กลายเป็น Talk of the town ไปแล้ว สำหรับ “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” ซึ่งมีสนธิ ลิ้มทองกุลและสโรชา พรอุดมศักดิ์เป็นพิธีกร ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา โด่งดังจนกลายเป็น “ปรากฏการณ์สนธิ” ชนิดที่ใครก็หยุดไม่อยู่
จากจุดเริ่มต้นของการเป็น “รายการเมืองไทยรายวัน” เมื่อ 1 ตุลาคม 2544 พัฒนามาเป็น เมืองไทยรายสัปดาห์ โดยมี สนธิ ลิ้มทองกุล และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ทำหน้าที่เป็นพิธีกรคู่
แต่แล้วการถูกปลดออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แทนที่จะทำให้รายการนี้ยุติลงตามความต้องการของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในทางตรงกันข้าม กลับกลายเป็นแรงกระเพื่อม ทำให้รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งเปลี่ยนมาใช้เวทีสัญจร ไม่เพียงแต่ยังคงดำเนินไปอย่างเนื่อง ยังเพิ่มจำนวนแฟนคลับ และคนสนใจคนมาดูมากขึ้นเรื่อยๆ
จากผู้ชมรายการหลักร้อยในการจัด “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ครั้งแรก จัดขึ้นในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV เพิ่มขึ้นมาเป็นหลักพัน เมื่อย้ายมาจัดหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น และเพิ่มมาเป็นหลักแสน เมื่อย้ายมาจัดที่สวนลุมพินี ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็น “ปรากฏการณ์สนธิ” ที่ทำให้หนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์ ทุกฉบับ ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ มีประเด็นข่าวใหญ่ต้องหยิบมาเป็นข่าวพาดหัวขึ้นหน้า 1 ติดต่อกันต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์
เป็นประเด็นที่ “นักวิชาการ” ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสื่อสารมวลชน และบรรดาคอลัมน์นิสต์ หยิบมาพูดถึงมากที่สุด
ปรากฏการณ์สนธิฟีเวอร์นี้ ยังส่งผลให้พิธีกรคู่ “สโรชา พรอุดมศักดิ์” โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน ทำเอาหนังสือพิมพ์ “มติชนสุดสัปดาห์” ยังต้องนำมาขึ้นปก และเวลานี้เธอยังมีแมกกาซีนจ่อคิวรอสัมภาษณ์อีกหลายฉบับ
ยังไม่เคยมีกระทู้ใดในเว็บไซต์ที่จะมีคนเข้ามาถามตอบได้มากเท่ากับกระทู้ สนธิ ลิ้มทองกุล และ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ทำให้เว็บไซต์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ของไทยต้องเพิ่มพื้นที่สำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่แรงกระเพื่อมของ “สนธิฟีเวอร์” นี้ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม “ผู้จัดการ” มียอดขายเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงลิบลิ่วก็ตาม โดยผลการสำรวจของ เอซี นีลสันล่าสุด ระบุว่า ยอดขายของหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” เพิ่มขึ้นแซงหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไปแล้ว
ยังไม่รวมถึงการเพิ่มของยอดซีดี และผู้เข้าชมเว็บไซต์ www.manager.co.th จนทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกต ที่ว่า หาก “พฤษภาทมิฬมีม็อบมือถือ” แล้ว ม็อบครั้งนี้ ก็ต้องเรียกว่า “ม็อบดิจิตอล หรือม็อบบรอดแบนด์” เพราะเป็นการบูรณาการสื่ออย่างเห็นผล
มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่โหนไปกับกระแสสนธิฟีเวอร์ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือการเลือกตั้งซ่อม จังหวัดพิจิตร ที่เสธหนั่น – สนั่น ขจรประศาสน์ นำเอาซีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และเสื้อยืดสีเหลืองไปใช้เป็นเครื่องมือ กระแสสนธิฟีเวอร์ นำเอาซีดีไปเปิด
ข้อสรุปของ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจาก “เนื้อหา” ทำให้เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่แตกต่างไปจากรายการ News talk อื่นๆ กลายเป็นตัวเลือกเพียงรายการเดียว โดนใจกลุ่มคนที่ไม่พอใจทักษิณ
สาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การโดนปิดกั้นการเผยแพร่การออกอากาศจากรัฐบาล ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้คนดู ในตอนแรกอาจเฉยๆ แต่เมื่อโดนกระทำจากคนในฟากรัฐบาล ทำให้เกิดความสงสาร ความ “เห็นอกเห็นใจ” จากผู้ชมรายการ
การตัดสินใจของรัฐบาลทักษิณ ที่เลือกใช้การ “เซ็นเซอร์” ในการแก้ปัญหา เพื่อต้องการปิดกั้นข่าวสาร ซึ่งในทางการเมืองในทางการเมืองแล้ว ถือว่า เป็นเครื่องมือที่สะท้อนความเป็น “เผด็จการ” ยิ่งการให้ ส.ส. ในพรรคออกมาโจมตี ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลทักษิณตกอยู่ในสภาพ “พ่ายแพ้” ไปแล้วอย่างชอบธรรม
จุดยืนของสนธิ ลิ้มทองกุล คืออะไร และ “ปรากฏการณ์สนธิ” และเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จะไปสิ้นสุดลงตรงจุดใด คำตอบอยู่ที่นี่