มติชนบุ๊ค ยกเครื่องใหม่ ลุย Happy Book Day เอาใจตลาดเทรนดี้

ปีนี้ มติชน บุ๊ค เป็นสำนักพิมพ์ที่สร้างสีสัน และถูกกล่าวไม่น้อย หลังจากเปิดตัวพจนานุกรมเวอร์ชั่นมติชน ที่เน้นเนื้อหาสาระของศัพท์ใหม่ๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งศัพท์ที่ใช้ในภาษาข่าวอัดแน่นไว้ในเล่มขนาดกะทัดรัด จำนวน 1061 หน้า ที่สามารถปั๊มยอดขายในการพิมพ์ครั้งแรกอยางถล่มทลาย จนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

นับเป็นผลงานชิ้นโบแดงสร้างชื่อให้สำนักพิมพ์ใหญ่อย่าง “มติชน” ให้เป็นที่รู้จักในเชิงแมสมากขึ้นในฐานะสำนักพิมพ์คุณภาพที่มีอายุร่วม 20 ปี แต่ความที่เป็นองค์กรใหญ่และปรับตัวช้า ทำให้มติชนพลาดโอกาสตลาดหนังสือแนวกระแสไปหลายครั้ง

เช่นเดียวกับผลงานสร้างชื่อ “พจนานุกรมฉบับมติชน” ที่ไม่สามารถพิมพ์ซ้ำได้ทันความต้องตลาด เพราะวิเคราะห์ตลาดไว้ต่ำ และพิมพ์ครั้งแรกออกมาน้อยเกินไป พอกระแสแรงปรับตัวไม่ได้ทัน กว่าจะพิมพ์หนังสือรอบใหม่ออกมา กระแสความนิยมก็เลือนไปแล้ว นี่เป็นปัญหาของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่ต้องปรับตัว และบริหารจัดการระบบให้ทันกระแส

เดิมที สำนักพิมพ์มติชน หรือ มติชนบุ๊ค วางโพสิชั่นเป็นสำนักพิมพ์คุณภาพผลิตหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก เชิงเศรษฐกิจ ศิลปวัฒธรรม เทคโนโลยีชาวบ้าน รวมทั้งการเมือง และประวัติศาสตร์ ที่มีกลุ่มผู้อ่านหลักในวัยทำงาน อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ทำให้หนังสือของมติชนเติบโตในตลาดเฉพาะกลุ่ม ส่งผลให้บุคลิกหนังสือที่ออกใหม่มีอายุมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้อ่าน สวนกระแสตลาดที่หันมาเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

เป็นเหตุให้ มติชนบุ๊ค ต้องลุกขึ้นยกเครื่องใหม่ เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันกระแสตลาดมากขึ้น ด้วยการดึงตัวผู้บริหารคนรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือด้านงานเขียนอย่าง สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนฝีปากกล้า นามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” เข้ามาช่วยปรับบุคลิกแบรนด์ “สำนักพิมพ์มติชน” ใหม่ ให้ดูสดใส มีชีวิตชีวา ด้วยการเพิ่มสีสันการตลาด เพื่อลดอายุแบรนด์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น

“มติชนมีจุดแข็งด้านคอนเทนต์ที่เลือกหยิบได้จากหนังสือในเครือ อาทิ หนังสือพิมพ์มติชน ประชาชาติธุรกิจ ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่อนข้างหนัก และเป็นหนังสือแนวสาระที่มีตลาดเฉพาะอยู่แล้ว แต่เราต้องการขยายตลาดกลุ่มผู้อ่านใหม่ๆ มากขึ้น จึงต้องทำตลาดหนังสือแนววรรณกรรม เรื่องสั้น และหนังสือบันเทิงคดีต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้อ่านผู้หญิง คนรุ่นใหม่ และเด็กมากขึ้น”

ดังนั้น สรกล ในฐานะผู้จัดการสำนักพิมพ์ ได้บุกเบิกการตลาดรูปแบบใหม่ Happy Book Day จัดอีเวนต์แสดงนิทรรศการหนังสือให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ในสถาบันการศึกษา ทั้งระดับมหาวิทยาลัย โรงเรียน และหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ และกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาสนใจชื่อ “สำนักพิมพ์มติชน” มากขึ้น

“ตอนนี้ Happy Book Day กลายเป็นไฮไลต์ที่เพิ่มสีสัน บอกบุคลิกแบรนด์ มติชนบุ๊คได้ชัดเจนที่สุดและยังเป็นช่องทางหนึ่งในการระบายสต็อกสินค้า จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ต้องจัดต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น ผู้อ่านต่างรอคอยซื้อหนังสือประจำปีในงานนี้ เพราะปกติเขาไม่ค่อยมีเวลาเข้ามางานเทศกาลหนังสือที่กรุงเทพฯ”

ปัจจุบัน มติชนบุ๊ค ได้เพิ่มสัดส่วนหนังสือแนวบันเทิงคดี เรื่องสั้น หนังสือแปลมากขึ้น โดยมีสัดส่วนยอดขายในปีที่ผ่านมาประมาณ 30-40% จากเดิมที่มีรายได้จากขายคอนเทนต์ของหนังสือในเครือเป็นหลัก

“มติชน มีเกณฑ์เลือกเนื้อรวมเล่มจาก 3 กลุ่ม คือ เลือกคอนเทนต์จากหนังสือในเครือ คอนเทนต์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารทั่วไป และจากนักเขียนทั่วไปเดินเข้ามาเสนองานให้เรา ตรงนี้ต้องดูรายละเอียดเยอะมาก เพราะต้องเลือกเรื่องที่โดนใจตลาด และมั่นใจว่าพิมพ์แล้วขายได้”

สรกล บอกถึงความยากในธุรกิจสำนักพิมพ์ ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ว่า “การบริหารจัดการสต็อกเป็นอีกปัญหาหนึ่งของสำนักพิมพ์เกือบทุกค่าย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณหนังสือเยอะ จึงต้องหากลยุทธ์ในการระบายสต็อก หรือบริหารสินค้าให้ดีที่สุด หากสต็อกเยอะก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น”

แต่สำนักพิมพ์ยังเป็นธุรกิจที่เกิดได้ง่าย และมีหน้าใหม่เข้ามาตลาดมากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ลงทุนไม่สูง และสร้างรายได้ตอบแทนในระดับที่ดีในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เพราะธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นสื่อหนึ่งที่สามารถโปรโมตบุคคล และผลงานที่มีชื่อเสียงได้ ทางกลับกันหากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย สำนักพิมพ์ค่ายเล็กที่สายป่านไม่ยาวจะมีผลกระทบมากที่สุด

ส่วนบทบาทสำนักพิมพ์ที่ต้องดำเนินต่อไป คือการสรรหาคอนเทนต์ใหม่ๆ มารวมเล่มเป็นหนังสือออกใหม่ให้ผู้อ่านได้เลือกซื้อกันมากขึ้น เช่นเดียวกับงานมหกรรมหนังสือปีนี้ ที่ มติชน เตรียมเปิดหนังสือใหม่เกือบ 40 ปก อาทิ ประวัติย่นย่อของการเวลา เล่ม 2 หนังสือขายดีภาคต่อของ “ประวัติย่อของการเวลา” และมอบส่วนลดพิเศษเฉพาะผู้ซื้อหนังสือในงาน 15-80%

พร้อมเปิดเวทีให้ผู้อ่านใกล้ชิดกับนักเขียนชื่อดัง อาทิ บินหลา สันกาลาคีรี-เจ้าของรางวัลซีไรต์ปีล่าสุดเรื่อง “เจ้าหงิญ” ที่มียอดขายเฉลี่ย 40,000 เล่ม/เดือน, รอฮีม ปรามาท, ชาติ ภิรมย์กุล และที่ขาดไม่ได้ “หนุ่มเมืองจันท์” ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้บริหารไปสู่นักเขียนลีลาดีที่มาร่วมสร้างสีสันเอาใจแฟนคลับในงานนี้

10 อันดับหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชน

1. เจ้าหงิญ หมวด : วรรณกรรม — เรื่องสั้น+นิยาย
2. ตามรอยพ่อไปชิม หมวด : สารคดี — อาหาร
3. ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข (The Man Who Loved Only Numbers)
หมวด: สารคดี — เทคโนโลยี/วิทยาศาสตร์, บุคคล – ชีวประวัติ และวิชาการ
4. พจนานุกรมฉบับมติชน หมวด : ศิลปวัฒนธรรม
5. พาร์กินสันป้องกันได้ หมวด : สารคดี — สุขภาพ
6. รู้ชีวิตด้วยดวงดาว หมวด : โหราศาสตร์
7. โลกตอแหล หมวด : สารคดี — รวมบทความ/เรื่องเล่า
8. สุริยาศศิธร (ฉบับการ์ตูน) หมวด : วรรณกรรม – วรรณกรรมเยาวชน, ศิลปวัฒนธรรม — ประวัติศาสตร์
9. โฮ่งเมี้ยว! เดี๋ยวแมว เดี๋ยวหมา หมวด : วรรณกรรม — เรื่องตลก/อ่านเพลิน
10. กัมพูชาราชลักษมีถึงศรีชัยวรมัน หมวด : ศิลปวัฒนธรรม – ประวัติศาสตร์

นักเขียนเด่นมติชนบุ๊ค
สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์)

เจ้าของคอลัมน์ฮิตติดกระแส “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ในมติชนสุดสัปดาห์ อดีตผู้บริหารสำนักพิมพ์มติชน และเคยบรรณาธิการหนังสือในเครือหลายเล่ม ปัจจุบันรับบทบาทเป็นรองบรรณาธิการบริหาร นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ที่กลับมามุ่งมั่นเขียนงาน เตรียมรวมเล่มคอนเทนต์สนุกๆ มุกแพรวพราวที่สั่งสมไว้ให้แฟนคลับได้อ่านกัน

นับว่า “สรกล อดุลยานนท์” หรือหนุ่มเมืองจันท์ เป็นนักเขียนคุณภาพที่ขึ้นทำเนียบของดีเครือมติชน ด้วยประสบการณ์ที่หนุ่มเมืองจันท์สั่งสมมาตลอด 19 ปี หลังจากจบคณะมนุษยวิทยาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มต้นการเป็นนักข่าวธุรกิจ บรรณาธิการข่าว ผู้บริหารสำนักพิมพ์ และการก้าวเป็นนักเขียนมืออาชีพในปัจจุบัน

ผลงาน

ใช้ชื่อจริง “สรกล อดุลยานนท์”
ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม
จอมยุทธ์น้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี
ปรัชญานักธุรกิจไทย เคล็บลับสู่ความสำเร็จ
ปรัชญาของงาน หนทางสู่ ความสุข
ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน (ตัน โออิชิ)

ใช้นามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์”

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
เดาะโลกดีดีแล้วตีลังกา (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 2)
มองโลกง่ายง่ายสบายดี
ฝันใกล้ใกล้ไปช้าช้า
อารมณ์ดีกับชีวิต