นักออกแบบโรงภาพยนตร์มือฉมัง มักจะถูกตั้งคำถามแรกอยู่เสมอว่า “มีอะไรใหม่”
สำหรับผู้ชื่นชอบการเสพภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์วัย 30 ขึ้นไป จะเห็นพัฒนาการของโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสถานที่ตั้ง การออกแบบดีไซน์ที่เน้นความหรูหรา รวมถึงพัฒนาการแบบ “ผสมผสาน” เอาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมารวมไว้ในสถานที่แห่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชนส์ร้านอาหารดัง ร้านกาแฟสุดเก๋ ร้านหนังสือและอีกหลากหลายสรรพสิ่งประหนึ่งช้อปปิ้งมอลล์ย่อยๆ อีกทั้งยังลบภาพการเป็น “stand alone” ดึงคอนเซ็ปต์ “Multiplex” เข้ามาแทนที่ โรงภาพยนตร์ถูกจำกัดขนาดให้เล็กลง แต่อบอุ่น มีภาพยนตร์ให้เลือกเสพตามรสนิยม ดูดผู้คนให้เดินเข้ามาและใช้เวลานานขึ้น
แต่การออกแบบโรงภาพยนตร์ให้สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคก็ยังไม่ถึงทางตัน นักสร้างสรรค์ยังคงจินตนาการอย่างต่อเนื่อง
ไม่แน่ว่าในอนาคตนั้น ผู้บริโภคอาจจะพุ่งตรงมายังโรงภาพยนตร์เพียงเพื่อจ่ายตลาด ทำธุรกรรมทางการเงิน ทำบัตรประชาชน ภายหลังจากเสร็จสิ้นธุรกิจอันเหน็ดเหนื่อยและมีโปรแกรมภาพยนตร์ที่น่าสนใจ ก็สามารถผ่อนคลายได้ด้วยการเลือกเก้าอี้นั่งที่ชมภาพยนตร์ไปด้วย นวดเท้าไปด้วย!!
นี่คือ 10 สิ่งจินตนาการของ “โรงภาพยนตร์ในฝัน” ที่บางหัวข้อนั้นก็ถูกสร้างจริงและบางสิ่งที่โรงภาพยนตร์ในเมืองไทยยังไม่มี
จินตนาการหมายเลข 10 : พัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง
แน่นอนโจทย์ลำดับแรกในการเปลี่ยนมิติใหม่ของโรงภาพยนตร์ ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่ามีความหลากหลายขึ้น ภาพลักษณ์ภายนอกนั้นต้องออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะและสะดุดตา รวมถึงสถานที่ตั้งต้องเป็นแหล่ง “ฮิพ” จริงๆ
ทั้งนี้การทำโรงภาพยนตร์ที่ไม่ใช่สถานที่ชมภาพยนตร์เท่านั้น ปรากฏขึ้นแล้ว ปัจจัยหลากหลายทั้งแหล่งกิน แหล่งช้อปถูกนำมารวมไว้ที่เดียวกัน
ส่วนในอนาคตอันใกล้ โรงภาพยนตร์จะมี “ตลาดสด” และ “แหล่งทำธุรกรรมทางการเงิน” ที่มากไปกว่าสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดีการคิดค้นว่าโรงภาพยนตร์ควรจะมี “อะไร” ที่นอกเหนือจากโรงภาพยนตร์ ไม่ใช่การจินตนาการแบบไร้สติ แต่ผู้คิดค้นต้องมีความรู้พื้นฐานและศึกษาความต้องการในเชิงการตลาด สภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมานั้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจจริงของประเทศ ของผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ
จินตนาการหมายเลข 9 แบ่งชัดกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับในประเทศไทยนั้น โรงภาพยนตร์ทั่วไปแม้ภาพจะแสดงออกมาว่า เน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นและวัยทำงาน แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง โรงภาพยนตร์ในไทยก็สนองตอบกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่และครอบครัวด้วย ขึ้นอยู่กับโปรแกรมภาพยนตร์ที่ลงโรงในขณะนั้นมากกว่า
แต่ในอนาคตโรงภาพยนตร์จะมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายชัดขึ้น อาทิ ในแหล่งคนทำงาน มีกำลังจ่ายสูง มีเวลาว่างหลังเลิกงานก็จะสามารถใช้โรงภาพยนตร์เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ อ้อยอิ่งทิ้งเวลาไปกับสถานที่เอนเตอร์เทนที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการนำ “ภาพยนตร์ทางเลือก” หรือ “Independent Film” ที่กำลังอินเทรนด์สุดๆ สนองตอบความต้องการของ “แฟนคลับ” ที่ต้องการความแตกต่างและลึกซึ้งในการเสพภาพยนตร์แต่ละเรื่อง
ส่วนโรงภาพยนตร์ในแหล่งวัยรุ่นนั้นจะถูกสร้างภาพชัดด้วยการเน้น “ภาพยนตร์ฮิต” ที่เข้าฉายในขณะนั้น เพิ่มเติมแรงดึงดูดจาก “มิวสิกวิดีโอ” ประมาณ MTV เกมออนไลน์และวิดีโอเกม การจัดรูปแบบ preview ที่เน้นแนะนำ ประชาสัมพันธ์ โฆษณาและความเคลื่อนไหวของเกมใหม่ เกมฮิต มีพื้นที่ให้วัยรุ่นแสดงออกและซึมซับในสิ่งที่สนใจและต้องการ
จินตนาการหมายเลข 8 มากและหลากหลาย…ในเชิงอารมณ์และความรู้สึก
โรงภาพยนตร์ที่สุดยอดนั้น ยังจำต้องตอบโจทย์ในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก สนองตอบความปรารถนาทางธรรมชาติของมนุษย์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การออกแบบทางเดินให้หรูหรา โทนแสงที่ใช้จะถูกควบคุมความหนัก-เบาในแต่ละโซน และยิ่งในโรงภาพยนตร์ถูกออกแบบให้ซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงความสำคัญของ “ป้าย” แสดงแผนผังและ “ชี้ชัด” ถึงเส้นทางไปสู่ที่ต่างๆ อย่างชัดเจน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ “ห้องน้ำ” ควรจะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบ กว้างขวางและสะอาด ยิ่งในส่วนห้องน้ำผู้หญิงด้วยแล้วล่ะก็ ควรจะใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะห้องน้ำสำหรับผู้หญิง มิใช่เพียงเป็นสถานที่ปลดปล่อยทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเติมความงาม ตรวจสอบความสวย ดังนั้นห้องน้ำผู้หญิงควรมีพื้นที่มากพอ แบ่งโซนสำหรับขับถ่ายและเช็กความงาม ส่วนผนังที่ตอบโจทย์ได้สมบูรณ์แบบที่สุดคือ “กระจกเงา”!!
จินตนาการหมายเลข 7 ภาพลักษณ์
ที่ไม่ใช่จะเน้นแค่ภายนอกเท่านั้น แต่ควรเน้นภาพลักษณ์สภาพแวดล้อมภายในด้วย ต้องคำนึงว่า ทุกจุดในโรงภาพยนตร์นั้นมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ความต่างจะอยู่ที่การดีไซน์ว่า โซนไหนควรจะออกแบบสร้างสรรค์อย่างไร ควรเน้นความเร้าใจไป ณ จุดไหน อย่า!! ได้เพิกเฉยในบางมุม จนปล่อยให้เป็นมุมอับสร้างความรู้สึกเสมือนเดินเข้าไปใน Fear Factor Zone แต่หากโปรแกรมหนังในจังหวะนั้นสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ Fear Factor ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่กติกาคือ Fear Factor ต้องถูกออกแบบสอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ใช่การเพิกเฉยปล่อยเป็นมุมอับและสร้างความไม่น่าไว้วางใจ
จินตนาการหมายเลข 6 ความสำคัญของ “ล็อบบี้”
คำจำกัดความของ “ล็อบบี้” ต้องมีความต่างที่สมบูรณ์แบบสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงสถานที่หย่อนกายหรือแค่เฉียดผ่านไปสู่โรงภาพยนตร์เท่านั้น ล็อบบี้ที่สมบูรณ์แบบในโรงหนัง ควรจะแวดล้อมด้วยบริการอาหาร เครื่องดื่ม มอนิเตอร์ยักษ์ที่เผยแพร่รายการที่น่าสนใจ ข่าวสาร โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่แค่โฆษณาภาพยนตร์ใหม่เท่านั้น แต่ควรจะสร้างสรรค์ให้ผู้ชมใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์ด้วยการจัด “นิทรรศการ” ย่อยๆ และต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ โฆษณา เพลง หนัง สถานที่ศึกษา บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ เกม รวมถึงการแบ่งสันปันพื้นที่ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการส่งและรับ E Mail หรือง่ายๆ ก็คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ
จินตนาการหมายเลข 5 บริการวีไอพี
บริการ บริการ บริการ ท่องเอาไว้ เพราะยุคนี้เป็นยุคสังคมบริโภคที่รักและพร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเพื่อความสะดวกสบาย เริ่มจากเก้าอี้นั่งชมภาพยนตร์ นอกจากเก้าอี้ธรรมดาแล้ว ควรจะมีที่นั่งที่กว้างขวาง สบาย หรือแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับคู่รักหวานแหวว
อาจจะดูบ้าไปหน่อย แต่เชื่อมั้ยว่า ตอนนี้โรงภาพยนตร์ในต่างประเทศกำลังหลงใหลบริการ “วีไอพี” สุดฤทธิ์ เพราะพื้นที่ของวีไอพีนี้จะถูกแยกเป็นสัดส่วน มีม่านกั้น มีเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเครื่องครัวเล็กๆ ตู้เย็นน้อยๆ อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมเสิร์ฟ ขาดก็แต่เตียงให้นอนดูเท่านั้นแหละ
ย่อหน้าข้างต้นอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา แต่ก็ไม่แน่ เพราะวีไอพีโซนนี้ ค่าบริการแพงระยับสมเหตุสมผลกับบริการที่ให้ และสกัดกั้นกลุ่มเป้าหมายรายได้ต่ำและเยาวชน
จินตนาการหมายเลข 4 ภาพและเสียง
มนุษย์ดิจิตอลเดินชนกันมากมายบนท้องถนน ฉะนั้นแล้ว ในเชิงเอนเทนเทอร์ พวกเขาล้วนต้องการที่จะเห็น ได้รับชมหรือรับฟังผลพวงที่เกิดจากความไม่หยุดยั้งของพัฒนาการเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยเสริมให้เทคโนโลยีเหล่านี้โดดเด่นนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาของวัสดุอุปกรณ์โดยเฉพาะผนังของห้องชมภาพยนตร์
เทคโนโลยีใหม่ที่เหล่ามนุษย์ในยุคดิจิตอลคาดหวังก็คือ การชมภาพยนตร์ที่เสมือนจริงมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะออกในรูปแบบใด แต่อย่าลืมว่า ในโลกของเทคโนโลยีนั้น มนุษย์มักจะแสดงความอัจฉริยะออกมาเซอร์ไพรส์ได้อย่างสม่ำเสมอ
จินตนาการลำดับที่ 3 ยิ่งใหญ่ยิ่งเจ๋ง
จอใหญ่ใครๆ ก็ชอบ ว่ากันว่าผู้ชมที่จะบ่นถึง “ขนาด” ของจอขนาดยักษ์ มักจะเป็นผู้ชมที่เลือกที่นั่งติดกับจอมากเกินไป
อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้ โรงภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในระดับเจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจน พร้อมบริการระดับพรีเมียม จะมีการออกแบบจอภาพยนตร์ให้ยิ่งใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แผนผังที่นั่งจะมีการปรับเปลี่ยน ให้มีความชัดเจนทุกมุมที่สัมผัส เรียกได้ว่า ไม่ว่าคุณจะเลือกนั่งในจุดไหน อรรถรสที่ได้จากการชมภาพยนตร์จะไม่มีความแตกต่าง นั่นอาจจะหมายถึงจำนวนเก้าอี้นั่งน้อยลง และไม่ได้เรียงแถวตามลำดับอักษรเช่นปัจจุบัน
จินตนาการลำดับที่ 2 ความสะดวกสบาย
ภาพที่เห็นเจนตาอีกประการหนึ่งคือ “คนเฝ้าประตู” ที่คอยช่วยหาที่นั่งและเปิดประตูทางออกเวลาหนังจบและเคาน์เตอร์ขายตั๋วที่ต้องต่อคิวยาวเหยียดโดยเฉพาะเมื่อภาพยนตร์โปรแกรม “ร้อน” ลงโรง ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตคือ คนเฝ้าประตูจะทำหน้าที่เสมือนยามดูแลความปลอดภัย ส่วนเคาน์เตอร์ขายตั๋วจะถูกจำกัดพื้นที่ให้เล็กลง แทนที่ด้วยเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติแบบใช้ได้ทั้งเงินสดและเครดิตการ์ด ซึ่งนับว่าเป็นปฏิบัติการที่ก้าวล้ำนอกเหนือไปจากการจองตั๋วและตรวจสอบข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต และเครื่องขายตั๋วอัตโนมัตินี้จะไม่ได้จำกัดพื้นที่แค่บริเวณโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่จะถูกวางตั้งทุกหนทุกแห่งประหนึ่งตู้กดเงินสดอัตโนมัติของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันเลยทีเดียว
และที่น่าสนใจคือ โรงภาพยนตร์แห่งอนาคตที่จะมี “วีไอพี” แล้ว ยังจะมี “ห้องครอบครัว” หรือ “โซนปาร์ตี้” ที่ดูหนังไปด้วย เอนเตอร์เทนไปด้วยตามแบบเฉพาะที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ว่ากันว่าจุดประสงค์ประการหลังนี้ดูเหมือนจะปิ๊งไอเดียจากเหล่าบรรดาคุณแม่ที่ทำงานที่บ้าน งานที่บ้านที่ไม่ได้หมายถึงงานบ้าน แต่หมายถึงคุณแม่บ้านที่มี port ดังนั้นห้องครอบครัวจะใช้สำหรับคุณแม่ปล่อยคุณลูกดูหนัง แล้วตัวเองทำงาน หรือคุณแม่อยากผ่อนคลายดูหนังโปรดแล้วปล่อยคุณลูกเล่นซน โดยไม่ต้องพะวงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น
จินตนาการหมายเลข 1 เอนเตอร์เทนเมนต์สำเร็จรูป
สิ่งที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์และผู้บริโภคต่างต้องการสอดคล้องกันคือ โรงภาพยนตร์ที่ไม่ใช่โรงภาพยนตร์ อันนี้ต้องแยกแยะให้เข้าใจว่า มีความแตกต่างจากโรงภาพยนตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของห้างสรรพสินค้า แต่ในอนาคตห้างสรรพสินต่างหากเล่าที่จะต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงภาพยนตร์
โรงภาพยนตร์แห่งอนาคตต้องเป็นแหล่งเอนเตอร์เทนเมนต์สมบูรณ์แบบ สนองตอบทุกความต้องการ ขับเคลื่อนไปกับพลวัตแห่งเศรษฐกิจและสังคม และต้องสามารถเติมเต็มอารมณ์ความต้องการเสพของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้สูงสุด
ในฐานะคนชอบเสพภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ก็อดที่จะระทึกใจและจับตามองถึงความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นแทบไม่ไหว
หากถามถึงความเป็นไปได้ถึงการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ในฝัน โดยเฉพาะในหมายเลขที่ยังไม่ปรากฏจริง นับว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่พุ่งพรวดพราด โดยเฉพาะในแง่ผลผลิตของผลิตภัณฑ์ (ภาพยนตร์) ไทยที่มาทางถูก และโกอินเตอร์กันเป็นว่าเล่น แถมยังติดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิศ เทียบชั้นหนังเทศไปทุกขณะ
ดังนั้นในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว เมื่อผลิตผลดี ทำเงินได้ แพ็กเกจที่เกี่ยวเนื่องอย่าง “โรงภาพยนตร์” ก็หนีไม่พ้นที่ต้องขับเคลื่อน เพื่อเก็บเกี่ยวเม็ดเงิน ภายใต้โจทย์ที่ไม่ใช่เพียงแค่ “โรงหนัง” เท่านั้น หากแต่ต้องเป็น “แหล่งเอนเตอร์เทนเมนต์” แบบเต็มรูปแบบ