แฟชั่นเสื้อผ้าที่สวยงาม นอกจากจะเป็นเพราะดีไซน์และการตัดเย็บที่ดี ลายผ้าถือเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญในการทำให้ชุดนั้นๆ สมบูรณ์แบบสมดังจินตนาการของแฟชั่นดีไซเนอร์ หากพูดถึงแบรนด์ของผ้าทอที่มีลายผ้าโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์จนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย คงจะหนีไม่พ้น ผ้าจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่มาภายใต้แบรนด์ใหม่ชื่อ “Doi Tung by Mae Fah Laung”
ความชื่นชมในความงดงามของผ้าทอมือจากแม่ฟ้าหลวงนั้นจะเห็นได้จากการที่แบรนด์รองเท้าระดับโลกอย่าง Converse หรือ Krips แบรนด์กระเป๋าของ CP นำผ้าของแม่ฟ้าหลวงไปเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของตน รวมถึงห้างเอ็มโพเรียมและการบินไทยที่สั่งผ้าตกแต่งแบบเอ็กคลูซีฟจากแม่ฟ้าหลวงไปใช้ อีกทั้งยังมีบริษัทต่างประเทศอีกหลายแห่งที่เป็นลูกค้าประจำของแม่ฟ้าหลวง
“จุดเด่นของผ้าแม่ฟ้าหลวงเด่นคือ texture ซึ่งมีบุคลิก สไตล์และสีสันเฉพาะตัว เมื่อนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ก็ทำให้ look & feeling ของสินค้าโดดเด่นขึ้นมา แทนที่จะเป็น machine look ก็เป็นอารมณ์ handmade มากขึ้น” ศิวะพร ชมสุวรรณ ผู้บริหารระดับสูงแห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงบอกถึงที่มาในความนิยมผ้าของมูลนิธิฯ
เบื้องหลังลายผ้าที่สวยงามนั้นก็คือ ทีมออกแบบลายผ้า หรือ Textile Designer ซึ่งหนึ่งในทีม ได้แก่ “จารุพัชร อาชวะสมิต” หรือ อาจารย์ปุ๊ก แม้เธอจะเป็นหน้าใหม่ในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แต่ด้วยคุณวุฒิและความสามารถที่ประจักษ์ โปรเจกต์แรกของเธอจึงเป็น Big Project ของวงการแฟชั่นไทย นั่นคือ Bangkok Fashion Week 2005
“การทำงานของเราเรียกว่าเป็น make-to-order” อ.ปุ๊กเล่า โจทย์สำคัญในการออกแบบลายผ้าส่วนหนึ่งที่สำคัญมากจะมาจากทีมงานแฟชั่นดีไซเนอร์ ซึ่งมี “กฤษณ์ เย็นสุดใจ” หรือ อ.กฤษณ์ ผู้กำหนดโจทย์เบื้องต้นมาให้ โดยงานนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ Textile Designer ผลิตลวดลายและเนื้อผ้าเพื่อรองรับแรงบันดาลใจของ Fashion Designer อย่างแท้จริง
“ที่ผ่านๆ มา ทาง Textile Designer จะทำลายผ้าออกมาแล้วให้แฟชั่นดีไซเนอร์ไปคิดต่อว่าควรจะทำ item อะไร แต่ครั้งนี้ แฟชั่นดีไซเนอร์จะนึกภาพเสื้อผ้าในหัวคร่าวๆ แล้วบอกเลยว่าอยากได้สี ลุค เนื้อผ้า ลาย ให้ออกมาอย่างไร จะมีกี่ลาย วางลายตรงไหน ฯลฯ บอกมาเป็นแพ็กเกจว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง Textile Designer จะได้มองเห็นเหตุผลแล้วก็เอาไปคิดต่อเองว่า ลายผ้าควรจะเป็นยังไง”
เมื่อได้รับแพ็กเกจความต้องการจากแฟชั่นดีไซเนอร์ สิ่งที่ อ.ปุ๊ก ต้องทำต่อไปก็คือ คิดถึงโครงสร้างของเนื้อผ้าว่า ความยืดหยุ่นของผ้า ลายผ้าควรจะมีโครงสร้างอย่างไร ฯลฯ หลังจากการปรับกระบวนทัศน์ในการผลิตใหม่ ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า “ระบบการผลิตราบรื่นมาก และก่อเกิดผลดีทั้งสองฝ่าย เพราะ Textile Designer เองก็ยังมีอิสระในการออกแบบ ลูกค้าก็ได้ชุดที่เนื้อผ้าที่คล้อยตามแบบ ไม่ต้องฝืนหรือบังคับเนื้อผ้าให้ไปตามรูปทรงที่แฟชั่นดีไซเนอร์ต้องการ เสื้อผ้าชุดนั้นก็จะมี feeling ขึ้นมาเยอะ”
คอลเลกชั่น “From the Hands of the Hills” เป็นผลงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ Doi Tung by Mae Fah Laung ที่มีแรงบันดาลใจในการออกแบบจากความเข้มแข็งของผู้หญิงชาวไทยภูเขา โดย อ.ปุ๊ก ได้ถักทอความเป็นเมืองใส่ไว้ใน texture ของผ้าอย่างลงตัว ด้วยการใส่กระจุกแห่งความติดขัดซับซ้อนอยู่ที่ต่างๆ บนเนื้อผ้า รวมทั้งการตีภาพเมืองตอนกลางคืนออกมาเป็นลายบนผืนผ้า
ความขัดแย้งแต่ลงตัวนี้สะท้อนถึงปรัชญาของแบรนด์ Doi Tung by Mae Fah Laung อย่างหนักแน่น นั่นคือ เส้นทางเดินของผู้ผลิตที่เป็นชาวเขาซึ่งมาตอบรับความต้องการของคนเมือง ซึ่งทำให้คอลเลกชั่นนี้ได้รับความสนใจและการตอบรับอย่างดียิ่ง อันเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสามารถของดีไซเนอร์สาววัย 32 ปีคนนี้
อ.ปุ๊ก สำเร็จปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิชาเอกการออกแบบสิ่งทอ จากนั้นก็เป็นอาจารย์สอน Textile Design อยู่ 1 ปี จึงสอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะระบบกึ่งอุตสาหกรรมและการทอผ้าด้วยมือ ซึ่งเธอบอกว่าตรงกับแนวทางของแม่ฟ้าหลวง
จากนั้นก็ศึกษาต่อปริญญาเอกที่ เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ติน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยความหลงรักอยากทำงานแม่ฟ้าหลวง เธอเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการทอผ้าของชาวบ้านทางภาคเหนือของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน และเมื่อต้องมาสัมภาษณ์ อ.กฤษณ์ เธอจึงได้รับการทาบทามให้ร่วมงานที่แม่ฟ้าหลวงสมใจ พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับบทบาทและคุณสมบัติที่ดีของ Textile Designer อ.ปุ๊กสรุปเอาไว้ว่า “เราอยู่ตรงกลางระหว่างแฟชั่นดีไซเนอร์ ฝ่ายผลิต และการตลาด นอกจากจะตอบสนองแฟชั่นดีไซเนอร์แล้ว เราต้องดูด้วยว่าฝ่ายผลิตทำได้ไหม และต้องคำนึงถึงต้นทุนด้วย ดังนั้นเราต้องรู้จักรับฟังความจำเป็นของทุกฝ่าย แล้วต้องเอาความรู้ความสามารถของเราไปแก้ไขปัญหาของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ว่าเอาความอยากของเราอย่างเดียว”
สุดท้าย อ.ปุ๊กเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการออกแบบของเธอว่า “มันต้องออกมาจากหัวใจและสมอง ใช้ความรู้สึกของตัวเอง แต่ว่าความรู้สึกนั้นไม่ได้เกิดจาก nothing มันมาจากว่า ชีวิตเราไปไหนมา พบใคร เจออะไรมาบ้าง ประสบการณ์ชีวิตทั้งหมด และที่สำคัญคือ ความรักผ้า ทุกอย่างรวมตัวเป็นวัตถุดิบให้เราหยิบมาใช้ พอถึงภาวะตรงนั้น สมองก็จะประมวลมาว่า ตอนนั้นใจเราอยากได้ผ้าแบบไหน”
…อีกครั้งที่เราควรต้องจับตามองและเป็นกำลังใจให้กับพลังคลื่นลูกใหม่ที่รับอาสาเข้ามายกระดับผ้าทอมือและวงการแฟชั่นของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
Did You Know?
1. ปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงใช้กลยุทธ์ Single Brand คือใช้แบรนด์เดียวกับทุกสินค้า โดยใช้แบรนด์ “ดอยตุง” ทั้งหมด ดังนั้น สินค้าหัตถกรรมที่เคยใช้แบรนด์แม่ฟ้าหลวง ต่อไปนี้จึงถูกเปลี่ยนเป็น Doi Tung by Mae Fah Laung แทน
2. สินค้าแบรนด์ดอยตุงแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ เกษตรกรรม อาหาร สินค้าหัตถกรรม และการท่องเที่ยว
3. Origin ของแบรนด์ Doi Tung by Mae Fah Laung ก็คือ ธรรมชาติ ชาวเขา และ คาแร็กเตอร์ความเป็นผู้หญิง