Minimalist ดีไซน์ยอดฮิต ของช้อปแบรนด์เนม

มาถึงวันนี้ หลายแบรนด์สินค้าโดยเฉพาะแบรนด์สินค้าแฟชั่น ต่างก็เล็งห็นความสำคัญของ Window display หรือการแต่งร้านมากขึ้น เพราะดิสเพลย์ของร้านนอกจากจะช่วยสะกดให้ลูกค้าหยุดดู และเดินเข้ามาในร้าน ยังถือเป็นอีกช่องทางในการโฆษณาและโปรโมตสินค้าที่มีพลัง และยังช่วยสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์อีกด้วย

“Adidas” เป็นแบรนด์หนึ่งที่ตระหนักความสำคัญของการแต่งร้าน เมื่อไม่นานมานี้ อาดิดาสทั่วโลกเริ่มทยอยปรับสาขาเป็นรูปแบบใหม่ ภายใต้นวัตกรรมดีไซน์ร้านที่มีคอนเซ็ปต์ว่า Sport Performance เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นกีฬาภายในร้านให้มากที่สุด โดยสาขาสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็น Flagship Store ของอาดิดาสในประเทศไทย ถือเป็นร้านที่ 20 ของโลกที่ปรับสู่รูปแบบใหม่

ร้านใหม่ของอาดิดาสดูเรียบง่าย แต่แฝงความเคร่งขรึมเอาจริงเอาจังด้วยผนังสีดำ โดยมีแถบไฟสีขาว 3 แถบที่เป็นโลโก้ของแบรนด์อาดิดาสพาดอยู่บนเพดาน เป็นเส้นนำสายตาผู้ชมเข้าไปสู่ภายในร้านที่มีตกแต่งแบบเรียบง่ายและโล่งโปร่งสบายตา ตามหลักการของแนวคิดแบบ “Minimalist” ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ดีไซน์ใหม่ที่ อาดิดาสเริ่มปรับใช้ทั่วโลก

“เราใช้คอนเซ็ปต์ Minimalist คือเน้นที่ความเรียบง่าย โล่งโปร่ง ไม่รก ความโดดเด่นจะได้อยู่ที่ตัวสินค้า” โรจนสิทธิ์ มีนิจสิน ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดของบริษัท อาดิดาส (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายเหตุผลเบื้องหลัง “มันก็คือหลักการ I and the Product คือ ถือเป็นช่วงเวลาที่ลูกค้ากับสินค้าจะได้สื่อสารกันจริงๆ โดยไม่มีโลโก้สะเปะสะปะ ไม่มีกราฟิกวุ่นวายมาดึงความสนใจออกไปจากสินค้า”

ขณะที่ร้าน CLUB21 ที่เอราวัณ แบงค็อก ก็เป็นอีกร้านที่นำเอาแนวคิดของ Minimalist มาใช้ตกแต่งร้าน นฐวรรณ คณิตทวีกุล ผู้จัดการแผนกสินค้า CLUB21 (Thailand) บอกเล่าความลงตัวในการนำสไตล์นี้มาประยุกต์ใช้ “เพราะสินค้าในร้านของเราทุกชิ้นมีรายละเอียดเยอะ และก็มีสีสันเยอะ ดีไซน์ร้านที่เรียบง่ายตามสไตล์ Minimalist จึงทำให้เมื่อดิสเพลย์แล้วสินค้าจะดูโดดเด่น”

ตรงข้ามกับร้านอาดิดาส สีขาวภายในร้าน CLUB21 ซึ่งตัดกับสีดำเรียบของเฟอร์นิเจอร์วางสินค้า บวกกับการลดทอนรายละเอียดของดีไซน์ร้านยิ่งขับให้ดีไซน์ของเสื้อผ้า และรายละเอียด (detail) บนตัวสินค้า ทั้งสีสันที่สดใส ผ้าพิมพ์ลายดอกไม้ หรือเลื่อมระยิบระยับ ฯลฯ เหล่านั้นดูโดดเด่นเด้งออกมา จนดึงดูดสายตาและเรียกร้องให้ลูกค้าต้องเดินตรงเข้าไปจับชม

ความเรียบง่ายถือเป็นกุญแจสำคัญของแนวคิด Minimalist ซึ่งความเรียบนี้เกิดจากการตัดทอนรายละเอียดส่วนเกินออก เช่น กราฟิก รูปภาพ ฯลฯ และวัสดุที่ถูกนิยมใช้ในสไตล์แบบนี้คือ วัสดุธรรมชาติ เช่น หิน ไม้ หรือปูนฉาบ เป็นต้น ส่วนรูปทรงที่นิยมคือ รูปทรงเรขาคณิต โดยเฉพาะสี่เหลี่ยม ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกนำมาใช้จะต้องทำงานได้หลากหลาย (multi-function) เพื่อประหยัดพื้นที่และลดชิ้นที่ไม่จำเป็นออกไป

จากเดิมที่เคยแบ่งโซนตามประเภทของสินค้า การจัดพื้นที่ในร้านอาดิดาสรูปแบบใหม่จะแบ่งโซนตามประเภทกีฬาแทน ผู้คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลก็มีโอกาสไปรวมตัวกันในมุมกีฬาฟุตบอล ส่วน CLUB21 แบ่งเป็นโซนผลงานของดีไซเนอร์แต่ละคน ดังนั้น ลูกค้าสไตล์เดียวกันก็มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ในมุมดีไซเนอร์คนโปรด ทว่าทั้ง 2 ร้านต่างก็ว่าง lay-out เป็นแนวสี่เหลี่ยมที่นำทางลูกค้าเข้าไปซึมซับกับสินค้าทุกชิ้นได้โดยง่าย

“ความโล่งทำให้ร้านดูไม่เบียดเสียด น่าเดิน และความโล่งยังทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ทุกจุด” โรจนสิทธิ์ เสริมแกมสรุป “การเข้าถึงสินค้าทุกชิ้นได้ง่าย ก็จะทำให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้าอย่างใกล้ชิด และได้ทดลองสินค้านั้น ซึ่งย่อมหมายถึงโอกาสในการขายของที่มากขึ้นด้วย”

จากเดิมที่คอนเซ็ปต์ Minimalist เคยแพร่หลายในแกลลอรี่แสดงผลงานศิลปะชั้นสูง ทั้งนี้เพราะการจัดดิสเพลย์ในแกลเลอรี่นั้นจะพยายามโยกความสนใจและนำความตื่นเต้นทั้งหมดให้ไปตกอยู่ที่ art work เพื่อให้ผลงานเหล่านั้นดูโดดเด่นดึงดูดและมีคุณค่า ดังนั้น เมื่อสินค้า “high-brand” หลายชิ้นก็ถูกมองเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ฝีมือและมีรายละเอียดให้ใส่ใจเยอะ ดิสเพลย์ตามแนวคิดของ Art Gallery จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้มากขึ้น

อันที่จริง Minimalist มีความเกี่ยวพันกับแฟชั่นระดับสูงอยู่ในหลายมุม หลายคนในวงการแฟชั่นเชื่อว่า สไตล์ลักษณะนี้จุดประกายไอเดียของแฟชั่นสไตล์ Avant-garde ซึ่งเป็นแฟชั่นที่มีความงามผสมผสานระหว่างความหรูและความทันสมัย ขณะที่ Bill Blass ดีไซเนอร์ชื่อดังจาก New York มองว่า “ความเรียบง่ายตามแบบ Minimalist นั้นถือเป็นจิตวิญญาณความหรูหราแห่งยุคสมัยใหม่ก็ว่าได้”

จุดเด่นอีกประการของสไตล์ Minimalist ยังอยู่ที่ฟังก์ชันการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุที่ใช้ในร้าน… เช่น ช่องสี่เหลี่ยมนับร้อยรอบผนังใน CLUB21 นั้น เอาไว้ปรับระดับและจำนวนของชั้นวางสินค้าให้เหมาะกับคอลเลกชั่นที่เข้ามา ม่านกระจกฝ้าบนรางเลื่อนไม่เพียงใช้เป็นฉาก ยังเป็นราวดิสเพลย์สินค้าได้ด้วย ผนังสีขาวหลังเคาน์เตอร์ถูกอุปโลกน์เป็นจอพลาสม่าฉายแฟชั่นล่าสุดจากรันเวย์ในต่างประเทศได้ด้วย

เฟอร์นิเจอร์ในร้านอาดิดาสก็มีคอนเซ็ปต์ความเป็น multi-functionality คล้ายกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ “กิมมิก” เล็กๆ น้อยๆ ที่อาดิดาสใส่ไว้ในอุปกรณ์แต่งร้าน เช่น ราวแขวนเสื้อผ้าจำลองมาจากบาร์ยกน้ำหนัก แท่นวางเท้านักวิ่งแข่งมาเป็นชั้นวางรองเท้า หรือห้องลองเสื้อที่จำลองมาจากห้องพักนักกีฬา ทำให้การปรับร้านครั้งนี้ไม่เพียงเพื่อนำเสนอความไม่หยุดนิ่งของอาดิดาส ยังช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำในร้านขายสินค้าด้านกีฬา

สำหรับ CLUB21 ที่มีจุดยืนเป็นร้านสินค้าแฟชั่น “high-brand” ที่จับลูกค้าไฮเอนด์ แค่สินค้าที่ดีและดีไซน์ร้านที่สวยงามอาจไม่พอ “อันดับแรก Window display จะสะกดให้ลูกค้าหยุดมองและเดินเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้ว การจัดร้านเป็นเรื่องสำคัญ ต้องสะอาดตา เป็นระเบียบ สวยงาม ซึ่งสไตล์ Minimalist สินค้ามันจะขายตัวเองอยู่แล้ว แต่ลูกค้าจะซื้อหรือไม่ สิ่งสำคัญยังอยู่ที่พนักงานและบริการด้วย” นฐวรรณ สรุปทิ้งท้าย

Did You Know?

จากาคำบอกเล่าของกูรูที่มีนามว่า John Pawson เขาเชื่อว่า คอนเซ็ปต์ Minimalist ได้รับอิทธิพลมาจากหลักแนวคิดแบบเซน (Zen) ของศาสนาพุทธ ที่มีสอนว่า “อย่ายึดติดวัตถุสิ่งของ” ซึ่งแนวคิด Minimalist น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในยุค 60s และยิ่งมาบูมมากขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มมองหาความสงบเรียบง่ายภายในจิตใจมากขึ้น วิถีชีวิตและแนวคิดแบบ Zen จึงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นผู้ดีและผู้มีการศึกษา

ทุกวันนี้ Minimalism ถูกมองว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสไตล์ที่มีความหรูหรา พร้อมกับยังเป็นอีกโมเดลของดีไซน์ Contemporary ที่ใช้ในการออกแบบภายในอีกด้วย

7 Common Things in Minimalist Style

1. ความเรียบง่ายของการจัดพื้นที่ เช่น Zoning ชัดเจน สะอาด ไม่รก และโปร่งโล่ง ฯลฯ
2. มีพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นส่วนต้อนรับ หรือ “welcoming area”
3. โครงสร้างของห้องหรือตึก และการจัดไฟ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ดีไซน์แบบนี้ดูตื่นเต้นขึ้น
4. เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้มักจะต้องทำหน้าที่ได้หลายอย่างพร้อมกัน หรือสามารถปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ และตัดทอนเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่จำเป็นออกไปจากร้าน
5. มักใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ เช่น หิน ไม้ โลหะ เป็นต้น
6. โทนสีขาว-ดำ-แดง มักมีบทบาทสำคัญในคอนเซ็ปต์ดีไซน์ลักษณะนี้
7. ดีไซน์ร้านแบบนี้มักจะมีผนังอย่างน้อยหนึ่งด้านเป็นกระจกหรือเป็นหน้าต่าง เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงภายในและสิ่งแวดล้อมภายนอกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ตามหลักการของเซน (Zen)