“สังคมไทยมักจะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนถูกทำร้าย และเมื่อสื่อรายการทางทีวีถูกปิดกั้น ถูกถอดรายการคนทั่วไปจึงรู้สึกเห็นใจ คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) มากขึ้น สังเกตหลายๆ คนเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หนีจากเครือข่าย AIS มากขึ้น เพราะรู้สึกมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ และไม่พอใจที่สื่อถูกทำร้าย รวมทั้งสนใจรายการ หรือสิ่งที่นำเสนอในรายการด้วย” ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน อธิบายถึงเหตุผลประชาชนทั่วไปให้ความสนใจรายการเมือไทยรายสัปดาห์สัญจร
เขามองว่า ถ้าย้อนกลับไปประมาณ 4 ปีที่แล้ว พวกฮาร์ดคอร์ด้านการเมืองชอบวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะไม่ชอบรัฐบาลมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลทักษิณเข้ามาเป็นคณะรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ไม่มีเวทีและโอกาสในการแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็นไปก็ไม่ค่อยมีคนฟัง เพราะช่วงนั้นกระแสรัฐบาลแรง
แต่ช่วงหลังรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” โดย สนธิ (ลิ้มทองกุล) ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรุนแรงขึ้น จนเกิดกระแสความนิยมมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเนื้อหาในรายการได้พลาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พระราชอำนาจ ยิงทำให้คนอยากรู้อยากเห็น และหันมาสนใจรายการว่าเกิดอะไรขึ้น
เขามองว่า สนธิ มีวิธีการพูด และรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาดึงดูดใจให้มีผู้ชมมากขึ้น จากเดิมที่มีกลุ่มผู้ชมหลักที่สนใจเรื่องบ้านเมืองอยู่แล้ว แต่พอจังหวะที่รายการถูกปิด ยิ่งส่งผลให้ประชาชน หรือคนที่เฝ้าติดตามชมรายการเกิดความสงสัยมากขึ้น เพราะยิ่งปิดมากเท่าไหร่คนก็อยากรู้มากขึ้นเป็นทวีคูณ
จนต้องหาช่องทางใหม่ๆ อาทิ ซื้อจานดาวเทียม อินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถรับชมรายการได้ต่อเนื่อง แต่จานดาวเทียมมีการลงทุนค่อนข้างสูง ช่องทางอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมสูง และคนที่เฝ้าชมมีระดับความรู้ และศึกษาข้อมูลด้านการเมืองพอสมควร ส่งผลให้คนไทย โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ เริ่มตื่นตัว และหันมาสนใจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อมีรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” เป็นรายการสดคนจึงสนใจ และเข้ารับชม รับฟังเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกรณีรายการถูกถอดออกจากช่อง 9 อสมท ยิ่งทำให้คนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์ และรู้สึกเหมือนสื่อถูกปิดกั้น
“แม้ตอนนี้รัฐบาลจะคืนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ลงช่อง 9 ให้คุณสนธิ ผมเชื่อว่าคุณสนธิก็ไม่เอา เพราะว่าได้เลยช่วงที่ต้องการรายการคืนมาแล้ว ตอนนี้มีประเด็นและเรื่องให้คิดมากกว่าต้องการรายการคืนสู่จอ ซึ่งถ้าเอาก็จะมีคำถามกลับไปว่า คุณสนธิสู้มาทั้งหมดเพื่ออะไร พอได้รายการแล้วก็จบงั้นหรือ
ส่วนกรณีการถอดรายการก็เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ได้กระทำต่อสื่อ และถือว่าใช้อำนาจในการปิดกั้นสื่อ และตอนนี้ต้องมาดูกันว่ารัฐบาลจะแก้เกมอย่างไร”
นั่นอาจเป็นเหตุผลให้ปัจจุบันรัฐบาลลุกขึ้นมาฟ้อง และแจ้งความดำเนินคดีกับ 2 พิธีกร สนธิ ลิ้มทองกุล และ สโรชา พรอุดมศักดิ์ และทีมงาน “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” กรณีนำเสนอรายการหมิ่นประมาท และพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 อาทิ รัฐบาล ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนพระราชอำนาจ ส่งผลให้ขณะนี้มีคดีจำนวนมากที่ต้องใช้เวลาดำเนินคลีคลายอยู่หลายคดี (มากกว่า…..คดี) ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ สนธิ และทีมงานได้เตรียมตัว หรือหาข้อมูลมานำเสนอในรายการ แต่จะหมดเวลาไปกับการแก้คดีเป็นส่วนใหญ่
“หากสังเกตจากกรณีการแจ้งความ หรือฟ้องการดำเนินคดีส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ต่างจังหวัด ตรงนี้มีนัย เพราะว่ารัฐบาลต้องการดึงตัว หรือให้คุณสนธิถูกจับ หรือติดคุกอยู่ในต่างจังหวัด ลองคิดดูหากติดคุกในจังหวัดชายแดน หรือห่างจากรุงเทพฯ มากๆ ใครจะมาสนใจ กระแสความนิยมของประชาชนในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักคุณสนธิเท่าที่ควร แตกต่างจากคนในกรุงเทพฯ แทบทุกคนรู้จักคุณสนธิ”
ณ เวลานี้ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า “สถานการณ์จะจบลงเช่นไร หรือมีข้อยุติที่ดีที่สุด ตรงไหน แต่ในฐานะคนเป็นสื่อด้วยกัน ไม่เห็นด้วยที่รับบาลใช้อำนาจในทางที่ผิด ด้วยการปิดกั้นสื่อ และไม่ให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา”
หากพิจารณากรณีการปิดกั้นสื่อนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต เพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลมักใช้ “สื่อ” ที่มีอยู่ในมือหรือมองหาสื่อมาเป็นเครื่องมือสนับสนุน หรือโปรโมตการทำงานอยู่เป็นเรื่องปกติ อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ตรงนี้ชัดเจนเป็นสื่อของรัฐบาล จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะใช้ในการโปรโมตผลงานของตนเอง แต่หากมากเกินไปจนถึงขั้นปิดกั้นสื่อ หรือคุกคามสื่อย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และควรคืนสิทธิเสรีภาพให้สื่อ เพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
“สื่อมวลชน ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งตัวคุณสนธิเอง น่าจะมีโอกาสได้รับสิทธิเสรีภาพ และมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่ แต่สื่อๆ นั้น เช่นเดียวกัน คุณสนธิมีสิทธินำเสนอไปแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบต่อคำพูด หรือข้อมูลที่นำเสนอไป เพราะเป็นจรรยาบรรณในวิชาชีพที่สื่อควรมี”
ทั้งนี้สื่อมวลชนในปัจจุบัน ยุคที่รัฐบาลมีสื่อในมือ และใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง และชัดเจนกว่าในอดีต เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนเองควรมีกลวิธีในการป้องกันตัวเอง และต้องระมัดระวังเนื้อหา หรือข้อมูลในการนำเสนอข่าวให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อองค์กร หรือบุคคล รวมทั้งหน่วยงานของสื่อเอง
“ผมคิดว่าสื่อยุคนี้ หนังสือพิมพ์น่าจะมีความเป็นกลาง และถูกครอบงำน้อยที่สุด แต่สื่อหนังสือพิมพ์มักจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนน้อยกว่าสื่อทีวี เมื่อสื่อทีวีเห็นภาพและได้ยินการโต้ตอบได้ทันที แตกต่างจากหนังสือพิมพ์ที่มีกระบวนการนำเสนอ และรายละเอียดมากกว่า แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจเท่าที่ควร
เพราะฉะนั้นสื่อหนังสือพิมพ์เองจะต้องพัฒนารูปแบบการนำเสนอข่าว หรือพาดหัวข่าวให้หลีกเลี่ยงการโดนฟ้อง และใช้คำที่ลึกซึ้งแต่ดูดีมากกว่าในอดีต เพราะคำพูดดีๆ หลายคำช่วยสื่อข้อมูลได้ตรงใจ และได้ความหมายชัดเจนกว่าคำพูดแบบด่าทอ หรือเสียดสีหลายเท่า และสื่อเองก็ปลอดภัย”