ด้านกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับสยามพารากอน เพราะมีพื้นที่ศูนย์การค้าตั้งชิดติดกันมากที่สุด ต่างก็ขยับตัวรับกับการเปิดศูนย์สยามพารากอนอย่างเห็นได้ชัด การทยอยปรับปรุงพื้นที่บางส่วน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าในสาขาบริเวณใกล้เคียง สะท้อนการไม่หยุดนิ่งของผู้นำตลาดรีเทล
โดยเฉพาะกรณีการปรับพลิกโฉมใหม่เต็มรูปแบบของห้างสรรพสินค้า Zen ที่เปิดบริการมานานถึง 15 ปี
Zen ตั้งอยู่บนทำเลดี ใจกลางกรุง ภายในพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (เวิลด์เทรดเดิม) มุ่งจับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 15-40 ปี มีรสนิยมทันสมัย เน้นความเป็นผู้นำแฟชั่น แต่ภาพเหล่านี้กำลังจะถูกเปลี่ยนไปสู่รูปลักษณ์ใหม่อีกไม่นาน โดยกำหนดเริ่มปิดปรับปรุงตั้งแต่ปลายปีนี้จนกระทั่งถึงปี 2549
โฉมใหม่ภายในแบรนด์ Zen นั้นถูกวางเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นห้างสรรพสินค้า Zen ในรูปลักษณ์ใหม่บนพื้นที่กว่า 50,000 ตารางเมตรจากเดิมทีพื้นที่เพียง 20,000 ตารางเมตร และ Zen World ซึ่งเป็นLifestyle Tower บนพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ CRC Flagship Store ที่เซ็นทรัลเวิร์ลพลาซ่าบนพื้นที่เช่ากว่า 110,000 ตารางเมตร
พื้นที่เหลือจะเป็นส่วนของเพาเวอร์บาย (Power Buy)บีทูเอส (B2S) ซูเปอร์สปอร์ต และ World Central Food Hall ใช้งบลงทุนกว่า 2,600 ล้านบาท
“ Zen Department โฉมใหม่จะสมบูรณ์ที่สุดเป็นเหมือนชิดลม 2 ที่มีความเป็น trendy style”ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ค่ายเซ็นทรัล รีเทลฯ ประกาศไว้
ไม่เพียงแต่ปรับโฉมเท่านั้น แต่ในแง่การเสริมความแข็งแกร่งทางการตลาดและการขาย ยังได้ทายาทจิราธิวัฒน์รุ่นใหม่ “ชาติ จิราธิวัฒน์” บุตรชายคนโตของสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ที่ก่อนหน้าเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและกล้องดิจิตอล บริษัทซีเอ็มจี จำกัดในเครือ เข้าร่วมผนึกกำลัง
“ Trendy Shopping Mall เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เนื่องจากโดดเด่นในแง่การวาง positioning มีความเป็นเซ็กต์เมนต์เด่นชัด มีความแตกต่างในแง่คอนเซ็ปต์ ที่สำคัญตอบโจทย์ความต้องการนักช้อปที่ต้องการสินค้าหายาก ไม่เหมือนใคร” ชาติ จิราธิวัฒน์ International Leasing Manager บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด เล่าเสริม คอนเซ็ปต์ Zen โฉมใหม่ทิ้งท้าย
สกายวอล์ก มูลค่าร่วม 260 ล้านบาท เป็นการลงทุนของเซ็นทรัลเพื่อเชื่อมและดึงผู้คนจากรถไฟฟ้าบีทีเอส มายังศูนย์การค้าในโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งสถิติจากรถไฟฟ้าบีทีเอสระบุว่า มีผู้คนเดินเข้าออกที่สถานีชิดลมเฉลี่ยประมาณ 35,000 คนต่อวัน และที่สถานีสยามอีกกว่า 50,000 คนต่อวัน