลิตสินค้ารุ่นดังกล่าว แต่ส่ง iPod nano ออกมาเป็นหัวหอกบุกตลาดแทน iPod mini ด้วยดีไซน์เครื่องบางเฉียบเรียบหรู และมีฟีเจอร์เพลงอัดแน่นเช่นเดิม แต่ตัดฟีเจอร์ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟที่เป็นจุดเด่นของ iPod และ iPod mini ออกไป