โฆษณาที่ใช้เด็กน้อยเป็นตัวเดินเรื่อง ดูจะมีให้เห็นกันจนชาชิน แต่สำหรับ 2 ค่ายผู้ให้บริการมือถืออันดับ 2 และ 3 ของเมืองไทยอย่าง DTAC และ True Move ดูจะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นความบังเอิญเหลือเกิน ที่ทั้ง 2 บริษัทใช้ Kids Power ในการสื่อสารกับผู้บริโภคเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์เท่านั้น DTAC ใช้เด็กๆ อาตี๋ อาหมวย หน้าตาจิ้มลิ้ม ชี้ชวนเกี่ยวกับโปรโมชั่นแคมเปญใหม่ ส่วน True Move ใช้เด็กนานาชาติ ช่างคิดสะกดคำ เป็นตัวบอกถึง key message สั้นของการรีแบรนด์จาก Orange เป็น True Move ความใส น่ารัก ของเด็กจะทำให้โฆษณาดูไม่น่าเบื่อ แม้จะดูซ้ำหลายครั้ง นี่คือความมั่นใจของทั้งทีมครีเอทีฟทั้ง TBWATHAILAND ที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับ True Move และ Y&R ที่ดูแล DTAC
True Move สดใหม่ = เด็กสดใส
ถึงเวลาคืนแบรนด์ให้กับทาง Orange อังกฤษเสียที หลังจากบริษัทแม่ถอนหุ้นคืนพักใหญ่ๆ การระดมสร้าง brand awareness และส่งแคมเปญการตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี การเปลี่ยนแบรนด์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยน brand characteristic อีกด้วย และเพื่อทำให้การสื่อสารภายใต้แบรนด์ True เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ sub brand อื่นๆ ของ True คือ True Online, True Money, True Lifestyle, True TV และล่าสุด True Move
อรวรรณ ดิษฐโยธิน Executive Creaitve Director บริษัท TBWATHAILAND บอกกับ POSITIONING ว่า โจทย์ที่ได้รับมา คือ ต้องประกาศและสร้าง brand awareness ไปในคราวเดียวกันว่าวันนี้ Orange เปลี่ยนเป็น True Move แล้ว และเป็น key message ที่สั้นๆ ต้องสื่อสารอย่างง่ายๆ แต่ต้องน่าสนใจให้คนรับรู้ได้และไม่น่าเบื่อ
Story board หลากหลายที่ทางทีมครีเอทีฟพยายามนำเสนอ ทั้งการเล่าเรื่องผ่านคนทำงาน คู่รัก หนุ่มสาว และวัยรุ่น แต่ในที่สุดบอร์ดที่ได้รับการอนุมัติจากลูกค้า คือ การเล่าเรื่องผ่านกลุ่มเด็กวัยซน
“โฆษณามักใช้ เด็ก สุนัข และความรัก เป็น key ในการเดินเรื่อง เราเลือกใช้เด็กเพราะ จะไม่ดูเป็นการยัดเยียดจนเกินไป และดูเป็นธรรมชาติ ดูได้ซ้ำๆ บ่อยๆ ไม่น่ารำคาญ”
“เราใช้เด็กหลากหลายเชื้อชาติ เสมือนหนึ่งตัวแทนความเป็นอินเตอร์ของ True Move และเรายังต้องการสื่อว่า เด็กไม่ว่าจะพูดภาษาอะไรเขามีความสดใสอยู่ในตัว”
Michael Warr ผู้กำกับจาก Film Factory คือผู้รับหน้าที่ในการถ่ายทอด TVC ชุด Kids นี้ให้ดูมีชีวิตชีวา อรวรณบอกว่า “คุณไมค์เป็นผู้กำกับที่มีมุมมองน่าสนใจ เขาถนัดในการทำหนัง simple ถ่ายทอดได้น่าสนใจ ทีมงานใช้กล้องถึง 2 ตัว จับภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กทำ โดยปล่อยให้เขาเล่นสนุกสนานไปทั้งวัน ซักพักให้เขาเปลี่ยนเสื้อเล่นเกมสะกดคำ ซึ่งเป็น execution ที่เรากำหนดไว้ แต่เราไม่ได้บอกให้เขาทำสีหน้า ท่าทาง สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏเป็นธรรมชาติของเขาจริงๆ”
นับจากนี้ เธอบอกว่าจะได้เห็นภาพยนตร์โฆษณาของ True Move ในภาพลักษณ์ใหม่ ที่ไม่เหลือเค้าความเป็น Orange ซึ่งถ่ายทอดผ่าน TVC ที่ดูอบอุ่น สีสันไม่จัดจ้าน และนี่เป็นความแตกต่างในเรื่องของความสด และดูกระฉับกระเฉง เท่ เปรี้ยว และมีสีสัน ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และสอดคล้องกับแบรนด์ True ซึ่งเป็นแบรนด์หลัก
“ใครๆ ก็รู้ Orange เปลี่ยนเป็น True Move”
เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างง่ายๆ จำลองฉากในโรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ถ่ายทำผ่านกล้อง 2 ตัว เพื่อช่วยจับภาพกลุ่มเด็กกว่า 20 ชีวิต ซึ่งวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน งานนี้ เป็นเอก รัตนเรือง เป็นตากล้องพิเศษอีกด้วย
เด็กน้อยหลากเชื้อชาติล้อมวงหาเสื้อที่มีตัวอักษรภาษาอังกฤษตามคำสั่งของคุณครู สะกดคำแรกว่า pencil หนูน้อย 6 คนหยิบเสื้อตัวอักษรและยืนเรียงแถวหน้ากระดานได้อย่างถูกต้อง
Credit | |
Title | Kids |
Product | True Move |
Advertiser | บริษัท ทรู คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) |
Advertising Agency | บริษัท ทีบีดับบลิวเอ ประเทศไทย |
Creative Team | อรวรรณ, โชคชัย, วรรณศักดิ์, วลิตา |
Production House | ฟิล์ม แฟคทอรี่ |
Director | Michael Warr |
Producer | ธนานุช |
หนูน้อยดีแทค “พี่ขาหนูมีความสุขมาขาย”
ขนกันมาเป็นกองทัพเลยทีเดียว สำหรับเด็ก Happy ที่แต่ละคนแย่งซีนกันอุตลุด แต่กลับเป็นภาพประทับใจใครหลายคน แม้จะสื่อสารผ่านเด็กแต่อารมณ์ขันๆ แบบดีแทค ที่มีเสมอต้นเสมอปลายสำหรับโฆษณาโปรโมชั่นแคมเปญแบบนี้ และนี่เป็นหนังเด็กเรื่องแรกของดีแทค
พยุงศักดิ์ จารุพันธ์ Creative Director จาก Y&R บอกกับ POSITIONING ว่า ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องแรก “มาร้องเพลงกัน” เกิดจากโจทย์ที่ได้มาจากทาง DTAC ที่ต้องการให้บอก message ว่าตระกูล happy มีอะไรบ้าง จึงเป็นการสรุปปลายปีว่าซิมต่างๆ ของ happy มีอะไร และชักชวนให้มาลองใช้กัน ก่อนหน้านั้นจะเป็นหนังแบบ by product
อาตี๋อาหมวย ตัวแทน happy family
“เด็กจะเป็นตัวแทนของคำว่าครอบครัวได้ชัดเจน เพราะธีมของมันคือ เป็น family และซิมกระปุก ซิมรุ่นเล็ก ชื่อของแต่ละซิมจะดูน่ารักและสื่อถึงความเป็นเด็กที่ร่าเริง สนุกได้ และที่ตัวแสดงเป็นเด็กตี๋ เด็กหมวย เพราะคิดว่าเป็นตัวแทนของคนไทยที่เราเห็นกันชัดๆ ผมไม่อยากให้มีเด็กฝรั่งมันจะเป็น multiculture เกินไป”
ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง “มาทำอาหารกัน” ออนแอร์ต่อจากเรื่องแรกไม่นานนักโดยยังคงใช้เด็กน้อยเช่นเดิม “เหมือนกับเป็นโมเมนตัม เรื่องแรกออกอากาศไป มีคนพูดถึงเยอะ ก็เลยคิดว่าใช้เป็นภาคต่อ จริงๆ แล้วก็อยู่ในแพลนเหมือนกัน เอาเด็กกลุ่มเดิมมาใช้เป็นภาคต่อ เป็นเรื่องของบุฟเฟ่ต์จึงครีเอตเป็นห้องครัวและเด็กๆ มาช่วยกันทำอาหาร สถานที่ถ่ายทำในสตูดิโอ โดย Matching Studio ใช้ตัวแสดงเป็นเด็ก 9 คน เป็นธรรมดาที่เด็กจะซน เราสั่งอะไรไม่ค่อยได้ แต่โชคดีเด็กที่คัดมาแสดงความสามารถอย่างเต็มที่”
ภาพยนตร์โฆษณาชุดแรกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเด็กๆ ที่ร่วมวงร้องเพลงเต้นรำกันอย่างมีความสุข เด็กแต่ละคนเป็นตัวแทนของซิมและบริการต่าง ๆ เชิญชวนให้ทุกคนลองเข้ามาเป็นครอบครัวแฮปปี้เพื่อจะได้มีความสุขเหล่านี้ด้วยกัน
ภาพยนตร์โฆษณาชุดต่อมา เป็นกลุ่มเด็กหญิงชาย รวมตัวกันอย่างกระตือรือร้นที่จะทำอาหารเหล่าหนูน้อยเข้าครัว ตั้งอกตั้งใจทำอาหารเป็นอย่างดี บ้างหั่นผัก บ้างม้วนแป้ง บ้างตอกไข่ เพื่อเป็นพ่อครัวมือใหม่ที่พร้อมจะเสิร์ฟอาหารให้ทุกคนได้รับความสุขและอิ่มกันถ้วนหน้านั่นก็คือ อาหารถูกใช้เป็นตัวแทนของ “แฮปปี้บุฟเฟ่ต์” โดยเน้นย้ำถึงคุณสมบัติของโปรโมชั่นแคมเปญนี้ว่า มีราคาค่าบริการเดือนละ 299 บาท และสามารถโทรเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องจ่ายเพิ่มตลอดตี 5 ถึง 5 โมงเย็น
Credit | |
Title | มาทำอาหารกัน, มาร้องเพลงกัน |
Product | แฮปปี้ บุฟเฟ่ต์ Length 30 วินาที |
Advertiser | บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) |
Advertising Agency | Y & R |
Creative Team | ตรง ตันติเวชกุล (Executive Creative Director) พยุงศักดิ์ จารุพันธ์ (Creative Director) นุวดี เกตุเรืองโรจน์ (Copy Writer) กมลทิพย์ ผอบทอง (Producer) |
Production House | Matching Studio |
Director | ชาญชัย ชวานนท์ |
เด็กเหมือนกัน เป็นเทรนด์นิยมหรือดักทางกันถูก
ทางด้าน True Move บอกว่าถ่ายทำเสร็จตั้งนานแล้วแต่เพิ่งออกอากศ ด้าน Happy จาก DTAC บอกว่า โชคดีที่ถ่ายเสร็จและออกอากาศก่อน แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละเรื่องก็มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป และจัดเป็น 2 ภาพยนตร์โฆษณาอารมณ์ดี ที่ดูแล้วแอบอมยิ้มในความสดใสของเด็กๆ ไม่ได้