ถ้า “รหัสลับดาวินชี” คือหนึ่งในหนังสือแปลมาแรงที่สุดในยุคนี้ และ “กรรมกรข่าว” ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่โกยยอดขายทะลุหลักแสนหนังสือ…นี่อาจเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ “อมรินทร์บุ๊ค” กำลังไขสู่โลกของนักอ่านยุคใหม่
แนวรุกใหม่ของอมรินทร์
“ภูเขา ทะเล สายลม สองเรา หรือจินตนาการแบบทุ่งหญ้าแห่งความฝัน…วรรณกรรมที่นักอ่านหลายคนเคยรัก เคยหลงใหลกับความงดงามของภาษาหนังสือ พ.ศ. นี้ไม่ใช่คำตอบของกระแสความนิยมของนักอ่านยุคนี้อีกแล้ว” ระริน อุทกะพันธุ์ ทายาทแห่งอาณาจักรธุรกิจสำนักพิมพ์ อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กำลังบอกบริบทที่เปลี่ยนไปของการนำเสนอเนื้อหาใหม่
อมรินทร์บุ๊ค ค้นพบว่า ตัวไฮไลต์ที่ตอบโจทย์ความนิยมของนักอ่านได้ชัดเจนที่สุดบนแผงหนังสือวันนี้ มีด้วยกันสองประเภทหลักๆ คือ หนังสือของคนดัง และวรรณกรรมแปล ที่ตลอดปีนี้ติดชาร์ตความแรงบนแผงหนังสือแบบขายดีชนิดโกยไม่หยุด
ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดจาก กรรมกรข่าว ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่าเข้าหลักแสนเล่มแล้ว และวรรณกรรมแปล ที่กำลังเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำระลอกใหม่ พิสูจน์ได้จากหนังสือยอดนิยม อย่าง “รหัสลับดาวินชี” ที่ขายดีขายได้เรื่อยๆ ไต่ยอดขายถึง 70,000 เล่ม
ความสำเร็จของพ็อกเกตบุ๊กสองเล่มนี้ ได้ตอกย้ำกับผลการสำรวจตลาดความนิยมของนักอ่านล่าสุดของอมรินทร์บุ๊ค ซึ่งพบว่านักอ่านไทยทุกวันนี้ ยังโหยหาสนใจกับตัวละครประเภทคนดัง ดารา และเป็นเหมือน “ของนิยม” ที่สำนักพิมพ์หลายแห่งต่างหยิบคนดังมาขาย และผลในเชิงธุรกิจทำแล้วไม่เหนื่อย ไม่เคยขาดทุน มีแต่กำไรมากกำไรน้อย
พล็อตใหม่ต้องจี๊ดจ๊าด…เร้าใจ!
ผลการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ในยุคบริบทกระแสปัจจุบัน พล็อตเรื่องที่ออกสะท้อนถึงสังคมเมืองหลวงที่ดูกระฉับกระเฉง จี๊ดจ๊าด เร้าใจ มีความนิยมมากกว่า สูงกว่า เรื่องในแนวชนบท ซึ่งดำเนินเรื่องแบบช้าๆ หรือพล็อตเรื่องที่เน้นใช้ภาษาสวยๆ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหลี่ยมมุมที่สะท้อนถึงยุคสมัยใหม่ของสังคมนักอ่านได้ว่า ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสังคมสมัยใหม่สู่ยุคเทคโนโลยี ที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว แม้จะมีกลิ่นของความลึกลับผสมผสานบ้าง แต่การเสพยุคใหม่เน้นอ่านง่าย เนื้อหาทันสมัย
แต่ใช่ว่าวรรณกรรมชั้นดีของนักเขียนระดับชั้นครูจะขายไม่ได้เลย เพียงแต่มีความสนใจเงียบๆ และซึมๆตามความต้องการของนักอ่านกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
รหัสลับเจาะตลาดนักอ่าน
ทิศทางของอมรินทร์บุ๊คจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังสือแนวคนดัง ยังเป็นกระแสที่ในส่วนของแพรวสำนักพิมพ์ต้องผลิตขึ้นเป็นระยะๆ และประเภทหนังสือแปลแนวนวนิยาย เป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องมุ่งทำธุรกิจด้านนี้
ดังนั้นการคัดเลือกคนดังมาทำหนังสือ เป็นแนวทางการผลิตที่จำเป็นต้องมีการประชุมกันตลอด ว่าปีนี้จะทำใคร คนไหนดัง คนไหนควรทำหนังสือ เช่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา ควรทำกี่เล่ม เพื่อไม่ให้มากเกินไป น้อยเกินไป คนอ่านไม่เบื่อ
ขณะที่หนังสือแปล เป็นกลยุทธ์สำคัญหนึ่ง ที่อมรินทร์บุ๊คต้องใช้แว่นขยายค้นหาเรื่องใหม่ๆ มาแปล มานำเสนอสู่ตลาดนักอ่านต่อเนื่องจากรหัสลับดาวินชี รวมทั้งการประมูลหาเรื่องแปลดังๆ มานำเสนอ เพราะเป็นตลาดที่เติบโตขึ้นสูงมาก
“นักอ่านไทยส่วนใหญ่ชอบอ่านวรรณกรรมแปลแบบมีมิติลึกลับ แนวสืบสวนสอบสวน ตื่นเต้นเร้าใจ หรือประเภทเรื่องสนุกๆ ก็ไปได้ดี”
การคัดเลือกวรรณกรรมแปล ส่วนสำคัญต้องใช้ทีมงานในการติดตามและอ่านก่อน หากเรื่องใดดังมากในต่างประเทศบางครั้งก็ใช่ว่าจะขายในประเทศได้ ต้องขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในแต่ละประเทศด้วยว่าเข้ากันได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่
“หนังสือหรือวรรณกรรมแปล เรามีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ วรรณกรรมเป็นกระแสความนิยมที่อ่านแล้วทันยุคทันสมัย รวดเร็ว คนนิยมติดตามเพราะงานเขียนของต่างประเทศจะเคลื่อนไหวทางปรากฏการณ์ได้รวดเร็วกว่านักเขียนไทย ทำให้วรรณกรรมแปลยังได้ขายดีอยู่บนแผงหนังสือ”
“คอนเทนต์” กุญแจความสำเร็จ
ในเชิงธุรกิจในเครืออมรินทร์ แม้ในยุคนี้จะแตกแขนงออกเป็น ทั้งสื่อแมกกาซีน พ็อกเกตบุ๊ก ทำธุรกิจทัวร์ ทำธุรกิจงานแฟร์ และธุรกิจเว็บไซต์ แต่ระรินบอกว่า นี่คือการผสมผสานทางธุรกิจที่เอื้อและสัมผัสกับลูกค้าได้ครอบคลุมทุกจุด เช่น ลูกค้าสนใจแต่งสวน เขาสามารถสมัครสมาชิกหนังสือบ้านและสวน เข้าอบรมจัดสวน และสามารถไปงานทัวร์สวนตกแต่ง รวมทั้งพูดคุยผ่านเว็บไซต์ได้ ซึ่งที่นี่มีบริการให้แบบครบวงจร
ทั้งหลายทั้งปวง จะเห็นชัดว่าธุรกิจอมรินทร์นั้นใช้คอนเทนต์ หรือใช้เนื้อหาของหนังสือเป็นตัวขับเคลื่อนทางธุรกิจ
“เราเป็นค่ายใหญ่ที่มีการวาง position ชัดเจน มีสำนักพิมพ์นับสิบแห่งอยู่ในเครือ แบ่งตามคอนเทนต์ และความต้องการของตลาดผู้อ่าน ใช้บรรณาธิการแต่ละแห่งขับเคลื่อนทางการผลิตด้านเนื้อหา แม้ที่ผ่านมาแพรวสำนักพิมพ์จะเป็นฐานที่ทำรายได้มากที่สุดก็ตาม แต่สำนักพิมพ์ส่วนอื่นๆ ก็เป็นตลาดที่เป็นเหมือนบุคลิกของเราที่หลากหลาย”
ระรินอธิบายอีกว่า เมื่อคอนเทนต์แต่ละสำนักพิมพ์ผลิตเสร็จ ก็จะส่งเข้าโรงพิมพ์ ซึ่งอมรินทร์มีโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ซึ่งแต่ละปีตั้งเป้าว่าจะผลิตหนังสือใหม่ประมาณ 250 เล่ม/ปี
ส่วนสำคัญของการทำหนังสือนอกจากคุณภาพของเนื้อหา ซึ่งมีบรรณาธิการแต่ละสำนักพิมพ์รับผิดชอบแล้ว การตลาดนับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งอมรินทร์มีบุ๊กเซ็นเตอร์เป็นของตัวเอง เป็นเสมือนผู้จัดการฝ่ายการตลาด ขับเคลื่อนทางการขาย กระจายไปสู่ร้านขายระดับแนวหน้า และการจัดวางตำแหน่งการขายหนังสือ
บุ๊กเซ็นเตอร์จะทำหน้าที่ทางการตลาด ออกบูธตามงานแฟร์ใหญ่ๆ เพื่อบริหารจัดการสินค้าค้างสต็อก และยังทำหน้าที่จัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือใหม่ๆ ควบคู่ไปด้วย
นอกจากการขายผ่านบุ๊กเซ็นเตอร์ อมรินทร์ยังเจาะตลาดนักอ่านผ่านการระบบสมาชิก ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง ซึ่งเป็นอีกช่องหนึ่งที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ปีนี้เราตั้งยอดขายตลอดปีไว้ประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วประมาณ 10-20%” ทายาทแห่งอมรินทร์บอกทิ้งท้าย จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องรอพิสูจน์
การตลาดสไตล์อมรินทร์
1. กลุ่มไฮไลต์ กลุ่มนี้เน้นขายแบบหวือหวามีวงจรอายุการตลาดสั้น ไม่เกิน 1 ปี มียอดขายเกินหลักหมื่นเล่ม เช่น หนังสือของคนดัง ต้องใช้งบการทำตลาดมาก จัดกิจกรรมเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านถี่ เน้นจัดกิจกรรมตามสถานศึกษา ตามร้านหนังสือ
2. กลุ่มระยะยาว ประเภทหนังสือที่ไม่หวือหวา ขายได้เรื่อยๆ เช่น หนังสือแปล หนังสือแต่งบ้าน ต้องใช้งบประมาณไม่สูง เน้นโฆษณาแบบภาพรวม ต่อจะทำแบบต่อเนื่อง
10 อันดับหนังสือขายดีตลอดปี 2548
1. กรรมกรข่าว
2. พุ่ม เจนเซ่น
3. รหัสลับดาวินชี
4. แผนลวงสะท้านโลก
5. เรื่องทองแดง (ฉบับการ์ตูน)
6. เทวากับซาตาน
7. กินอย่างไรให้ผอม
8. สวนในบ้านเล่มที่ 17 “สวนนอกชาน & สวนริมรั้ว”
9. ปอกเปลือกมังคุด
10. บันทึกสึนามิ “เราจะพาเขากลับบ้าน”
สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ฯ
1. แพรวสำนักพิมพ์
2. สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก
3. สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
4. สำนักพิมพ์แพรวเอนเตอร์เทน
5. สำนักพิมพ์บ้านและสวน
6. สำนักพิมพ์ครัวบ้านและสวน
7. สำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ
8. สำนักพิมพ์อมรินทร์
9. สำนักพิมพ์อรุณ
10. สุดสัปดาห์สำนักพิมพ์
11. สำนักพิมพ์เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก