สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ…ขาใหญ่ เขมือบ ขาเล็ก

ดูผิวเผินเหมือนวงการหนังสือเมืองไทยจะคึกคักด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่นักอ่าน-นักเขียน บางคนมองว่าบรรยากาศร้อนแรงของงานหนังสือระดับประเทศทั้งสองครั้ง ในแต่ละปีที่ใหญ่ขึ้นจนล้นสถานที่ทั้งคนออกร้านและคนซื้อ คือความสำเร็จของวงการหนังสือไทยยุคใหม่

แต่ไม่ใช่ทั้งสิ้น… จากข้อมูลวงในชี้ว่า ถึงแม้ยอดจำหน่ายหนังสือและตัวงานมหกรรมโดยรวมทั้งโตขึ้นก็จริง แต่กลับเป็นการโตเฉพาะงาน ขายกันเฉพาะอีเวนต์ แต่สภาพจริงที่แฝงอยู่เบื้องหลังคือการสะท้อนความล้มเหลวของระบบจัดจำหน่ายหนังสือบ้านเราทุกวันนี้ที่กำลังมีปัญหาซับซ้อนหลายสาเหตุ จนบรรดาสำนักพิมพ์รายย่อยเมืองไทยกำลังเหลือลมหายใจที่แผ่วสั้นลงทุกที

ปัญหาหลักที่กำลังท้าทายกลายเป็นเรื่องของระบบเชนสโตร์ที่สวมหลายบทบาท หนังสือดารา-คนดังที่ตีตลาดและแย่งพื้นที่หนังสือแนวอื่น รวมทั้งขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทำให้สำนักพิมพ์เล็กที่ผลิตงานคุณภาพ หรือวิชาการ “สวนกระแส” กำลังเจอทางตัน ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนหนังสือที่ออกมากันจนล้นแผง ลำพังกระแสเห่อหนังสือคนดัง ก็ทำให้พื้นที่ในการวาง ไปจนถึงระยะการวางบนแผงหนังสือของสำนักพิมพ์เล็กๆ หดสั้นลงทุกที

*ทำไมต้องไปงานหนังสือแห่งชาติ*

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดต้นเดือนเมษาฯ และงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติในเดือนตุลาฯ ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีหลายสำนักพิมพ์เลือกที่จะวัดชะตาด้วยการเปิดตัวหนังสือปกใหม่ๆ หลายปกไปจนถึงหลายๆ สิบปก ในงานเหล่านี้ สำนักพิมพ์หลายแห่งยืนยันว่าเป็นการต่อลมหายใจสำคัญ และส่งผลดีทั้งในแง่การขายและการประชาสัมพันธ์ผลงานของสำนักพิมพ์

ผู้คนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะรอซื้อหนังสือในงานใหญ่สองสามงานในแต่ละปี เพราะสาเหตุที่ส่วนลดที่อาจได้รับมากกว่าการซื้อจากหน้าร้านปกติ ไปจนถึงการเดินเลือกและมีโอกาสพบหนังสือใหม่ๆ อีกมากที่แทบไม่ได้เห็นจากหน้าร้านเชนสโตร์ เช่น คอวรรณกรรม หรือหนังสือทางเลือกจำนวนมาก มีเทศกาลหนังสือเหล่านี้เป็นที่พึ่งหลัก เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เองก็ไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงภาพรวมจะดูยิ่งใหญ่ แต่การมาหาหนังสือทางเลือก หนังสือนอกกระแสที่นี่ หมายถึงระบบจัดจำหน่ายที่เป็นอยู่ไม่เอื้อกับการขายหนังสือมีสาระตามร้านหนังสือทั่วไปอย่างแท้จริง

“ตามร้านหนังสือมีแต่หนังสือดารา กับพิธีกรทีวี“ เจ้าของสำนักพิมพ์รายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อเพราะเกรงกระทบกับธุรกิจเผยกับ POSITIONING “บางเชนสโตร์ที่ขยายสาขาออกไปมากมาย มีเทรนพนักงานหน้าร้านน้อยมาก เด็กที่ขายก็ไม่รู้จักหนังสือเลย ที่รู้จักบ้างก็พวก หม่ำ เท่ง สรยุทธ พวกดารา ก็เลยเป็นว่าหนังสือที่โชว์เด่นๆ ในร้านมีแต่หนังสือคนดัง พวกที่เป็นนักเขียนจริงๆ ไม่ได้วางเลย”

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ระบบสายส่งยังไม่เอื้ออาทรกับใครที่ไม่มีสายป่านลงทุนยาวพอ พอเอาหนังสือพิมพ์ใหม่เข้าระบบสายส่งกว่าจะรู้ยอดก็ต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ หรือสายส่งบางรายกว่าจะรู้ยอดและได้เงินกลับมาก็ต้อง 4-6 เดือน ครั้นจะขอหนังสือคืนออกจากระบบก็ต้องรอเคลียร์กันถึง 3 เดือน บางรายอาจต้องรอถึง 6 เดือน แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่มีทุนทางใจมากแค่ไหน ก็คงยากที่จะผ่านพ้นโจทย์หินแบบนี้ได้ หากไม่มีทุนทางการเงินที่พอเพียง เพราะค่าพิมพ์ค่าจัดการรวมทั้งค่าตอบแทนนักเขียน-นักแปลกลับต้องจ่ายออกไปทุกเดือน

“เราไม่ว่าหรอกถ้ารอนานแล้วได้รู้ยอดจริงๆ ชัดๆ ว่าเล่มไหนขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ที่เป็นอยู่ไม่มีข้อมูลชัดเจนเลย ที่ขายได้ก็ไม่รู้ว่าขายได้ที่ไหน ขาดเท่าไหร่ จะได้วางแผนพิมพ์เพิ่มได้ ไอ้ที่ขายไม่ได้ก็ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน อยู่ในสต็อก หรืออยู่หน้าร้าน” เจ้าของสำนักพิมพ์รายเดิมวิจารณ์

ระบบสายส่งหนังสือเมืองไทยมีปัญหาเรื้อรังมานาน เพราะไม่มีใครรู้ชัดว่าสถานะของหนังสือแต่ละเล่มเป็นอย่างไร ส่งไปขายที่ไหน ยอดขายแต่ละเดือนเป็นเท่าไหร่ การส่งหนังสือกระจายไปทั่วเป็นเรื่องปกติ แต่ในหลายจุดกลับขายไม่ได้เลย ในขณะที่บางร้านมีลูกค้าสนใจถามถึงแต่ไม่มีหนังสือขายให้

ผลที่ตามมาก็คือมีวงจรอุบาทว์ขยายวงออกไป เพราะกว่าจะได้เม็ดเงินลงทุนคืนมาทั้งยากและนาน ถ้าไม่พับเสื่อไปก่อน ทางสำนักพิมพ์ก็ต้องหาทางหมุนเงินให้วิ่งทันดอกเบี้ยเงินกู้ด้วยการเลื่อนจ่ายค่าตอบแทนนักเขียนและนักแปลออกไป จากที่ได้น้อยอยู่แล้ว กลับเป็นยิ่งจ่ายช้าไปอีก

สถานการณ์ทุกวันนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะมีนักเขียนนักแปล หรือแม้แต่โรงพิมพ์ ถูกเบี้ยวหรือดองค่าตอบแทนผูกพันไปกันไปหลายราย เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้น นอกจากนี้บางรายที่คิดค่าตอบแทนตามจำนวนขายได้จริง ยิ่งเป็นปัญหาอีกเพราะในกรณีที่ขายดี ก็ไม่แน่ใจว่าสำนักพิมพ์จะแจ้งยอดตามจริงหรือไม่ ส่วนในรายที่ขายไม่ได้ ส่วนแบ่งค่าตอบแทนก็น้อยจนแทบไม่คุ้มค่าแรงงานที่ลงไป

“ตั้งแต่หนังสือออกมาได้ค่าตอบแทนแค่ 2 พันกว่าบาท เขียนกันสองคน แบ่งกันได้คนละพัน” นักเขียนอดีตนักข่าวรายหนึ่งเล่าประสบการณ์การพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ใหญ่ค่ายดังที่นักเขียนไม่รู้ยอดขายจริงๆ “เขาบอกว่าขายได้แค่นั้น”

ปัญหาซ้ำซ้อนพวกนี้ทำให้งานหนังสือที่มีสาระ หรืองานวิชาการหายไปจำนวนมาก เพราะความเสี่ยงสำนักพิมพ์สูง ร้านไม่เต็มใจวางเพราะขายหนังสือดารา-พิธีกรออกเร็วกว่า และคนเขียน-คนแปลถอดใจที่จะผลิตงานเพราะค่าตอบแทนน้อยเกินไป

*หนีเสือปะจรเข้ : ไม่ไปงานหนังสือก็เจอขาใหญ่เชนสโตร์*

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชนสโตร์ (Chain Store) ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหนังสือไทยไม่ว่าจะเป็นซีเอ็ดฯ นายอินทร์ (เครืออัมรินทร์) ดอกหญ้า มีบทบาทปลุกตลาดหนังสือเมืองไทยให้ขยายตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจลืมว่าแต่ละเครือต่างก็มีหลายบทบาทกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสายส่ง ร้านค้า และสำนักพิมพ์ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน

อย่างแรกคือ สายส่ง ที่ทำหน้าที่จัดส่งจัดจำหน่ายให้กับทุกๆ สำนักพิมพ์ที่ไม่ได้จัดจำหน่ายเอง เพราะค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ไม่ใช่น้อย นอกจากนี้การขาดทักษะและความเชี่ยวชาญ ตลอดถึงทุนและ Know How ก็ทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ เลือกที่จะไม่ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้เองอยู่แล้ว ปัญหาก็คือ สายส่งเมืองไทยสวมบทบาทร้านค้าและสำนักพิมพ์ไปด้วยในตัว ความลำเอียงมีหรือไม่ คงยากพิสูจน์ แต่เคยได้รับข้อมูลจากแฟรนไชส์หลายร้านว่าหากไม่ดันยอดของทางต้นสังกัดให้ อนาคตอาจจะไม่รุ่ง

นอกจากนี้ การผลิตหนังสือเองในฐานะสำนักพิมพ์ และการขายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ในฐานะเชนร้านหนังสือแล้ว คงไม่แปลกเลยที่หนังสือของแต่ละค่ายจะได้รับการผลักดันให้มีการโชว์และตำแหน่งที่ดีกว่า วางแผงนานกว่า สนับสนุนยอดขายได้มากกว่าหนังสือของค่ายอื่นๆ

และบ่อยครั้งที่เราจะได้ยินเสียงบ่นแบบน้อยใจนิดๆ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ ว่าแทบไม่เห็นหนังสือของตัวเองที่ไว้ใจให้จัดจำหน่าย และไม่มีใครรู้ว่าหายไปอยู่ไหน หรือไม่ก็วางเห็นแค่ “สันหนังสือ” ตามชั้นหนังสือหลังร้านที่ไม่สะดุดตาคน

ส่วนที่ไม่ประหลาดใจคือ เชนสโตร์ B2S ตามห้างเซ็นทรัลกลายเป็นร้านหนังสือที่วางหนังสือหลากหลายและจัดโชว์ดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะค่ายนี้สวมบทเป็นร้านหนังสืออย่างเดียว ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเหมือนเชนอื่นๆ

*บทบาทค่ายเล็กในงานหนังสือ “ไม่โดนก็เดี้ยง”*

สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ทำด้วยใจและความมุ่งหวังที่ดีอาจมีค่าจัดการที่น้อยกว่าค่ายใหญ่ได้ แต่ต้นทุนที่ไม่ต่างกันคือค่าพิมพ์ ค่าต้นฉบับ ฯลฯ ตีกันคร่าวๆ ต้นทุนในการผลิตพ็อกเกตบุ๊กขนาดมาตรฐานที่ขายๆ กันในตลาดที่พิมพ์กันที่ 2,000-3,000 เล่ม ก็ตกแสนกว่าๆ ไปจนถึงสองแสนบาท ไม่นับรวมค่าพีอาร์และอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกหากดูจำนวนสำนักพิมพ์ที่มีอยู่มากจะมีความเคลื่อนไหวจริงๆ พิมพ์อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีมีแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์

ทางออกสุดท้ายของค่ายหนังสือเล็กๆ คือต้องออกบูธในงาน และต้องขายให้ได้ ถึงจะมีเม็ดเงินหมุนเวียน เรียกว่าถ้าหนังสือที่เตรียมมาไม่โดนใจคนอ่าน ก็ต้องเดี้ยงไปตามระเบียบ

ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้งานหนังสือประจำปีจะเป็นโอกาสดีในการขาย แต่ ใช่ว่า สนพ. เล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะมีโอกาสจับจองพื้นที่ในเทศกาลหนังสือเหล่านี้ได้ เพราะตามกฎของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (http://www.pubat.or.th) นั้น ต้องเป็นสมาชิกมานานสองปีเป็นอย่างน้อย และต้องมีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ จึงจะมีโอกาสขอจับจองพื้นที่ในงานใหญ่ๆ แบบนี้ได้ ขณะที่สำนักพิมพ์ขาใหญ่ล็อก-จองพื้นที่ชิงชิ้นปลามันกันเป็นปกติ

“ค่ายใหญ่ก็ได้บูธที่ล็อกไว้ตำแหน่งดีๆ ทำยอดได้วันละเฉียดล้าน พวกรายเล็กก็ต้องมาลุ้นจับฉลากเลือกตำแหน่ง ถ้าจับได้ไม่ดี ยอดขายทั้งงานเฉียดแสนก็โชคดีมากแล้ว” แหล่งข่าวสำนักพิมพ์รายเดิมสรุปประเด็น “ถ้าคนอ่านหนังสือเมืองไทยอยากจะสนับสนุนรายย่อยให้อยู่กันได้ อยากให้ช่วยแวะไปบูธเล็กๆ บ้าง”