SINGLAND

อะไรที่ทำให้ประเทศเล็กๆ ไม่มีแม้กระทั่ง “น้ำ” ใช้ เป็นของตัวเอง แต่สามารถสร้างตัวจนกลายเป็น สิงห์ทางเศรษฐกิจแห่งอาเซียน และกำลังก้าวไปสู่การเป็น “Global Player” แผ่อาณาจักรออกไปทั่วโลก โดยมี “ไทย” เป็น 1 เป้าหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ Network Management ทำให้การล่าอาณานิคมไร้พรมแดนยุคดิจิตอล ทรงพลานุภาพ ไร้เทียมทาน

กรณีของการซื้อหุ้น “ชินคอร์ปอเรชั่น” ของกลุ่มเทมาเส็ก ที่มีรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าของ ไม่ใช่กรณีแรกและกรณีสุดท้ายของการเทกโอเวอร์กิจการในไทยของ สิงคโปร์

เมื่อ “สิงคโปร์” เข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับหลายตระกูลธุรกิจของไทยมาเป็นเวลานาน คลื่นการลงทุนลูกใหญ่ระลอกแรกเกิดขึ้นในช่วงหลัง เมื่อไทยตกหลุมดำของวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ส่งผลให้แบงก์ไทย อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ รวมทั้งธุรกิจไอที เปิดทางให้กลุ่มทุนจากแดนลอดช่องเข้ามาเป็นเป็น “หุ้นส่วน”ทางธุรกิจ

เอาเฉพาะแค่ “ถนนสาทร” เส้นเดียว ก็สะท้อนถึงการรุกคืบของการไล่ล่าอาณานิคมของสิงคโปร์ ตั้งแต่หัวจรดท้ายถนน ไล่เลียงตั้งแต่ ธนาคารไปจนถึงโรงแรม คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ เกรดเอ ล้วนแต่มีสิงคโปร์ร่วมเป็นเจ้าของ

คลื่นการลงทุนของกลุ่มทุนสิงคโปร์ยังคงถาโถมเข้าสูไทยอีกระลอกใหญ่ เมื่อรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เปิดทางให้สิงคโปร์เข้ามาร่วมเส้นทางในการขยายเศรษฐกิจของไทย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การยึดเอาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์มาเป็นต้นแบบ

โครงการยักษ์ใหญ่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสอง เช่น การมาของ แคปปิตอลแลนด์ และกลุ่มที.ซี.ซี. แลนด์

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นของไทยมากกว่า 35 แห่ง ครอบคลุมเกือบทุกธุรกิจ ล้วนแต่ มี “สิงคโปร์” ถือหุ้นมากที่สุด 1 ใน 5 อันดับแรก เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการ “ล่าอาณานิคม” ของสิงคโปร์
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นผู้ล่า และดินแดนที่พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติตกอยู่ในฐานะผู้ถูกล่าอาณานิคม โดยมี “เศรษฐกิจ” เป็นเดิมพัน ของการไล่ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า …ที่นี่มีคำตอบ

11 Positioning “สิงคโปร์ อิงค์”

ถ้าจะวิเคราะห์ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศเล็กๆ ไม่มีแม้กระทั่ง “น้ำ” ใช้ เป็นของตัวเอง สามารถสร้างตัวจนกลายเป็น “ผู้เล่นระดับโลก” ต้องดูการกำหนด Positioning ที่ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างชาติสิงคโปร์ จนถึงปัจจุบัน

1. International Port ศูนย์กลางการขนส่ง
2. International Trade Center ศูนย์กลางการค้า
3. Regional Financial Center ศูนย์กลางด้านการเงิน
4. Tourist Center ศูนย์กลางการท่องเที่ยว
5. Energy Center ศูนย์กลางด้านพลังงาน
6. Healthcare Center ศูนย์กลางด้านสุขภาพ
7. Communication Center ศูนย์กลางด้านระบบสื่อสาร
8. Education Center ศูนย์กลางด้านการศึกษา
9. Global Citizen Center ศูนย์กลางด้านบุคลากรระดับโลก
10. Creative Industries
11. Urban Area การขยายพื้นที่อยู่อาศัย

จากประเทศที่เป็นเพียง “เกาะเล็กๆ” โอบล้อมไปด้วยทะเล ไม่มีแม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องสั่งซื้อ แม้กระทั่งน้ำดื่ม จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แต่สิงคโปร์แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง ด้วยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเน้นการส่งสินค้าออก (Exported Oriented Policy) พร้อมๆ ไปกับการจัดตั้งสถาบันการลงทุน และสะสมทุนขึ้นมา

จากข้อมูลในหนังสือเรื่อง “จีนโพ้นทะเล” ระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งสำนักงานการลงทุน บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ และบริษัทลงทุนร่วมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า บริษัทธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล เพิ่มขึ้นตลอดเวลา และรัฐบาลยังได้ทุ่มงบประมาณพัฒนากิจการท่าเรือ ท่าอากาศยาน โทรคมนาคม เพื่อให้สิงคโปร์ดำรงความเป็นศูนย์กลางของธุรกิจการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และของโลก

รัฐบาลสิงคโปร์ได้ใช้มาตรการจูงใจ และการยกเว้นภาษีต่างๆ เพื่อดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติทั่วโลกเข้ามาจัดตั้งสำนักงานจัดซื้อจัดหาสินค้าระหว่างประเทศ (International Procurement Oriented Office) เพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการจัดซื้อจัดหาสินค้าระหว่างประเทศ ของบรรษัทข้ามชาติในการได้มาทั้งสินค้าต้นน้ำ และปลายน้ำ ทั่วภูมิภาคเอเชีย

การเป็นศูนย์กลางทางการค้า หรือ “International Trade Center” เป็นศูนย์กลางการนำเข้าส่งออกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็น Positioning ที่สิงคโปร์กำหนดไว้ตั้งแต่แรกๆ ด้วยมาตรการที่สนับสนุน สามารถสร้างรายได้มหาศาลจากค่าธรรมเนียม ในการเป็นตัวกลางนำเข้าและส่งออกสินค้าในภูมิภาค

ธุรกิจนี้สร้างรายได้ให้กับสิงคโปร์อย่างมหาศาล เรียกได้ว่า มากกว่า 300% ของรายได้ประชาชาติ GDP

จากศูนย์กลางการค้า สิงคโปร์ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน หรือ Financial Center เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างข้อได้เปรียบให้กับสิงคโปร์อย่างมหาศาล จากการใช้เครือข่ายในบริษัทที่รัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าของ หรือมีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด หรือเรียกว่า Government-Link Companies : GLC และผ่านกองทุนต่างๆ รวมทั้งธนาคารยูโอบี ธนาคารดีบีเอส

ธนาคารยูโอบี และธนาคารดีบีเอส ไม่ได้วางตัวเองให้เป็นแบงก์ระดับภูมิภาค ด้วยขยายอาณาจักรการลงทุนไปในภูมิภาคเอเชีย เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในแบงก์ต่างๆ ทั่วเอเชีย รัฐบาลสิงคโปร์ยังวางตัวเองเป็นผู้เล่นในระดับ Global Player ด้วยการซื้อกิจการธนาคารแสตนดาร์ดชาเตอร์ดของอังกฤษ กลายเป็น “บิ๊กดีล” ที่มีมูลค่ามหาศาล แซงหน้าการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นของกลุ่มเทมาเส็ก เรียบร้อยโรงเรียนสิงคโปร์ไปแล้ว

นอกจากธุรกิจทั้ง 3 ประเภทจะเชื่อมโยง และเกื้อกูลต่อกันอย่างแยกไม่ออกแล้ว สิงคโปร์ยังแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ในธุรกิจการท่องเที่ยว จากข้อมูลกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ใช้สนับสนุนแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวสิงคโปร์ใน 10 ปีข้างหน้า ที่เรียกว่า Tourism Master Plan 2015 คาดหมายว่าจะมีนักท่องเทียวเพิ่มจาก 8 ล้านคน ในปี 2547 เป็น 17 ล้านคนในปี 2558 สร้างรายได้จาก 10 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์เป็น 30 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

และด้วยความที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกับประเทศอื่นๆ สิงคโปร์ชูความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาใช้เป็นจุดขายในการรณรงค์การท่องเที่ยว โครงการที่ใหญ่กว่านั้น คือ การนำเรื่อง “กาสิโน” มาเป็นจุดขาย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจสร้างบ่อนการพนันในรูปแบบของ Integrated Resort – IR ขึ้นมา 2 แห่ง บริเวณอ่าว Marina ใกล้กับย่านธุรกิจ อีกแห่งอยู่บนเกาะ Sentosa การก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2552

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาของบริษัท Merrill Lynch ระบุว่า บ่อนพนัน 2 แห่งจะสร้างรายได้ให้สิงคโปร์ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ 10%

สิงคโปร์ ยังใช้ความพร้อมในแง่การเป็น Hub การเงิน การค้า และการขนส่ง นำพาตัวเองไปสู่การเป็น Energy Center การเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ที่แม้แต่ไทยยังยึดราคาน้ำมันของสิงคโปร์ เป็นมาตรฐาน เพราะตลาดการค้าขายน้ำมันล่วงหน้าของสิงคโปร์ใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของตลาดการค้าของโลก คือ นิวยอร์ก ลอนดอน ดูไบ และสิงคโปร์

“การจะทำให้ความเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของสิงคโปร์สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ก็ต้องมีเรื่องของตลาดคอมมูนิตี้ เข้ามาเสริม เช่น น้ำมัน ยางพารา ดีบุก ทำให้สิงคโปร์ต้องขยายเข้าไปในจุดนี้” ดร.สมภพ ให้ความเห็น

หลายปีมานี้ สิงคโปร์ ทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการลงทุนทางด้านการแพทย์ Healthcare Center ให้ความสำคัญกับการวิจัย ไบโอเทคโนโลยี วิจัยเกี่ยวกับ DNA เพื่อสร้างความเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ โดยมีโครงการ Singapore Medicine ขึ้นมารองรับในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ต่างชาติเดินทางมารักษาพยาบาลที่สิงคโปร์ โดยมุ่งเน้นตลาด จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง

ข้อมูลจากกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ระบุว่า ในแต่ละปีมีต่างชาติเดินทางมารักษาพยาบาลที่สิงคโปร์ประมาณ 150,000 คน สิงคโปร์ วางเป้าหมายให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา (Global schoolhouse) โดยดึงสถาบันการศึกษาระดับโลกมาเปิดสาขา ในสิงคโปร์ ในจำนวนนี้มีตั้งแต่ Massachusetts Institute of Technology, University of Pennsylvania, University of Chicago, มหาวิทยาลัยวาเซดะ จากญี่ปุ่น ครอบคลุมหลักสูตรตั้งแต่บริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์

“สิงคโปร์ใช้วิธีการดึงเอาสถาบันการศึกษาต่างชาติระดับ Top Ten ของโลกมาเปิดสาขาที่ไทย อย่างกรณีของมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอพกิน เป็น 1 ใน Top 5 มหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญด้านแพทย์ศาสตร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางด้านสุขภาพ” ดร.สมภพ บอก

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ระบุว่า สิงคโปร์มีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 50,000 คน และตั้งเป้าว่า จำนวนของนักศึกษาต่างชาติจะเพิ่มขึ้นถึง 150,000 คน ช่วยสร้างงานให้ชาวสิงคโปร์ 20,000 ตำแหน่ง

ถ้าเมืองไทยมี ซิป้า เป็นหน่วยงาน ที่รัฐบาลไทยตั้งขึ้น เพื่อหวังจะผลักดันธุรกิจ แอนิเมชั่น สิงคโปร์ กลับทำมากกว่านั้น เพราะได้ควักเงิน 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ใช้เป็นงบประมาณระหว่างปี 2547-2552 พัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น แอนิเมชั่น

รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ดึงบริษัท Lucas Film ของ George Lucas ผู้กำกับที่โด่งดังมาจากหนังเรื่อง Star Wars เปิดโรงถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูน แอนิเมชั่น ที่สิงคโปร์ และเป็นแห่งแรกในเอเชีย เป็นโชว์เคสที่สะท้อนภาพการเปิดฉากรุกอย่างชัดเจน ล่าสุดได้จัดตั้งหน่วยงาน Multimedia Development Agency เป็นลักษณะกองทุนให้ยืมเงินแก่บริษัทที่ทำธุรกิจด้านแอนิเมชั่นในสิงคโปร์ ครอบคลุมทั้งด้านภาพยนตร์ และเกม ไปทำทุนในการทำธุรกิจ

ความพร้อมของสิงคโปร์ในเรื่องของเงินทุน บวกกับการมีโชว์เคสระดับฮอลลีวู้ดมาลงทุน ก็เพื่อสร้างความมั่นใจ ปูทางไปสู่การระดมผู้เชี่ยวชาญด้าน “แอนิเมชั่น” จากทั่วโลก เข้ามาทำงานที่สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ

ดูเหมือนว่าประเทศที่มีเนื้อที่เพียงแค่ 692.7 ตารางกิโลเมตร ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดต่อการสร้างดินแดนที่เรียกว่า Urban Area เมื่อสิงคโปร์ใช้วิธีขยายอาณาจักร ด้วยการกว้านซื้อหุ้นในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ผ่านกองทุน และยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์

เฉพาะแค่ถนนสาทรเส้นเดียว ก็ได้ชื่อว่ามีกลุ่มทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนมากที่สุดย่านหนึ่ง ครอบคลุม ตั้งแต่ ธนาคาร โรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ตลอดทั้งแนวถนน ไปจนถึงถนนสีลม (ดูตารางประกอบ)

แรงงานคุณภาพ

เมื่อมาพิจารณาถึงที่มา Positioning ทั้ง 11 ด้านของสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูก ทำให้สิงคโปร์ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิต กับประเทศเวียดนาม จีน และอินเดีย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าได้ สิงคโปร์จึงต้องสร้างอำนาจต่อรอง โดยมุ่งไปยังอุตสาหกรรมด้านบริการ และใช้คนที่มีการศึกษา มีความรู้อย่างดี หรือที่เรียกว่า Knowledge-Based Economy เช่น Healthcare Center, Education Center, Creative Industries และศูนย์การการบิน เป็นต้น

สิงคโปร์ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของคนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การปลูกฝัง “ภาษาอังกฤษ” ให้กับคนสิงคโปร์ โดยการให้มีการสอนภาษอังกฤษภาคบังคับ และเปลี่ยนไปใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนทั้งหมด รวมถึงในการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิค และวิชาชีพต่างๆ ก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง

ทำให้คนสิงคโปร์สามารถพูดได้หลายภาษา ซึ่งโยบายในการพัฒนาประเทศ ที่ “ลีกวนยู” ผลักดันมาตลอด และยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลาง “ Global Citizen Center” ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างให้ “คนสิงคโปร์” มีความสามารถเข้าไปลงทุนหรือทำงานได้ในทุกประเทศทั่วโลก

สิงคโปร์ อิงค์

ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบต่างๆ แม้กระทั่งน้ำดื่มจากต่างประเทศ ได้ใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเน้นการส่งออก ด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ โดยรัฐบาลเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ การลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วยตัวเอง

นอกเหนือจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก ควบคู่ไปกับการสร้างฐานภาษีรายได้อย่างจริงจังแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังผลักดันนโยบาย ที่เรียกว่า “นโยบาย สองขา” ผ่านการลงทุนในบรรษัทข้ามชาติ (Multi-National Corporations : MNCs) และบริษัทที่รัฐบาลสิงคโปร์ เป็นเจ้าของ หรือมีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด หรือเรียกว่า Government-Link Companies : GLCs ที่มีประมาณ 500 บริษัท

รัฐบาลยังอาศัยฐานกลุ่มทุนจีน ที่เป็นเจ้าของธนาคาร 3 แห่ง คือกลุ่ม UOB กลุ่ม OUB และกลุ่ม OCBC มีสถานภาพการเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของสิงคโปร์ในภูมิภาคนี้ ด้วยการปรับปรุงระบบการบริการ และใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ทันสมัยเหมือนธนาคารชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลก

ธนาคารดีบีเอส เข้าไปมีส่วนรวมในการค้าเงินตราระหว่างประเทศ ผ่านหน่วยปริวรรตเงินตราเอเชีย (The Asian Currency Unit : ACU) จากนั้นสิงคโปร์ก็กลายเป็นตลาดค้าพันธบัตรดอลลาร์เอเชีย ที่มีอัตราดอกเบี้ยหลากหลายรูปแบบ

กลุ่มธนาคารทั้ง 3 กลุ่ม เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ซึ่งการเติบโตของธนาคารทั้ง 3 กลุ่มคือดัชนีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี

เมื่อมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งจากการมีรัฐบาลเป็นหุ้นส่วนสำคัญ บวกกับการสะสมทุนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ได้กลายเป็น “จุดแข็ง”
ให้กับสิงคโปร์ในการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจในหลากหลายธุรกิจ

Network Management

สิงคโปร์ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีขนาด “เล็ก”ที่สุด และมีประชากรเพียงแค่ 4 ล้านคน ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ สภาพของประเทศเป็นรองไทยทุกๆ ด้าน แต่สิงคโปร์กลับกลายเป็นสิงห์ลำพอง เข้ามาลงทุน กลายเป็นเจ้าของกิจการมากมายในไทย

การเข้ามาลงทุนของสิงคโปร์ สะท้อนถึงทิศทางของประเทศสิงคโปร์ เชื่อมโยงกับ Positioning ของสิงคโปร์ ได้เป็นอย่างดี เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ Positioning ทั้ง 11 ด้านแล้ว ขณะเดียวกันก็เพื่อแข่งขันกับ “ฮ่องกง” คู่แข่งตัวกลั่นที่วิ่งไล่กวดกันมาตลอด

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สิงคโปร์ ต้องการแข่งขันกับ “ฮ่องกง” ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าอันดับ 3 ของโลก (นิวยอร์ก อันดับ 1 ลอนดอน อันดับ 2 ฮ่องกง อันดับ3 และโตเกียว เป็นอันดับ 4) และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย

แม้ว่าศูนย์กลางการขนส่งของสิงคโปร์จะเติบโตได้มาก แต่ก็ยังเป็นรอง “ฮ่องกง” ซึ่งถือเป็นเบอร์ 1 ของการเป็นศูนย์กลางด้านขนส่ง โดยมีปริมาณการขนส่ง 22 ล้านตู้ต่อวัน ในขณะที่สิงคโปร์มีอัตราการขนส่ง 19 ล้านตู้ต่อวัน

ขณะที่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของสิงคโปร์ก็ยังไม่โดดเด่นเท่ากับฮ่องกง สนามบิน “เชียก ไล ก๊อก” ของฮ่องกงติดอันดับ 1 ของสนามบินยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ส่วนสนามบิน “ชางงี” ของสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยเหตุนี้เอง สิงคโปร์ จึงก่อสร้างอาคารหลังที่สาม (Terminal 3) ของสนามบิน “ชางงี” มูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เสร็จในปี 2549

สิงคโปร์ จึงต้องการสู้กับฮ่องกง ด้วยการนำกลยุทธ์ Network Management มาใช้เป็น “คัมภีร์” บุกขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ เพื่อใช้เป็น “สปริงบอร์ด” ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายธุรกิจ ที่เป็น Positioning ของการเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ โดยที่ไทยเป็น 1 ในเป้าหมายของการสร้างเครือข่าย

การลงทุนในกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในโอเปอเรเตอร์มือถือของไทย ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการเป็นศูนย์กลางด้านโทรคมนาคมของสิงคโปร์ นอกจากไทยแล้ว สิงคโปร์ได้ซื้อหุ้นใน ออสเตรเลียเทเลคอม และมาเลเซียเทเลคอม

“เครือข่ายธุรกิจโทรคมนาคมของสิงคโปร์นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นฐานของบริการธนาคาร บริการการแพทย์ สายการบิน ที่จำเป็นต้องอาศัยเครือโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งก็ต้องมีเครือข่ายสื่อสารที่เชื่อมโยงกันได้มากที่สุด” ดร.สมภพ บอก

เช่นเดียวกับการลงทุนในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการเป็นเครือข่าย Health Care Center ของสิงคโปร์ และอยู่ในฐานะผู้ใช้รายใหญ่ของสิงคโปร์

“รัฐบาลสิงคโปร์ เขาใช้โรงพยาบาลในไทยเป็นเครือข่ายได้ อย่าง โรคบางชนิดที่รักษายาก หรือลูกค้ากระเป๋าหนัก ก็รักษาที่โรงพยาบาลสิงคโปร์ แต่ถ้าโรคธรรมดา หรือคนไข้มีรายได้ต่ำลงมา ก็ส่งมารักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และยังรองรับกับธุรกิจยา ซึ่งสิงคโปร์วางตัวเป็น Hub ทางด้านนี้”

ทำไมต้องไทย

ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ในขณะที่ทุกประเทศกำลังมุ่งการลงทุนไปที่ “จีน” แต่สิงคโปร์กลับเข้าไปสร้างบทบาทการลงทุนไม่ได้มาก ยิ่งเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีนมาตลอด อันผลมาจากผู้นำจีนในมลายาใกล้ชิดกับผู้นำจีนคอมมิวนิสต์มากกว่าสิงคโปร์ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนชาวจีนมากนัก

ใน “อินเดีย” ประเทศขนาดใหญ่ ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 เป็นเพราะความเข้มแข็งของรัฐบาลของอินเดียในการพัฒนาประเทศด้วยนโยบาย ของศูนย์กลางอุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ และ Call Center ที่อินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงหลายปี ทำให้สิงคโปร์ต้องปรับแผนใหม่หลังจากที่เคยวาง Positioning ในการเป็นศูนย์กลางด้านไอที

สำหรับ “ไทย” นอกจากจะมีทรัพยากรธรรมชาติ มีเครือข่ายธุรกิจที่ตรงกับยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์แล้ว การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐบาลสิงคโปร์มีมาตั้งแต่ 41 ปีที่แล้ว การเข้ามาลงทุนในไทยของสิงคโปร์มีมาต่อเนื่อง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่ง วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นโอกาสให้สิงคโปร์ เข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ ของไทย ตั้งแต่ธนาคาร ธุรกิจค้าส่ง

การลงทุนของสิงคโปร์ในไทยมาเกิดขึ้นอีกระลอกในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับรัฐบาลสิงคโปร์มาตั้งแต่สมัยยังทำธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ผ่านการถือหุ้นของสิงคโปร์เทเลคอมในกิจการสื่อสารของกลุ่มชิน (ดูเรื่องประกอบ)

เมื่อมาเป็นรัฐบาล มีการตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงนักวิชาการ และสื่อสารมวลชนว่า รัฐบาลทักษิณได้ดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง ที่เป็นการเดินตามรอยรัฐบาลสิงคโปร์ (อ่านล้อมกรอบ ไทยเปิดทาง และไทยก๊อบปี้สิงคโปร์ ประกอบ) หลายโครงการที่สิงคโปร์เข้ามาลงทุน เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

ดร.ภูวดล ให้ข้อสังเกตด้วยว่า การที่สิงคโปร์ขยายอาณานิคมเข้าสู่ไทย นอกจากต้องการเป็นศูนย์กลางการเติบโตแห่งเอเชียแล้ว ความไม่โปร่งใสของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และระบอบทุนนิยมแบบผูกขาดที่รัฐบาลไทยดำเนินอยู่ รวมทั้งการไม่มีกฎหมายเรื่องของการถือหุ้นแทน (Nominee) เจ้าของตัวจริง ซึ่งเปิดทางให้การเข้ามาลงทุนของสิงคโปร์ทำได้โดยง่าย

จุดอ่อนไทย

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวว่า การที่สิงคโปร์ผงาดขึ้นเป็นผู้เล่นระดับโลกได้ ก็เป็นเพราะการวาง Positioning ประเทศ ขณะที่ผู้นำไม่คอร์รัปชั่น บริหารประเทศในฐานะของ “ลูกจ้าง” ของประเทศ และการมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง

ในขณะที่ไทยยังการขาดฐานข้อมูลในการลงทุน ซึ่งถือเป็น “อาวุธลับ” ที่สำคัญ และปัญหาคอร์รัปชั่น และชุมชนชาวจีนในไทย ก็ไม่มีพลังมากเหมือนกับชุมชนชาวจีนในไต้หวัน ฮ่องกง ลอนดอน ทำให้กลุ่มทุนจากสิงคโปร์เข้ามา และสุดท้ายคือ ปัญหาการการคอร์รัปชั่น ล้วนแต่เป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้สิงคโปร์บุกขยายเข้ามาลงทุนในไทยได้โดยง่าย ไม่เหมือนกับบางประเทศ อย่าง อินเดีย มาเลเซีย

สิ่งที่คนไทยต้องแก้ไข คือ การสร้าง “วัฒนธรรมทางธุรกิจ”หรือ Business Culture ที่ต้องถูก “ยกเครื่อง” ขึ้นมาใหม่หมด ทั้งในเรื่องของ “ฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ” ถือเป็นอาวุธสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นโดยเร็ว