โยเกิร์ต DUTCHIE สินค้าปั้นดาว ?

ท่ามกลางผู้ชมนับร้อยที่มาชมการประกวด DUTCHIE BOY&GIRL 2005 ของเย็นวันที่ 8 ตุลาคม 2548 ณ MCC HALL เดอะมอลล์ บางกะปิ ต่างร่วมยินดีกับการพิชิตความฝันของคู่หนุ่ม-สาว “กอล์ฟ-ธนากร ใจปินตา และ มด-กนกวรรณ ธนันไชย” ที่สามารถผ่านด่านทดสอบที่จัดขึ้น โดยกองจัดประกวดหนุ่มสาวดัชชี่มาติดต่อกันร่วม 10 ปี

กอล์ฟ – ธนากร หนุ่มน้อยหน้าใส วัย 17 ปี จากเชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศฝ่ายชาย ขณะที่มด – กนกวรรณ สาวน้อยบุคลิกดี มีความเชื่อมั่นสูงวัย 18 ปี จากที่เดียวกัน ก็คว้ารางวัลชนะเลิศฝ่ายหญิง โดยทั้งสองคนมีเป้าหมายตรงกัน คือ ใฝ่ฝันอยากเข้าสู่วงการบันเทิง

“เวทีนี้ทำให้ฝันของผมซึ่งอยากเป็นนักแสดง นางแบบเป็นจริงเร็วขึ้น ซึ่งก่อนหน้าเข้าประกวดได้เตรียมทั้งร่างกายและความสามารถ เพราะผมอยากชนะ“ กอล์ฟ บอกเล่าพร้อมรอยยิ้มแห่งชัยชนะ

ขณะที่มด – ฝ่ายหญิงนั้น เสริมว่า “เวทีนี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้เราสามารถก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงได้ง่ายกว่าวิธีอื่น”

ทั้งกอล์ฟ – มด เป็นคู่ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่มีความฝันของตัวเอง และมุ่งมั่นที่จะสานฝันให้เป็นจริง ดังนั้น เวทีค้นหาดาวดวงใหม่เข้าสู่วงการมายา อย่าง เวทีหนุ่มสาวดัชชี่ จึงเป็นเวทีตอบโจทย์ความต้องการของบรรดาเขาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

ภารกิจของหนุ่ม – สาวดัชชี่ ถูกกำหนด ซึ่งตลอดเวลา 1 ปี พวกเขาต้องทำหน้าที่ ออกงานเพื่อโปรโมตสินค้าดัชชี่ เซ็นสัญญาเป็นเวลา 1 ปี พร้อมร่วมกิจกรรมแนะนำและโปรโมตสินค้าใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพตัวเองให้เติบโตในวงการสื่อ

จุดเด่นการประกวดดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล ซึ่งจัดเป็น Contest Marketing ที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ เป็นการประกวดที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางจากคนในวงการและคนหนุ่มสาว

เพราะหนุ่มสาวใดๆ ที่เคยผ่านการประกวดเข้ารอบ หรือชนะเลิศก็ตาม มักมีค่ายผู้ผลิตงานบันเทิงหยิบยื่นโอกาสให้แสดงความสามารถอย่างมั่นใจ (อ่านรายชื่อดัชชี่ทีมจากล้อมกรอบ ทศวรรษดัชชี่)

ความสำเร็จของเวทีดัชชี่ เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการ และจัดสรรอย่างครบวงจร ซึ่งแตกต่างจากเวทีประกวดของสินค้าอื่น ที่มักทำเพียงผิวเผินและระยะสั้นๆ จุดเด่นที่สำคัญคือ เวทีดัชชี่ได้คัดเลือกหนุ่มสาวที่มีคุณสมบัติรอบด้าน หน้าตาดี มีความสามารถ จากคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นตัวแทนระดับบริหารที่น่าเชื่อถือจากสาขาบันเทิงโดยตรง อาทิ สื่อทีวี อาทิ ช่อง 3 ผู้จัดละคร ผู้กำกับ นักแสดงชื่อดัง และสปอนเซอร์สินค้าที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น หากผู้เข้าประกวดคนใด ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้ตำแหน่งชนะเลิศแค่เข้ารอบ ฉายแววและโดนตาบรรดาคณะกรรมการเหล่านี้ ก็อาจถูกทาบทาบโดยตรง เพื่อไปเป็นนักร้อง นักแสดง เดินแบบ ถ่ายแบบ หลังจากประกวดเสร็จสิ้น นั่นหมายความว่า เวทีดัชชี่เพียงบันไดขั้นแรกก็ได้ทำงานในวงการได้จริงๆ

นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดเป็นธุรกิจแบบมืออาชีพ จัดตั้งบริษัทโมเดลลิ่งชื่อ Cool Hunter ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อทำหน้าที่ดูแลบรรดาทีมดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล ทำหน้าที่ผู้จัดการ ดูแล ทั้งหางานป้อนให้ก่อนและหลังรับภารกิจดัชชี่ทีมต่างๆ ให้ รวมทั้งส่งเด็กไปฝึกเรียนด้านการแสดงและเสียง โดยเด็กส่วนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้เข้าประกวดในโครงการ ส่วนที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์มาจากผู้สนใจทั่วไป

ขณะที่ด้านสื่อ ซึ่งจัดเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้บรรดาดาวรุ่งหน้าใหม่เป็นที่รู้จัก คุ้นเคยอย่างรวดเร็ว ได้ร่วมเป็นพันธมิตรเก่าแก่กับช่อง 3 และช่อง 7 ทั้งในการนำเอาเทปบันทึกการประกวดดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ลไปออกอากาศติดต่อประจำกันทุกปี รวมทั้งยังเป็นช่องทางหลักที่บรรดาหนุ่มสาวดัชชี่ทีมได้แสดงผลงาน ฝีมือทั้งละคร ฐานะนักร้อง นักแสดง ตามความถนัดแต่ละคน

กล่าวได้ว่า เวทีดัชชี่ จึงเปรียบเสมือนเวทีสานฝันคนหนุ่มสาวให้เป็นจริง และยังเป็นกรณีศึกษา Contest Marketing ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์สินค้า โดยเฉพาะคัพโยเกิร์ต ซึ่งค่ายดัชมิลล์ต้องการสร้างพรีเซ็นเตอร์ใหม่ขึ้นมาและเป็นตัวแทนจากคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้ามาช่วยโปรโมตสินค้า และทำให้คุณค่าสินค้า ซึ่งดื่มประจำสุขภาพดี มีบุคลิกดี เด่นชัดขึ้น

“ความสำเร็จต่อสินค้า คือ ช่วงจัดประกวดยอดขายสินค้าจะเพิ่มปริมาณอย่างเด่นชัดถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังสร้างความภักดีต่อแบรนด์ สะท้อนภาพลักษณ์ผ่านพรีเซ็นเตอร์อีกด้วย” ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตดัชชี่ อภิญญา ตันติวิภาส บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด กล่าวสรุป ในตอนท้าย

ทศวรรษ ดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล

สู่ปีที่ 10 แล้ว สำหรับการประกวด “ดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล” โดยค่ายดัชมิลล์ ผู้ผลิตและจำหน่ายนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ดัชมิลล์ เป็นโครงการประกวดที่มุ่งเฟ้นหาวัยรุ่นที่มีความใฝ่ฝันจะเข้าวงการบันเทิง

ในปีแรก 1996 เรียกว่า ดัชชี่ทีม เป็นการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกด้วยการคัดเลือกวัยรุ่นที่เริ่มมีชื่อเสียง เช่น เขตต์ ฐานทัพ (เขตต์), ภาราดร ทวีวัฒนสมบูรณ์ (แม็กกี้), สมชาติ สุคนธ์ (โตโต้) , สราวุฒิ มาตรทอง (อ้น) และธนวัฒน์ เห็นสว่าง (ดาม) รวมเป็น 5 หนุ่มดัชชี่บอย และอีกสาว ราโมน่า ซาโนลารี่ (โม้นา) และ ชมนาด กานยะคามิน (จิ๊บ) เป็น “ดัชมิลล์เกิร์ล” ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “รักเรียน รักงาน รักสังคม”

ปีต่อมา 1997 ดัชชี่ทีมรุ่นที่ 2 เริ่มเปลี่ยนวิธีการเป็นการคัดเลือกมาจากเวทีการประกวด 5 คน โดยได้ อภิชาติ ชุมนานนท์ (อั้ม), นิติ ลออธรรม (โอ๊ต), ทรงวุฒิ ศรีเชิดชูธรรม (อ้น), ชมพูนุช ปิยธรรมชัย (เจี๊ยบ) และ สวธา ต่ายสกุลทิพย์ (แน็ต) ไปรวมกับ นันทศัย พิศลยบุตร (เต้) และอาทิตยา สิขานล (แอมมี่) ที่ได้รับการแต่งตั้ง รวมทั้งสิ้น 7 คน และทำการประกวดเรื่อยมาจนครบปีนี้

สำหรับในปีนี้ ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ เพราะได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายคนหนุ่มสาว สนใจสมัครเข้าประกวดทั่วประเทศรวมจำนวนกว่า 13,800 คน มาจาก ภาคเหนือ ประมาณ 4,000 คน ภาคอีสาน ประมาณ 1,800 คน ภาคใต้ ประมาณ 1,300 คน และภาคกลาง ประมาณ 6,700 คน

ถอดรหัส Dutchie

D = Dare (กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก)
U = Unbending (ความไม่ย่อท้อ มุ่งมั่น)
T = Talent (พรสวรรค์)
C = Cheerful (ร่าเริง สดใส)
H = Healthy (ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพดี)
I = Intelligence (ฉลาด)
E = Enthusiasm (กระตือรือร้น)

KEY OF SUCCESS

-ดัชชี่ จับประเด็นความฝันของวัยทีน ส่วนมากอยากเข้าวงการบันเทิง
– หนุ่ม – สาว หรือผู้เข้าประกวด ที่เคยผ่านเวทีนี้ สามารถพิสูจน์ตัวเอง หน้าตา รูปร่าง และความสามารถว่ามีจริง มีผลงานต่อเนื่อง หลัง – ก่อน ได้ตำแหน่ง
– โดยเฉพาะหนุ่ม – สาว ดัชชี่ บอย – เกิร์ล หลายคนกลายเป็นนักร้อง นักแสดง ดารามีชื่อเสียงระดับแนวหน้า
– ดึงพันธมิตรวงการสื่อ บันเทิง เข้าร่วมต่อยอด ทั้งเป็นคณะกรรมการตัดสิน และป้อนเด็กใหม่เข้าร่วมงาน ทำให้การประกวดดูเป็นมืออาชีพ
– จัดตั้งบริษัทจัดหา บริหารจัดการ งานให้กับบรรดาหนุ่มสาว – ที่ได้ตำแหน่ง และยังเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน หากต้องการเข้าสู่วงการบันเทิง