ชอบ Golf-Mike เพราะอะไร? …น่ารักดี ดูๆ แล้วก้อไม่หยิ่ง…เพราะว่ามีเสน่ห์ไง แถมยังมีความสามารถด้วย… เพราะกอล์ฟ-ไมค์เป็นกอล์ฟ-ไมค์ไงล่ะ เราถึงชอบ ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ ซักคำให้ลึกซึ้ง !!!!… นี่คือกระทู้ตั้งคำถามในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง กับคำตอบบางส่วนจากบรรดาสาวกที่คลั่งไคล้นักร้องคู่ ”ดูโอ” ค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ที่กำลังฮอตฮิตติดชาร์ตอยู่ในขณะนี้
Massage ดังกล่าวนอกจากสะท้อน Idol นักร้องรุ่นใหม่ที่ต้องมีทั้งหน้าตา… ความสามารถ… และเสน่ห์ ที่ผ่านกระบวนการหล่อหลอมโดยธรรมชาติ และสร้างสรรค์ผ่านระบบมืออาชีพ ยังสะท้อนนัยว่า “สินค้านี้ตอบโจทย์การตลาด” สอบผ่านแล้วระดับหนึ่ง
กอล์ฟ-ไมค์ ตอบโจทย์ Idol Potential
“เสน่ห์กอล์ฟ-ไมค์ที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ข้อแรก น่าจะเป็น ”หน้าตา” ที่มีแรงดึงดูดบางอย่างในตัว คล้ายๆ ญี่ปุ่น เพราะคนหน้าตาดีทำให้คนดูรู้สึกดี แต่หากหน้าตาไม่ค่อยดีก็ต้องมี “เสน่ห์” ข้อสอง บุคลิก โดยเฉพาะวิธีพูดที่เป็นกันเอง ไม่ถือตัว รวมถึงขี้เล่น ซึ่งไม่ได้ฝึกแต่มาจากตัวตนของเขาเอง” รัชต สมบัติไพบูลย์ชัย เอ็มดี ค่าย Maker Head ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ บอกกับทีมงาน POSITIONING
รัชต เล่าว่า สูตรในการสร้างศิลปินแต่ละคนแตกต่างกัน กรณีกอล์ฟ-ไมค์ จัดเป็นกลุ่ม “Idol Potential” เนื่องจากเป็นศิลปินที่มีศักยภาพ จุดเด่นคือหน้าตาดี และมีบุคลิกภาพดี ดังนั้นการสร้าง Value หลักจึงต้องมาจากจุดเด่นดังกล่าวนี้
“มันเหมือนการสร้างแบรนด์สินค้า คือ โจทย์หลักทำอย่างไรให้คนรู้จักว่า หน้าตา นิสัย บุคลิก กอล์ฟ-ไมค์เป็นอย่างไร เป็นการเอา “ตัวตน” ศิลปินออกไปให้คนรู้จักก่อนออกอัลบั้มเพลง เนื่องจากเป็นนักร้องกลุ่ม เน้นขาย Visual เป็นหลัก ไม่ได้ขาย Audio เหมือนกับบางคนที่จุดขายนำ คือเสียงร้อง วิธีการแรก คือ เปิดตัวกับสื่อ Media เน้นรายการทีวี และแมกกาซีน ที่มีทั้งสัมภาษณ์ ถ่ายรูป ตั้งแต่กลางปีราวตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นพฤศจิกายนจึงได้เอาเทปออกขาย ”
Asian Style Idol นักร้องยุคใหม่
ทัศนะคนวงการเพลง รัชตะมองว่า Idol นักร้องปัจจุบันมีจำนวนมาก แต่ที่ประสบความสำเร็จมักเป็น “ผู้ชาย” ที่ต้องมีหน้าตาดี ในแบบ J-Pop, K-Pop หรือที่เรียกว่า Asian Style เพราะมันเป็นเรื่อง Trend ของวัยรุ่นที่นิยม แต่ที่สำคัญต้องมี “เสน่ห์” ที่มาจากตัวตน
“เด็กวัยรุ่นไทยปัจจุบันนิยม Idol แบบนี้อยู่ แต่พัฒนาให้มีคาแร็กเตอร์ตัวเองชัดเจนคล้ายกับตลาดเพลงในญี่ปุ่น ใครที่ฟังเพลงร็อกก็จะลงลึกไปเลย ใครที่ชอบแนวเพลงป๊อป ก็ชอบแบบคลั่งไคล้ มีแฟชั่นสูง ซึ่งผู้ผลิตเพลงก็มีพัฒนางานตามนี้ มันเป็นกันทั่วโลกที่วงการเพลงต้องมี Marketing ที่เป็น Segmentation เด่นชัดขึ้น”
เช่นเดียวกับค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้สร้างศิลปินใหม่ รวมถึงกรณีกอล์ฟ-ไมค์ ได้ทำวิจัยวิจัยการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายคนฟังก่อน เลือกวางคาแร็กเตอร์ แนวเพลง “เราทำรีเสิร์ช เพราะไม่อยากคิดเอาเองว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันอาจไม่ใช่ก็ได้ และได้เจาะไปยังกลุ่ม Core Target เลยว่าเขาอยากได้นักร้องแบบไหน บุคลิก แนวเพลงเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการสำรวจเอาข้อมูลมากำหนดก่อนนำมา “ขยายผล” ต่อไป”
ภารกิจขยายผลได้ถูกส่งต่อไปยังต้นสังกัด ค่าย Maker Head ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ “ดึงเสน่ห์” ออกมาให้คนอื่นรับรู้และรู้สึก ทั้งในเรื่องหน้าตา วิธีพูด วิธีร้องเพลงในแต่ละเพลงก็มีส่วนไม่น้อย รวมไปถึง Content เพลง
“อย่างเสื้อผ้า ทรงผม และหน้าตาที่เป็นทุนเดิม สไตล์อาเซี่ยนแล้ว เรายังได้ผสมผสานทั้งรสนิยมส่วนตัวของทั้งคู่ที่ชอบแต่งตัว ทันสมัยกับ Trend แฟชั่นศิลปินที่กำลังเป็นที่นิยม และคาดว่ากลุ่มเป้าหมายหลักกอล์ฟ-ไมค์ ที่เป็นวัยรุ่นค่อนข้างเด็กอายุ 12-15 ปี ยอมรับสไตล์ เรื่องการแต่งตัว แฟชั่นสมัยใหม่ โดยพยายามให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งคน และสไตล์”
เอ็มดีคนเดิมบอกด้วยว่า “ค่าย Maker Head ทำหน้าที่เหมือน Agency ดูแลสินค้า ซึ่งศิลปินแตกต่างจากโปรดักส์ เพราะมีชีวิต มีความรู้สึก โจทย์หลักในการบริหารดูแลศิลปินระดับนี้ พี่เล็ก (บุษบา ดาวเรือง) ให้มาคือ ทำอย่างไรให้ศิลปินมีความสุข เพราะพื้นฐานงานบันเทิงคือ ทำให้คนมีความสุข มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
“ในฐานะต้นสังกัด ซึ่งคลุกคลีกับนักร้องโดยตรง ทำให้มีข้อมูลเชิงลึก ศิลปินเป็นคนอย่างไร มีนิสัย ข้อควรระวัง ในการสื่อสารให้กับทีม Artist Management หากศิลปินนั้นไปทำงานสายงานอื่นๆ ด้าน Dramatic อาทิ พรีเซ็นเตอร์โฆษณา เล่นละคร หรือแสดงโชว์ตามงานต่างๆ”
รัชตะยังบอกอีกว่า “งานผมเป็นแค่ส่วนหนึ่ง หรือเป็นเสมือนต้นน้ำ ซึ่งต้องทำให้ศิลปินมี Value และนำไปต่อยอด ซึ่งหากศิลปินสอบผ่าน มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็จะมี Window สร้างรายได้อื่นๆ อีกมาก สำหรับกอล์ฟ-ไมค์ขณะนี้ได้ออกคอนเสิร์ตครั้งแรก และยังเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาซึ่งได้เซ็นสัญญาแล้ว และภายในปีนี้คาดว่าจะมีผลงานด้านเล่นละครออกสู่สายตาแฟนๆ อีกด้วย”
อราทิส ต่อยอด-สร้างรายได้เพิ่ม
ไม่เพียงค่ายต้นสังกัด ซึ่งถือเป็นต้นน้ำในการสร้างความสำเร็จศิลปิน แต่ในระดับกลาง-ปลายน้ำ ยังมีหน่วยงานหนึ่งที่อดีตเป็นแค่แผนกหนึ่ง Supporting Unit อำนวยความสะดวก ดูแล ปกป้องผลประโยชน์ให้ศิลปินเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้มากนัก แต่ปัจจุบันได้ถูกยกระดับความสำคัญมากขึ้น เป็นองค์กรที่รู้จักกันดี “อราทิส” ทำหน้าที่ดูแลบริหารสิทธิของศิลปินแบบครบวงจร
“Positioning ใหม่อราทิส เป็นหน่วยงานเชิงรุก เพราะเราเชื่อว่า Individual Talent ของคนไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว โดยคนเดียวกันสามารถทำงานได้หลายอย่าง บางคนเป็นนักร้องที่เหมาะสำหรับการออกเทป บางคนเป็นนักร้องที่เหมาะกับการโชว์ตัวอย่างเดียว บางคนสามารถเป็นนักร้องแล้วยังไปเล่นละคร, MC, เล่นกีฬา ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถสร้างรายได้กับความสามารถของเขาได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ต้องมีกระบวนการวางแผน พัฒนาความสามารถก่อน เพื่อรองรับส่วนงานต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน เอ็มดี ให้ภาพ
เขาบอกว่าภารกิจหลัก คือ การใช้ประโยชน์จากมูลค่าสินทรัพย์ให้เกิดรายได้ (Utilize Asset) ซึ่งหมายถึง ศิลปินในสังกัดทั้งหมดสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและสังกัดผ่าน Window หรือช่องทางงานที่เป็นไปได้ แบ่งได้ 2 ทาง ได้แก่ Music และ Non Music (ดูตารางประกอบ Value Chain เส้นทางอาชีพศิลปิน)
“สำหรับศิลปินทั้ง 2 กลุ่ม Music และ Non Music (ซึ่งผ่านกระบวนการปั้นจนมีชื่อเสียงแล้ว) หากจะไป “ต่อยอดงานเพิ่มและรายได้” ในทุกช่องทางข้างต้น “อราทิส” จะเข้าไปดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด ตั้งแต่คิวงาน รายได้ ความเหมาะสม และผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครบวงจรแบบมืออาชีพ” เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย
อยากเป็น “ดาว” ทำอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องรู้เบื้องต้นว่า อยากเป็นนักร้อง ดารา หรือนางแบบ กรณีอยากเป็นนักร้องก่อน ควรเริ่มต้นจาก 3 วิธีการ ดังนี้
1.สมัครด้วยตัวเองกับค่ายที่ตนเองสนใจ โดยส่งรูปหรือผลงาน
2.หากมีการจัดการประกวดของค่ายๆ ใด ควรเข้าสมัครเพื่อเรียนรู้ หาประสบการณ์แต่เนิ่นๆ หากโชคดี ผลงานเข้าตากรรมการก็อาจถูกทาบทาม
3.ผ่านการติดต่อจากทีมงานที่เรียกว่า Scout หรือแมวมองนั่นเอง
สำหรับค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ขั้นตอนกลายเป็น “ดาวดวงใหม่” เกรียงไกร กาญจนะโภคิน เอ็มดี ค่ายอราทิส อธิบายโดยสรุปคร่าวๆ ดังนี้
– เริ่มต้นจาก หน่วยงานกลาง ทำหน้าที่เป็น “Casting Center” รวบรวมผู้สมัครทั่วไปทั้งสมัครด้วยตนเอง และจากแมวมองทาบทามให้มากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์เบื้องต้นที่กำหนด มีตั้งแต่หน้าตาดี บุคลิกดี หรือ มีความสามารถด้านการแสดง ร้องเพลง อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีหน้าที่คัดเลือก
– คัดเลือก เข้าสายงานที่สนใจและเหมาะสม ขั้นตอนจะมีบอร์ด 2 ชุด ได้แก่ ชุดแรก – Music Board ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารจากค่ายเพลงในสังกัดทั้งหมด มาคัดเลือกด้วยตัวเอง โดยพิจารณาตามคอนเซ็ปต์ศิลปิน แนวเพลงของตน ซึ่งมีทั้งศิลปินเดี่ยว คู่ และวงขนาดใหญ่
ชุดสอง – Non-Music Board เป็นคณะกรรมการที่มาจากหน่วยที่ไม่ใช่ค่ายเพลง อาจเป็นหน่วยงานวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ละคร งานอีเวนต์ สายงานโมเดลลิ่ง เพื่อคัดเลือกคนที่มีหน้าตา บุคลิก ความสามารถ ตรงกับสายงานตัวเอง
-เมื่อเข้าสู่สังกัดหน่วยงานนั้นๆ แล้ว หากเป็นนักร้องจะได้รับการเทรนนิ่งในทักษะที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ ฝึกออกเสียง ฝึกเต้น บุคลิกภาพ วิธีการวางตัว ฯลฯ หากไม่ใช่นักร้อง ก็ขึ้นอยู่กับอาชีพ ตัวอย่าง ถ้าหากเป็น นางแบบ นายแบบ, MC, ส่วนใหญ่จะเข้ารับการฝึกพื้นฐานทักษะเบื้องต้นให้แม่นยำ เพื่อพัฒนาไปสู่อาชีพ
Value Chain เส้นทางอาชีพศิลปิน
สายดนตรี (Music)
– นักร้อง (ศิลปินเดี่ยว, วง)
– ออกเทป, คอนเสิร์ต, MV
– ออกแสดงโชว์ตามที่ต่างๆ
– พรีเซ็นเตอร์โฆษณา
– ขายคาแร็กเตอร์ในสินค้าต่างๆ (Merchandise)
ไม่ใช่สายดนตรี (Non-music)
– นักแสดง, พิธีกร, MC
– นางแบบ, นางแบบ
– พรีเซ็นเตอร์โฆษณา
– Sport Entertainer (นักกีฬา)
– ขายคาแร็กเตอร์ในสินค้าต่างๆ (Merchandise)