ลอนดอนอาจเป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบและความเป็นต้นแบบ แต่ไม่มีหัวการค้าเท่าคู่แข่งอย่างนิวยอร์ก ปารีส และมิลาน
กรุงลอนดอนเป็นนครหลวงแห่งโลกของการออกแบบ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนการออกแบบที่จัดว่าอยู่ในชั้นเยี่ยมที่สุดของโลก เทรนด์แฟชั่นโลกในแต่ละปีมักจะเริ่มต้นจากลอนดอน แต่รายได้ของอุตสาหกรรมแฟชั่นในลอนดอนกลับมีมูลค่าเพียงแค่เศษเสี้ยวของนครหลวงแห่งแฟชั่นอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง
แม้ว่านักออกแบบของอังกฤษได้สร้างรายได้ 700 ล้านปอนด์ในปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าช่วงต้นทศวรรษ 1990 ถึง 10 เท่า แต่นับเป็นรายได้เพียงกระจิริดเท่านั้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับโลก 3 แห่งคือสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอิตาลี
อุตสาหกรรมแฟชั่นของมหานครนิวยอร์ก (ซึ่งเป็นเมืองที่ทำยอดขายสินค้าแฟชั่นได้มากที่สุดในสหรัฐฯ) ทำรายได้ถึง 12,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 6.5 พันล้านปอนด์ในปีที่แล้ว (แม้ฝรั่งเศสกับอิตาลีจะไม่มีตัวเลขรายได้ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่แน่นอนคือมากกว่าอังกฤษอย่างไม่เห็นฝุ่น)
อังกฤษไม่เคยขาดไร้นักออกแบบฝีมือเยี่ยม และผลงานแฟชั่นที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาสร้างความฮือฮาในวงการแฟชั่นของโลกอยู่เสมอ แต่พวกเขามักเป็นเจ้าของแบรนด์ขนาดเล็ก และหลายคนถูกขโมยตัวไปทำงานให้แก่แบรนด์ระดับยักษ์ในต่างประเทศ อย่างเช่น John Galliano ทำงานให้แก่ Dior, Alexander McQueen เคยทำงานให้ Gevenchy และ Stella McCartney อยู่กับ Chloe
แม้แต่แบรนด์ระดับยักษ์ของอังกฤษเองอย่างเช่น Vivienne Westwood, Paul Smit และ Burberry ยังมองข้ามงาน London Fashion Week และให้ความสำคัญกับงานสัปดาห์แฟชั่นที่นิวยอร์ก ปารีสและมิลานมากกว่า เช่นเดียวกับบรรดาผู้ซื้อและบรรณาธิการแฟชั่น ต่างก็เมินสัปดาห์แฟชั่นของลอนดอน
และไม่มีแบรนด์ของอังกฤษใดๆ เลย ยกเว้น Burberry ที่สามารถทำรายได้ถึงระดับพันล้านดอลลาร์แบบที่ Armani หรือ Ralph Lauren ทำได้
อังกฤษดูเหมือนจะชอบสร้างสรรค์นวัตกรรม แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นชุบมือเปิบไป จนร่ำรวยแซงหน้าเจ้าของความคิดไปเสียอีก
ทั้งๆ ที่มีกลุ่มลูกค้าที่จัดว่าร่ำรวยที่สุดและมีรสนิยมที่หรูหราที่สุดในโลก อยู่ในลอนดอนมากมาย แต่ดูเหมือนว่านักออกแบบของอังกฤษยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบาก มากกว่านักออกแบบในนครหลวงแห่งแฟชั่นของโลกอีก 3 แห่งข้างต้น
อังกฤษไม่เหมือนฝรั่งเศสหรืออิตาลี เพราะอังกฤษไม่เคยมีรากฐานของธุรกิจสินค้าหรูขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อตลาดมวลชน ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาหลายทศวรรษ ส่วนโรงเรียนสอนการออกแบบของอังกฤษก็เน้นเรื่องศิลปะมากกว่าธุรกิจ และผลิตนักออกแบบที่เป็นนักสร้างสรรค์ที่เฉียบคม มากกว่าจะเป็นนักธุรกิจที่หลักแหลม
ส่วนฐานการผลิตขนาดใหญ่นั้นต้องเรียกว่าแทบไม่มีอยู่เลยในอังกฤษ นอกจากนี้ยังไม่เคยมีตลาดมวลชนขนาดใหญ่ที่จะรองรับสินค้าหรูอีกด้วย และที่ไม่เหมือนนิวยอร์กก็คือ ลอนดอนไม่มีทักษะในการสร้างข่าวให้แก่สินค้าของตน ด้วยการบวกความบันเทิงเข้าไปในแฟชั่น เพื่อให้เป็นที่น่าดึงดูดใจของสื่อหรือผู้บริโภค
นิวยอร์กนั้นเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องแฟชั่นแนวสปอร์ต ซึ่งนิวยอร์กเป็นผู้ขายรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก แบรนด์ดังๆ ก็เช่น Donna Karan (เจ้าของคือ LVMH กลุ่มบริษัทสินค้าหรูที่ใหญ่ที่สุดในโลกของฝรั่งเศส) ในขณะที่นักออกแบบของนิวยอร์กจะคำนึงถึงความสะดวกและการใช้งานได้จริงในการออกแบบเสื้อผ้าหรือแฟชั่น แต่แฟชั่นของลอนดอนจะเน้นการนำเสนอความคิดใหม่ๆ มากกว่า
จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่ Rose Marie Bravo ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ได้กลายเป็นผู้สามารถจับ Burberry ผู้ผลิตเสื้อกันฝนของอังกฤษ มาขัดสีฉวีวรรณใหม่จนกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของอังกฤษ โดยผลิตสินค้าแฟชั่นหรูสำหรับตลาดมวลชน ตั้งแต่ร่มจนถึงกระเป๋า ซึ่งมีเอกลักษณ์คือลายตาหมากรุก
ความได้เปรียบเหนือลอนดอนที่สำคัญของนิวยอร์กคือ ด้านโครงสร้าง แบรนด์ดังของสหรัฐฯ มีตลาดขนาดใหญ่ในบ้านรองรับ มีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศอย่าง Neiman Marcus และ Saks Fifth Avenue ซึ่งขายสินค้าหรูหราให้แก่ตลาดมวลชน ในขณะที่อังกฤษไม่เคยมีร้านในลักษณะนี้ ในลอนดอน เสื้อผ้าแฟชั่นจะขายในร้านบูติกหรือในห้างอย่าง Harvey Nichols และ Selfridges เท่านั้น
และยิ่งนักออกแบบอังกฤษมีแต่แบรนด์ของตนเองที่มีขนาดเล็ก ก็ยิ่งยากที่จะสามารถเจาะเข้าไปในตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากอย่างตลาดสหรัฐฯได้ มีเพียง Paul Smith ที่เป็นแบรนด์อังกฤษหนึ่งในไม่กี่ราย ที่สามารถขายสินค้าได้ถึง 220 ล้านปอนด์ต่อปีในตลาดสหรัฐฯ
วงการออกแบบของอังกฤษยังคงตะขิดตะขวงใจที่จะพูดถึงธุรกิจกันอย่างเปิดเผย แม้ว่าสถาบันการออกแบบชั้นนำของอังกฤษคือ Central Saint Martins และ Royal College of Art จะได้รับการยกย่องว่าจัดอยู่ในกลุ่มโรงเรียนสอนการออกแบบที่ดีที่สุดในโลก แต่แทบไม่มีการสอนเรื่องธุรกิจเลย
ขณะที่โรงเรียนสอนออกแบบชั้นนำของนิวยอร์กอย่าง Fashion Institute of Technology (FIT) ซึ่งก่อตั้งในช่วงทศวรรษ 1940 โดยกลุ่มนักอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นทั้งโรงเรียนสอนธุรกิจพอๆกับสอนศิลปะ
แม้ฝรั่งเศสกับอิตาลีคู่แข่งอีกสองแห่งของอังกฤษซึ่งเป็นยุโรปเหมือนกัน จะมีความตะขิดตะขวงใจคล้ายกับอังกฤษอยู่บ้าง เกี่ยวกับการนำการค้ามาเกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่ทั้งสองก็ยังมีข้อได้เปรียบอังกฤษตรงที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้แบรนด์แฟชั่นดังๆ ของฝรั่งเศสและอิตาลีเกิดและเติบโตในระดับโลกได้
อิตาลียังมีข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ มีอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งเป็นของตนเอง ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดสิ่งทอจากตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีน
การที่ Carlo D’Amario กรรมการผู้จัดการใหญ่ชาวอิตาลีของ Vivienne Westwood สามารถทำให้แบรนด์แฟชั่นยี่ห้อดังของอังกฤษแบรนด์นี้ เติบโตจากศูนย์ขึ้นไปสู่ยอดขายระดับ 60 ล้านปอนด์ต่อปีได้นั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการที่เขาตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังอิตาลีในช่วงกลางทศวรรษ 1990 นั่นเอง
D’Amario ยังย้ายการโชว์ผลงานการออกแบบของห้องเสื้อ Vivienne Westwood จากลอนดอนไปยังปารีส ซึ่งมีทั้งผู้ซื้อและสื่อมวลชนจำนวนมากที่เดินทางร่วมงาน เสื้อผ้าที่นำออกแสดงที่ปารีสไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์มากเท่ากับที่ออกแบบในลอนดอน แม้กระทั่งไม่จำเป็นต้องเป็น “ของแท้” หมายถึงต้องผลิตในลอนดอนหรือปารีสด้วยซ้ำไป เดี๋ยวนี้ แบรนด์ดังๆ ของยุโรปจำนวนมากได้จ้างเอเชียผลิตสินค้าให้ รวมถึงแบรนด์ดังอย่าง Prada ก็กำลังจะเจริญรอยตาม
ในธุรกิจสินค้าหรูหรา สินค้าจะผลิตที่ไหนไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ประวัติความเป็นมาของแบรนด์ และการรับรู้ของลูกค้าที่มีต่อระดับความหรูหราของแบรนด์นั้น ว่าหรูพอที่จะทำให้ลูกค้าปรารถนาจะได้มาครอบครองด้วยความภาคภูมิใจหรือไม่ แต่ลอนดอนกลับไม่มีแบรนด์หรูที่เก่าแก่ ซึ่งเป็นที่นิยมมายาวนานเหมือนกับที่มีในปารีสหรือมิลาน
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีของอังกฤษคือ ในที่สุดผู้มีอำนาจก็เริ่มที่จะเห็นความสำคัญ ของการทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของตนทำรายได้ให้มากขึ้น จากผลงานการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ซึ่งมีทั้งความโดดเด่นและความเป็นต้นแบบเหนือกว่าใครๆ อยู่แล้ว
โดยทางการกรุงลอนดอนได้รับเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของอุตสาหกรรมแฟชั่น และได้เริ่มโครงการอย่างศูนย์ Centre for Fashion Enterprise โดยความร่วมมือกับ London College of Fashion ศูนย์แห่งนี้จะเป็นตัวกลางที่จะทำให้นักออกแบบฝีมือฉกาจของอังกฤษ ได้มาเจอกับแหล่งเงินทุน และการสนับสนุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งได้มีผู้จัดการฉลาดๆ สักคน ที่จะมาช่วยคอยดูแลในด้านธุรกิจให้แก่นักออกแบบที่ไม่มีหัวการค้า
ความจริงแล้ว ลอนดอนมีศักยภาพสูงมากที่จะสร้างแบรนด์แฟชั่นระดับยักษ์ได้ ลอนดอนนับเป็นเมืองหลวงของแฟชั่นที่สามารถสร้างแฟชั่นฮอตฮิตได้อย่างรวดเร็ว (เพราะมีการเลียนแบบสินค้าหรูในตลาดมวลชนอย่างรวดเร็วมาก) เมื่อร้านหรูอย่าง Topshop เปิดตัวแฟชั่นใหม่ ร้านอื่นๆ ก็จะเริ่มว่าจ้างนักออกแบบอังกฤษให้ออกแบบแฟชั่นไลน์พิเศษที่มีราคาถูกกว่าให้แก่พวกเขาทันที
นักออกแบบเองก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่นานมานี้ Jasper Conran นักออกแบบชื่อดังของอังกฤษ ที่ทำงานให้แก่ห้าง Debenhams, Waterford และ Wedgwood มานาน เพิ่งเปิดร้านใหญ่ของตนในย่าน Mayfair อันหรูหราของลอนดอน
Conran นับเป็นหนึ่งในนักออกแบบชื่อดังระดับโลกน้อยราย ที่ยังคงปักหลักอยู่ในลอนดอน อย่างไร
ก็ตาม ผู้จัดงาน London Fashion Week กำลังหวังจะเปลี่ยนแปลงความอาภัพของงานนี้ โดยเตรียมจะดึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แขนงอื่นๆ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ สื่อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักออกแบบชื่อดังทั้งหลาย ให้นำผลงานมาแสดงที่นี่
บรรณาธิการแฟชั่นของ Vogue ยังแนะนำให้ผู้จัดลดเวลาการจัดงานให้สั้นลงเพื่อให้งานกระชับขึ้น และกำหนดเวลาจัดงานให้ใกล้เคียงกับสัปดาห์แฟชั่นที่มิลานและปารีส เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานแฟชั่นทั้งสอง เดินทางต่อไปร่วมงานสัปดาห์แฟชั่นที่อังกฤษได้เลย
แต่การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมดในอุตสาหกรรมแฟชั่นของอังกฤษนี้ จะสามารถทำให้อังกฤษสร้างแบรนด์แฟชั่นหรูระดับยักษ์ใหญ่แบบ Armani ได้อย่างนั้นหรือ คำตอบอาจจะเป็น “ไม่”
นักออกแบบอังกฤษอาจต้องการเติบโต แต่แทบจะไม่มีใครเลยที่ฝันอยากจะเป็น Armani คนต่อไป แม้แต่ดีไซเนอร์ใหญ่อย่าง Conran ยังกล่าวติดตลกว่า เขาคงจะต้องทำงานหนักเกินไป หากอยากเป็น Armani คนที่สอง
ดังนั้น นักศึกษาจากทั่วโลกที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนออกแบบในลอนดอน ก็จะยังคงถูกฉกตัวไปโดยแบรนด์ใหญ่ๆ ของประเทศอื่นต่อไปตามเดิม ส่วนลอนดอนก็คงจะพอใจกับความเป็นต้นแบบทว่าโดดเดี่ยวของตนต่อไป
คนรวยมากขึ้นทุกวัน
สัดส่วนของคนรวยที่มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2004-2009 คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
อเมริกาเหนือ 8.4%
เอเชียแปซิฟิก6.9%
เฉลี่ยทั่วโลก 6.5%
ยุโรป 3.8%
เช่นเดียวกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของพวกเขา
มูลค่าทรัพย์สินรวมของคนรวยในแต่ละภูมิภาค (หน่วย : ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)