ห้องสมุดแฟชั่น

ในที่สุดความฝันที่จะมีห้องสมุดเกี่ยวกับแฟชั่นของคนไทยก็เป็นจริงเสียที เมื่อ Fashion Trend Center (FTC) หรือศูนย์รวบรวมแนวโน้มแฟชั่นโลก เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ ชั้น 6 อาคาร The Office @Central World ที่ตั้งอยู่บนถนนสายแฟชั่นใจกลางกรุงเทพฯ

ด้วยความเป็นห้องสมุดที่รวบรวมเรื่องราวและแนวโน้มเกี่ยวกับแฟชั่น ดังนั้น “จีน่า” สนิทพิมพ์ เอกชัย ในฐานะผู้อำนวยการ FTC และเป็นดีไซเนอร์ที่เวียนว่ายอยู่ในแวดวงแฟชั่นมานานร่วม 20 ปี จึงเกิดความรู้สึกไม่อยากทำให้ห้องสมุดนี้ดูธรรมดาสามัญเหมือนห้องสมุดอื่นๆ

“เราอยากให้คนที่ออกมาจากลิฟต์รู้สึกว่า ห้องสมุดนี้เปรี้ยวเตะตาสมกับเป็นแหล่งนำเทรนด์แฟชั่น” จีน่าเล่าถึงที่มาของ Window Display เลียนแบบร้านขายเสื้อผ้า ซึ่งโชว์ให้เห็นภายในที่เป็นราวแขวนเสื้อที่ตัดเย็บด้วยพลาสติกใสหลากสีสัน กระตุ้นความตื่นเต้นและตื่นตัวให้กับผู้คนที่มายังศูนย์ฯ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

เคาน์เตอร์ต้อนรับ พร้อมกับผนังลายสามเหลี่ยมกระจายทั่วไปในศูนย์ฯ โดยจีน่าแฝงไว้ซึ่งสาร (message) ที่เธอต้องการตอกย้ำให้ทุกคนตระหนักว่า “ห้องสมุดนี้เกี่ยวโยงกับ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้นำรายได้ให้ประเทศไทยปีละกว่า 3 แสนล้านบาท”

สำหรับสไตล์การตกแต่ง ใช้สีขาวเป็นสื่อกลางที่เปิดทางให้กับสีสันบนหน้าปกของหนังสือแฟชั่นมาเป็นตัวประดับประดาและสร้างสีสันให้กับตัวศูนย์ฯ ซึ่งจะเปลี่ยนไปได้เรื่อยตามการจัดวางหนังสือที่จะหมุนเวียนมาตั้งโชว์อยู่บนชั้นหนังสือ ส่วนบรรยากาศรวมของศูนย์ฯ เธอคุมโทนให้ออกมาเป็นแนว “เรียบแต่เท่” อันเป็นสไตล์ดีไซน์ที่เธอชอบและถนัด

ขณะที่คอนเซ็ปต์ดีไซน์มาจากศักดิ์ชัย กาย ประธานที่ปรึกษา FTC ที่เดินทางไปดูห้องสมุดแฟชั่นและห้องสมุดประชาชนในเมืองที่เป็นมหานาครแฟชั่นทั่วโลก ซึ่งพบว่าห้องสมุดแฟชั่นในยุโรป โดยเฉพาะมิลานและปารีสจะเน้นให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน (feel like home) คือ สบาย เป็นกันเอง และไม่เคร่งเครียด อันเป็น “มู้ด” ที่ง่ายต่อการกระตุ้นแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ กลายเป็นที่มาของโซฟา daybed ในมุม Living Area และเก้าอี้รูปทรงง่ายๆ เรียบๆ แต่ดูเก๋

พื้นที่ว่างบริเวณเคาน์เตอร์ต้อนรับ ถูกใช้เป็น Exhibition Area ที่จะมีนิทรรศการนำเสนอคอลเลกชั่นซีซั่นใหม่ๆ ของดีไซเนอร์ทั้งคนไทยและต่างประเทศ หมุนเวียนมาโชว์ในแต่ละเดือน เพื่อแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ที่แฟชั่นที่กำลังมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทว่าไฮไลต์ของศูนย์ฯ แห่งนี้ตามความเห็นของจีน่าก็คือ “ข้อมูล” FTC ได้จัดหา Trend Book ซึ่งแต่ละเล่มราคากว่าแสนบาทจาก Nelly Rodi, Promostyl, Novoltex ซึ่งเป็นหน่วยงานรวบรวมเทรนด์แฟชั่นโลกในทุกรูปแบบทั้ง เทรนด์สี สิ่งทอ ผ้าถัก ชุดชั้นใน เสื้อผ้าสำเร็จรูป แพตเทิร์น เครื่องประดับ ฯลฯ มาให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงแฟชั่นไทยได้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยจะอัพเดตทุกๆ ซีซั่น

FTC ยังรวบรวมหนังสือที่เกี่ยวกับแฟชั่นดีไซน์ทั้ง 3 อุตสาหกรรม รวมทั้งภูมิหลังของแฟชั่นโลก การตลาดของธุรกิจแฟชั่น การถ่ายภาพแฟชั่น เทรนด์การแต่งหน้า ตลอดจนประวัติของดีไซเนอร์หรือแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ฯลฯ จีน่าย้ำว่า ครอบคลุมแวดวงแฟชั่นตั้งแต่ก่อนการผลิตถึงการขาย ซึ่งมีกว่า 600 เล่ม และยังมีนิตยสารแฟชั่นทั้งหัวในและหัวนอกอีกว่า 40 หัว

“พี่เองก็เป็นดีไซเนอร์ เคยฝันอยากให้เมืองไทยมีห้องสมุดแฟชั่น มีแหล่งที่มีข้อมูลและหนังสือดีๆ ให้เราได้นำไปใช้ พอได้มาทำตรงนี้เราก็เลยถ่ายทอดความรู้สึกในสิ่งที่เราอยากได้จากจุดยืนที่เป็นดีไซเนอร์ เพราะเราย่อมรู้ดีว่าคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต้องการอะไรบ้าง” จีน่าระบายความในใจในฐานะดีไซเนอร์

นอกจากนี้ FTC ยังมีโซน multimedia ที่มี VCD อัพเดตคอลเลกชั่นสดใหม่ล่าสุด จากรันเวย์แฟชั่นวีคเวทีสำคัญของโลกกว่า 200 โชว์มาให้ดูแบบส่วนตัวหรือกับเพื่อนฝูง โดยเลือกด้วยตัวเองผ่านทัชสกรีน ถัดกันไม่ไกลยังมีมุมอินเทอร์เน็ตให้บริการในการสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และยังมีห้องประชุมขนาดกลางเอาไว้ให้สมาชิกระดับพรีเมียมได้เปลี่ยนที่ประชุมหารือกับลูกทีม อีกด้วย

ความเก๋ของที่นี่อีกอย่างคงอยู่ที่การแบ่งระดับความเป็นสมาชิก ซึ่งแทนที่จะเป็น silver, gold หรือ platinum แต่ที่นี่เรียกว่า spring, summer, autumn และ winter โดยสมาชิกแต่ละระดับจะมีสิทธิแตกต่างกันไปเรียงตามลำดับ สีสันหน้าบัตรก็จะแสดงสัญลักษณ์ของฤดูกาลนั้นๆ (เพิ่มเติม www.fashiotrendcenter.com)

แม้ที่นี่อาจจะมีขนาดเล็กไปบ้าง แต่จีน่าก็ย้ำจุดยืน ความเป็นคลังข้อมูลด้านแฟชั่นได้อย่างน่าฟังว่า “จุดขายของ FTC ไม่ได้อยู่ที่ความเล็กหรือใหญ่แต่อยู่ที่ข้อมูล เพราะข้อมูลตรงนี้คือส่วนสำคัญที่จะทำดีไซเนอร์ไทยหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจแฟชั่นได้พัฒนา อันเป็นกลไกที่จะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแฟชั่นได้จริง”

Fashion Trend Center (FTC)

ศูนย์รวบรวมแนวโน้มแฟชั่นโลกเป็น 1 ใน 11 โครงการย่อยของโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม วัตถุประสงค์เป็นศูนย์กลางรวบรวมแนวโน้มแฟชั่นโลกทั้ง 3 อุตสาหกรรมแฟชั่น คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อเผยแพร่ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้ และเพื่อยกระดับความรู้ในการศึกษาแฟชั่น รวมทั้งสร้างศักยภาพในการพัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่นให้เทียบเท่าต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 42 ล้านบาท

โครงการนี้ สนิทพิมพ์ เอกชัย ประธานกรรมการบริษัท พิมพลัส พีอาร์ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ ทั้งนี้ FTC ใช้เงินลงทุนในการก่อตั้งและออกแบบประมาณ 10 ล้านบาท และ FTC มีอายุของศูนย์ถึงเดือน พ.ย. 2549 เท่านั้น จากนั้นรัฐบาลจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการศูนย์ฯ นี้ต่อไปหรือไม่