Talk Show กรณีศึกษา เอแบค โพลล์ สำรวจคนกรุงเทพฯ คัดค้าน ปลดรายการช่อง 9

กลายเป็นกรณีศึกษา ที่แวดวงวิชาการจากสถาบันการศึกษาให้ความสนใจ หลังเกิดกระแสวิพากษ์ “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” เมื่อครั้งถูกปลดออกจากผังช่อง 9 ทำให้สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ของ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หยิบประเด็นรายการนี้มาศึกษาอย่างจริงจัง โดยสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการเมืองต่อประเด็นต่างๆ หลากหลายแง่มุมอย่างน่าสนใจ

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้จัดทำโครงการสำรวจภาคสนาม ขึ้นเมื่อวันที่ 12-16 พฤศจิกายน ในเชิงสำรวจ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่างสำหรับวิธีการวิจัย ใช้การสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวม และการสัมภาษณ์เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล

การสำรวจ มุงเน้นประเด็นหลัก เรื่อง การนำเสนอข่าวสารทางการเมืองและความคิดเห็นต่อรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร”โดยมีจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 1,282 ตัวอย่าง

คนกรุงเกือบ 1 ใน 3 เคยดูรายการ

ผลสำรวจความคิดเห็นต่อรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้ข้อสรุปที่เด่นๆ พบว่า คนกรุงเทพฯ เกือบ 1 ใน 3 เคยดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 พบว่า มีตัวอย่างร้อยละ 30.3 ที่เคยดูรายการฯจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,282 ตัวอย่าง

ผู้ชมร้อยละ 69 ชอบรายการ

ประชาชนที่เคยดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ร้อยละ68.7 ระบุว่า ชอบรายการนี้ โดยให้เหตุผลว่า รายการนี้ให้ความรู้ในเรื่องที่น่าสนใจ มีสาระ และมีประโยชน์ มีการวิจารณ์ได้ตรงไปตรงมา กล้าพูด มีความคิดเห็นที่เจาะลึกและตรงประเด็น เป็นต้น ขณะที่มีเพียงร้อยละ 8.3 ไม่ชอบ โดยให้เหตุผลว่า พูดแรงเกินไป วิจารณ์เกินไป ชอบเอาเบื้องสูงมาเล่นและให้ความคิดเห็นที่ไม่ดี เสนอข่าวไม่สร้างสรรค์ เป็นต้น โดยที่ร้อยละ 23.0 ไม่มีความเห็น

ผู้ชมร้อยละ 80 เชื่อเป็นรายการที่มีประโยชน์

เมื่อสอบถามถึงประโยชน์ในการนำเสนอข่าวสารในรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ คือร้อยละ79.7 ระบุว่า รายการนี้มีประโยชน์ มีเพียงร้อยละ4.4 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 15.9 ไม่มีความเห็น

ผู้ชมส่วนใหญ่เชื่อถือ “สนธิ ”

ผลการสำรวจวิจัยเอแบคโพลล์ยังพบอีกว่า ตัวอย่างร้อยละ56.0 ให้ความน่าเชื่อถือในตัว คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ มีเพียงร้อยละ8.4 ที่ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนร้อยละ 35.6 ไม่มีความเห็น

ส่วนใหญ่คัดค้าน “ปลด” เมืองไทยรายสัปดาห์

ในการสอบถามกลุ่มผู้ชมรายการต่อการปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ร้อยละ12.4 เห็นด้วยต่อการปลดครั้งนี้ แต่ร้อยละ 61.1 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 26.5 ไม่มีความเห็น

ผู้ชมส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีการจัด “เวทีสัญจร”

สำหรับการรับรู้/รับทราบการจัดรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ นอกสถานที่นั้น ร้อยละ35.7 ระบุว่า ทราบการจัดรายการนี้ ขณะที่ไม่ทราบมาก่อน (เพิ่งจะทราบ) และร้อยละ 3.0 ไม่แน่ใจ สำหรับตัวอย่างที่ทราบว่า มีการจัดรายการนี้มาก่อนร้อยละ 65.9 ระบุว่า เคยติดตามรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร โดยระบุช่องทางในการติดตาม ได้แก่ ชมทางทีวี/เคเบิล/ดาวเทียมช่อง News 1 ฟังทางวิทยุ ชมการจัดรายการสดนอกสถานที่ ดูจาก VCD และอ่าน/ดูจากอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ ในขณะที่ร้อยละ 34.1 ไม่เคยติดตาม

คนส่วนใหญ่สนใจอยากชมรายการต่อ

และเมื่อสอบถามตัวอย่างต่อความสนใจที่จะติดตามรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร พบว่า กลุ่มคนที่เคยชมรายการนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.9 มีความสนใจที่จะติดตามชมรายการนี้ต่อไป ร้อยละ 14.9 ไม่สนใจ และร้อยละ 18.2 ไม่มีความเห็น

ชาวบ้านไม่เห็นด้วยที่ “ทักษิณ” ฟ้อง “สนธิ”

สำหรับการรับทราบว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาท จากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล นั้น ตัวอย่างร้อยละ 30.3 ระบุว่า ทราบมาก่อน และร้อยละ 69.7 ไม่ทราบ (เพิ่งจะทราบ)

ในกลุ่มคนที่ทราบข่าวนี้ร้อยละ 18.2 เห็นด้วยที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องร้องเอาผิดกับ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล โดยให้เหตุผลว่า เป็นการดูหมิ่นอย่างรุนแรง/ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ให้ความคิดเห็นที่เกินความเป็นจริง เสนอข่าวแรงเกินไป จะได้ทราบข้อเท็จจริง เป็นต้น

ในขณะที่ร้อยละ 48.9 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต ควรยอมความกันได้ ทุกคนสามารถ ทุกคนสามารถวิจารณ์ผู้นำประเทศได้ รายการนี้มีประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นต้น และร้อยละ 32.9 ไม่มีความเห็น

ประเด็นการนำเสนอในรายการฯ ที่คนสนใจ

คณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างถึงประเด็นที่นำเสนอในรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร มีประเด็นที่น่าสนใจบ้าง ผลปรากฏว่า เรื่องที่น่าสนใจ 5 อันดับแรก ได้แก่ เบื้องหลังความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 51.6) อภิมหาโกงโครงการสุวรรณภูมิ (ร้อยละ 42.4) การคอร์รัปชั่นของคนใกล้ชิดรัฐบาล (ร้อยละ 31.8) เส้นสายอำนาจเครือญาติชินวัตร (ร้อยละ 26.0) และแปรรูปรัฐวิสาหกิจใครได้ประโยชน์ (ร้อยละ24.6)ตามลำดับ

ผลสำรวจ

• การดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9
เคยดู ร้อยละ 30.3
ไม่เคยดู ร้อยละ 69.7

• ความชอบรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ (เฉพาะคนที่เคยดูรายการนี้)
ชอบ ร้อยละ 68.7
ไม่ชอบ ร้อยละ 8.3
ไม่มีความเห็น ร้อยละ 23.0

• ประโยชน์ในการนำเสนอข่าวสารในรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ (เฉพาะบุคคลที่เคยดูรายการนี้)
เป็นประโยชน์ ร้อยละ 79.7
ไม่เป็นประโยชน์ ร้อยละ 4.4
ไม่มีความเห็น ร้อยละ 15.9

• ความน่าเชื่อถือในตัว คุณสนธิ ลิ้มทองคุณ ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ (เฉพาะบุคคลที่เคยดูรายการนี้)
เชื่อถือ ร้อยละ 56.0
ไม่เชื่อถือ ร้อยละ 8.4
ไม่มีความเห็น ร้อยละ 35.6

• ความคิดเห็นต่อการปลดรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 (เฉพาะบุคคลที่เคยดูรายการนี้)
เห็นด้วยที่มีการปลด ร้อยละ 12.4
ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 61.1
ไม่มีความเห็น ร้อยละ 26.5

• การรับทราบการจัดรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร (นอกสถานที่ ) (เฉพาะคนที่เคยดูรายการนี้)
ทราบมาก่อน ร้อยละ 35.7
ไม่ทราบมาก่อน (เพิ่งจะทราบ) ร้อยละ 61.3

• การติดตามรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร (นอกสถานที่) (เฉพาะคนที่รับทราบว่ามีการจัดรายการฯ นอกสถานที่)
เคยติดตาม ร้อยละ 65.9
ไม่เคยติดตาม ร้อยละ 34.1

หมายเหตุ : ช่องทางที่กลุ่มตัวอย่างติดตามรายการนี้ ได้แก่ ดูทางทีวี/เคเบิล/ดาวเทียมช่อง News 1 ฟังทางวิทยุ ชมการจัดรายการสดนอกสถานที่ ดูจาก VCD และอ่าน/ดูจากอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ

• ความสนใจที่จะติดตามรายการชมรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร”
(เฉพาะคนที่เคยดูรายการนี้ )
สนใจ ร้อยละ 66.9
ไม่สนใจ ร้อยละ 14.9
ไม่มีความเห็น ร้อยละ 18.2

• การรับทราบว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาท จากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด)
ทราบมาก่อน ร้อยละ 30.3
ไม่ทราบมาก่อน ร้อยละ 69.7

• ความคิดเห็นต่อการที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องเอาผิดจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล (ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด )
เห็นด้วยที่มีการฟ้องร้อง ร้อยละ 18.2
ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 48.9
ไม่มีความเห็น ร้อยละ 32.9

เฉพาะบุคคลที่ “ชอบ” รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ระบุเหตุผลเรียงตามลำดับดังนี้

เหตุผล
– ให้ความรู้ในเรื่องน่าสนใจ/มีสาระ/ มีประโยชน์ /ให้ข้อคิดดีๆ ร้อยละ 41.3
– วิจารณ์ได้ตรงไปตรงมา/พูดตรง/กล้าพูด ร้อยละ 34.1
– มีความคิดเห็นที่เจาะลึกและตรงประเด็น ร้อยละ 15.6
– นำเสนอเหตุการณ์ที่ทันสมัย ทันโลก ร้อยละ 9.0

เฉพาะบุคคลที่ไม่ “ไม่ชอบ” รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ระบุเหตุผลเรียงตามลำดับดังนี้
เหตุผล
– พูดแรงเกินไป /วิจารณ์แรงเกินไป ร้อยละ 58.9
– ชอบเอาเบื้องสูงมาเล่น ร้อยละ 20.6
– ให้ความคิดเห็นที่ไม่ดี /เสนอข่าวไม่สร้างสรรค์ ร้อยละ 17.6
– ไม่ได้มีโอกาสได้ดูเป็นประจำ ร้อยละ 2.9