Artist Management ไขสู่ประตูเงิน…ศิลปินไทย

นับเป็นปรากกฏการณ์ที่จับตาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับ “ธุรกิจบริหารศิลปิน หรือ อาร์ทิส แมเนจเม้นท์” ในเมืองไทย ที่กำลังกลายเป็น “แหล่งรายได้ใหม่” ของค่ายเพลง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่-อาร์เอส “ประกาศเดินหน้า” สร้างรายได้จากธุรกิจกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ที่กำลังปั้นแผนกเล็กๆ ดูแลศิลปิน มาเป็นธุรกิจแบบมืออาชีพ โดยมี “แอมต้า” คู่แข่งหน้าใหม่ ที่เตรียมปรับสู่ธุรกิจบริหารภาพลักษณ์ Image Consultant

ARATIS ประตูสู่ธุรกิจบันเทิงครบวงจร

“อราทิส” เป็นอีกค่ายหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวปรับโครงสร้างธุรกิจอาร์ทิส แมเนจเม้นท์ อย่างโดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะการที่แกรมมี่ซื้อหุ้นบริษัท อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ จำกัด ในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ในสัดส่วน 50% ได้มอบหมายให้ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้บริหารอินเด็กซ์เข้ามาคุมธุรกิจในอราทิส

ขณะเดียวกัน ยังได้ยุบรวม 3 บริษัทในเครือมาอยู่ในอราทิส ด้วย คือ บริษัท จี จูเนียร์ จำกัด คัดเลือกศิลปินเด็ก บริษัท จีเอ็มเอ็ม อาร์ทิสท์ แมเนจเมนท์ และคลับเอฟ เนื่องจากเป็นธุรกิจบริหารศิลปินเหมือนกัน

ส่งผลให้ อราทิสโมเดลใหม่ ภายใต้การนำของ MD คนใหม่บังเกิดขึ้น พร้อมทั้ง การวาง Positioning ใหม่

“อราทิสเดิมนั้นเป็นเสมือนร้านโชวห่วยที่มีแต่สินค้าเฉพาะนักร้องคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้มีสินค้าทุกรูปแบบ หรือเป็นซูเปอร์สโตร์ที่ลูกค้าเดินเข้ามามีสินค้าหลากหลาย และมีราคาตั้งแต่ถูก-แพงตามความต้องการ โดยมี 2 ไดเร็กชั่นได้แก่ 1. ผู้ซื้อ และ 2. ผู้เอาสินค้ามาให้ขาย เช่น เป็นนักแสดงที่มีความสามารถจากค่ายอื่นๆ หรือเป็นศิลปินอิสระที่อยากมีคนดูแลและจัดการสิทธิหรือภาพลักษณ์” เกรียงไกร บอก

ปัจจุบันอราทิสมีโปรดักส์ตั้งแต่ นักแสดง, MC, นางแบบ นายแบบระดับอินเตอร์เนชั่นแนล, ศิลปินนักกีฬาทั้งทุกประเภท ตั้งแต่กอล์ฟ ฟุตบอล โบว์ลิ่ง รวมถึงศิลปินประเภททักษะความสามารถด้านดนตรี อาทิ เดี่ยวเปียโน ออเคสตร้า โดยในอนาคตจะขยายเครือข่ายให้กว้างขวางครอบคลุมออกไปอีก

เป้าหมายอราทิส ภายใต้แนวคิดเกรียงไกรนั้น “ไม่ได้จำกัดเฉพาะศิลปินเพลงในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เท่านั้น แต่ยังขยายแอเรีย และกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขวางออกไป เพราะเราต้องการเป็น Gateway ของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ครบทุกรูปแบบ อนาคตเรายังมองกลุ่มคนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จในวงการอื่นๆ อาทิ วงการตลก รวมไปถึง Performer อื่น อาทิ แดนเซอร์ เพื่อให้ครบทุกเซ็กเมนต์เท่าที่ทำได้”

มาในปีนี้ อราทิสยังได้เตรียมเดินหน้าธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวทีมศิลปินนักกีฬา ซึ่งบริษัทได้ซุ่มพัฒนาทักษะกีฬาแก่ศิลปินนักร้องในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่หลายคน เพื่อมาแสดงความสามารถด้านกีฬา อาทิ ฟุตบอล โบว์ลิ่ง กอล์ฟ โดยร่วมกับสินค้าเป็นสปอนเซอร์หลัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเซ็นสัญญาและกำหนดการเปิดตัวสินค้า

ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายเครือข่ายงาน “International Model” ซึ่งเป็นกลุ่มนายแบบ นางแบบจากต่างประเทศ ที่อราทิสได้ดูแลบริหารงานไปสู่กลุ่มนางแบบ นายแบบ ลูกผสม ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดเพิ่มเป็น 50 คนจาก 25 คน ในระบบ On hand ซึ่งหมายถึง สามารถจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้นายแบบ นางแบบอาศัยอยู่ในเมืองไทยครบ 6 เดือน เพื่อรองรับความต้องการและเพิ่มความหลากหลายของโปรดักส์

R.S. PROMOTION ปั้นไอแอมสู้อราทิส

ขณะที่ธุรกิจ “อาร์ทิส แมเนจเม้นท์” ฟากค่ายอาร์เอส ซึ่งจัดเป็นคู่แข่งสำคัญในธุรกิจเพลงก็ได้เคลื่อนไหวรับมือเช่นกัน ด้วยการดึงมืออาชีพในวงการเอนเตอร์เทนเมนต์อย่าง “ประสงค์ รุ่งสมัยทอง” เข้ามาดูแลสายงานธุรกิจใหม่ นั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการ-บริหารศิลปิน สายงานธุรกิจ Image & Asset Management (IAM) ดูแลงานสร้างภาพลักษณ์องค์กร และศิลปิน รวมถึงสรรหาและสร้างสรรค์ศิลปินใหม่ๆ

“ธุรกิจอาร์ทิส แมเนจเม้นท์ เป็นเสมือนธุรกิจปลายน้ำ โดยธุรกิจต้นน้ำเป็นเพียงการผลิตเพลงแล้วออกจำหน่ายมีรายได้เพียงทางเดียว คือขายเพลงเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจอาร์ทิส แมเนจเม้นท์ เป็นการนำเอาเพลงและศิลปินมาแยกหารายได้ โดยเพลง เสียงร้อง สามารถเอาไปหารายได้ในเชิง Content Management อาจเอาไปจำหน่ายในรูป MP3, Download ในมือถือ ขณะที่ตัวศิลปินก็สามารถนำเอาไปออกโชว์แสดง เล่นละคร เดินแบบ ถ่ายแบบ และพรีเซ็นเตอร์โฆษณาจากชื่อเสียงของตนเอง” ประสงค์ รุ่งสมัยทอง ให้ทัศนะ

“อาร์ทิส แมเนจเม้นท์” แบบค่ายไอแอม เน้นศิลปินในวงการเพลงเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากอราทิส อย่างเห็นได้ชัด โดยไอแอมจัดแบบกลุ่มศิลปินหลักไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ศิลปินใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างเทรนนิ่ง แต่ยังไม่มีผลงานเพลงออกมา 2.ศิลปินที่เตรียมทำผลงาน ซึ่งกลุ่มนี้ผ่านการคัดเลือก ฝึกฝนเรียบร้อย แต่อยู่ระหว่างผลิตผลงาน 3.ศิลปินที่มีผลงานเพลงแล้ว ซึ่งจัดกลุ่มย่อยอีก 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรก ซูเปอร์สตาร์ อาทิ หนุ่ม-ศรราม, ฟิล์ม-รัชภูมิ และแดน-บีม กลุ่มสอง ทั่วไป

สำหรับแผนการรุกของธุรกิจ ประสงค์บอกว่า ตั้งเป้าที่จะขายลิขสิทธิ์ตัวศิลปินให้กับผู้ที่สนใจในการนำไปผลิตสินค้าต่างๆ ประมาณ 6-7 ศิลปิน โดยเน้นสินค้าประมาณ 16 กลุ่ม เช่น การ์ด เสื้อผ้า เครื่องเขียน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนแผนการโปรโมตสินค้าลิขสิทธิ์ของอาร์.เอส.ฯ นั้น ลูกค้าที่ซื้อลิขสิทธิ์ศิลปินอาร์.เอส.ฯ สามารถวางใจได้ เนื่องจากช่องทางการโปรโมตสินค้าของอาร์.เอส.ฯ นั้นครอบคลุมทุกสื่อ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ และการจัดแสดงสินค้าตามคอนเสิร์ตต่างๆ

“ในที่สุดเราได้เปิดตัว ด้วยการประเดิมงาน “ธุรกิจลิขสิทธิ์ในตัวศิลปิน หรือไลเซนซิ่ง” ด้วยการให้ลิขสิทธ์ในตัวศิลปินแก่เจ้าของสินค้าที่สนใจนำไปผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ โดยศิลปินกลุ่มแรกที่ทางอาร์.เอส.ฯ เปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการ คือ แดน–บีม”

“ผลิตภัณฑ์ที่สนใจซื้อลิขสิทธิ์แดน–บีมไปแล้วหลายราย เช่น คราวน์ นำไปผลิตสินค้าประเภทเซรามิกและเครื่องแก้ว โลตัส ผลิตเครื่องนอน ไทยวัฒนาพาณิช ผลิตกระดาษโน้ต มิกซี่คลับ ทำการดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆ ฮาร์ทบีทและพานาโซนิคทำโปรโมชั่นไลเซ่น และล่าสุด บริษัทจีเอ็มเอส อินเตอร์เทรด ผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า หมวก พวงกุญแจ เป็นต้น”

AMTAR ปรับกลยุทธ์ รุกที่ปรึกษาภาพลักษณ์

ทางด้าน AMTAR แอมต้า (Administration and Management of Thai Artist’s Rights) หรือ บริษัท บริหารจัดการสิทธิศิลปินไทย ที่แม้จะมาทีหลังทั้งสองค่าย แต่ก็สามารถปลุกอาร์สทิส แมแนจเม้นท์ให้เคลื่อนไหวอย่างคึกคัก

มาในปีนี้ หลังจากได้คีย์แมนมานั่งเป็นกรรมการ บริหารงานอีกคน “ฌาณฉลาด ทวีทรัพย์” ซึ่งเป็นผู้บริหารที่คร่ำหวอดให้วงการโมเดลลิ่งทั้งการปั้น ดูแลภาพลักษณ์คนดังของวงการมานานหลายสิบปี (อาทิ รวิชญ์ เทิดวงส์ (ปิ๊บ), ดอน ธีระธาดา (ดอน) นิธิ สมุทรโคจร (จ๊อบ), สุนิสา เจทท์ (วิกกี้), ดนัย สมุทรโคจร (แดน) และดอม เหตระกูล (ดอม) ได้ปรับกลยุทธ์สู่การเน้นกลุ่มที่ปรึกษาภาพลักษณ์ หรือ Image Consultant เป็นอันดับหนึ่ง

พร้อมทั้งยังเตรียมขยับขยายงานในส่วนนี้ให้กว้างขึ้น ด้วยการสร้างคนใหม่ขึ้นมาประดับวงการ โดยเฉพาะคนข่าว และคนดังด้านกีฬา (Sport Celebrity) ซึ่งจะมุ่งเน้นการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงระยะยาว เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาแผน “ปั้น” คนดังกลุ่มนี้ให้มากขึ้นในอนาคต จากเดิมที่แอมต้าศิลปินและสมาชิกแอมต้า มักถูกปั้นมาจากสังกัดหรือค่ายอื่นมาก่อน

“คอนเทนต์ใหม่ที่สร้างขึ้นเอง ทำให้สามารถทำงานได้ง่าย และวางแผนได้อย่างเป็นระบบ แต่ต้องอาศัยทั้งระยะเวลา 1-3 ปีในการทำงาน โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนว่า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแตกต่างจากคอนเทนต์อื่นในวงการเดียวกันมากน้อยแค่ไหน และสามารถพัฒนาไปถึงเป้าหมายได้เพียงใด” ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บอกถึงสาเหตุที่แอมต้าขยายงานใหม่

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่แอมต้าปั้นมาประดับวงการแล้ว ได้แก่ “แชมป์ พีรพล” ผู้ดำเนินรายการข่าวกีฬาให้กับช่อง 3 และ “สืบสกุล พันธุ์ดี” ทางช่อง 5 ส่วนคนดังด้านกีฬา ได้แก่ “บุญศักดิ์ พลสนะ” และในปี 2549 จะมีหน้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการปั้นอีก 30 คน

ในส่วนสายงาน Image Consultant หรือที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์นั้น ฌาณฉลาด บอสใหญ่อีกคนหนึ่ง อธิบายว่า ในปีนี้จะเน้นหนักมากขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้น อาทิ นักการตลาด นักธุรกิจ นักการเมือง ซึ่งสนใจให้ความสำคัญด้านภาพลักษณ์ในอาชีพตัวเอง
“ที่ปรึกษาภาพลักษณ์เป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย แต่มันมีความสำคัญที่ทำให้คนในอาชีพเดินไปสู่เป้าหมายที่ตนเองวางไว้อย่างมีระบบ มีเป้าหมาย และมีพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” ฌาณฉลาดกล่าว

เส้นทาง ต่อยอดสู่ดาวเจิดจรัส

Image Consult มีเป้าหมาย “ต่อยอด” บรรดาคนหลากหลายอาชีพ ทั้งดารา และไม่ใช่ดารา อาจเป็นคนมีชื่อเสียงจากวงการต่างๆ จากธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ สื่อ และทั่วไป ให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้แบบมืออาชีพหากเป็นดาราก็มุ่งไปสู่ดาวเจิดจรัสในอาชีพ “ The path through stardom”

“ลูกค้าเบื้องต้นส่วนมากมาจากกลุ่มที่แอมต้าเคยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายมาก่อน มีทั้งด้านองค์กร และบุคคลจากอาชีพ ดารา นักแสดง เจ้าของธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ หรือนักการตลาด และผู้ประกาศข่าวฟรีทีวี”

รูปแบบของที่ปรึกษาภาพลักษณ์ เน้นดูแลทั้งภาพลักษณ์ภายนอก ตั้งแต่เรื่องบุคลิกภาพ รูปร่างหน้าตา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าตา ทรงผม การแต่งตัว มารยาทการเข้าสังคม ทักษะการทำงานในอาชีพโดยตรง เพื่อให้บุคคลนั้นมีความเชื่อมั่น มีความสามารถ และสามารถอยู่ในอาชีพอย่างมีระบบ มีทิศทางชัดเจน ขณะเดียวกันก็มี “มูลค่าเพิ่ม” ในตัวเอง

“Image Consult ไม่ใช่แค่นักสร้างภาพลักษณ์ให้คนภายนอกดูดี แต่เป็นการ “ค้นหา” ตัวตนให้เจอแล้วนำมา “มุมที่เหมาะสม” ให้มากที่สุดและ “เกี่ยวเนื่อง” กับงานที่ทำ นัย คือ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่คนนั้นกำลังทำอยู่คืออะไร ต้องพัฒนามากหรือน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะให้คนในสังคมยอมรับว่าคุณทำงานในอาชีพได้ดี และยอมมอบความสำเร็จให้”

Tip บันได ไต่สู่ดาว

สำหรับกระบวนการ “ค้นหา-คัดสรร” ของแอมต้า ก่อนนำมาวางรูปแบบ Image Consult หรือคำแนะนำด้านภาพลักษณ์ มี 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1.ใช้เครื่องมือเชิงจิตวิทยา ซึ่งมาจากการพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับทีมที่ปรึกษาและบุคคลนั้น เพื่อทราบข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน ชีวิต ครอบครัว การศึกษา เพื่อน ทัศนคติต่อตัวเอง ต่ออาชีพเพื่อให้เกิดแง่คิดเชิงบวก

2.เพิ่มมูลค่า ในรูปแบบ ความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือบางคนมีอยู่แล้วในด้านความเชื่อมั่น แต่เพิ่มทำอย่างไรให้ออกมาแล้ว “พอดี” คนภายนอกเห็นคุณค่า

และ 3.สร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นการสร้างภาพจดจำสินค้า เปรียบเสมือนการสร้างชื่อให้ตราสินค้า

“ทุกอาชีพการใส่ Image Consult เหมือนกัน แต่การคลิก (Click ) ดึงเอาความสามารถ ตัวตนออกมาให้โดดเด่นในสายอาชีพขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ที่สำคัญต้องสามารถ “รับ-ปรับ-เสริม” ได้ทั้งบุคลิกภายนอกและทักษะความสามารถภายใน”

“กรณีผู้ประกาศข่าวใหม่ แชมป์-ช่อง 3 จัดอยู่ในขั้นตอนการสร้างแบรนด์ หลังจากที่ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะอาชีพ ทั้งผ่านกระบวนการจิตวิทยาและเพิ่มมูลค่าแล้ว โดยจะเน้นให้เขาทำงานที่โชว์ความสามารถพิเศษเสริมเพิ่มต่อเนื่องขึ้น เช่น เล่นกีฬา เป็นพิธีกรคู่รายการต่างๆ จากนั้นพัฒนาไปสู่ Celebrity โดยผ่านกระบวนการพีอาร์และออกสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นการเสริมแบรนด์ให้ “โดดเด่น” คนเห็นมากขึ้น และ “เกิดการจดจำ” ในที่สุด“ ฌาณฉลาดกล่าวในตอนท้าย

กลยุทธ์การตลาด ธุรกิจ Artist Management
ARATIS
Product นักร้อง, นักแสดง, นายแบบนางแบบ, MC, พรีเซ็นเตอร์
Positioning Gateway ของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ครบทุกรูปแบบ
Target
– บริษัทผลิตสินค้าทั่วไป
– เอเยนซี่โฆษณา
– โมเดลลิ่ง
– ค่ายละคร, ค่ายหนัง

IAM
Product นักร้อง ในเครืออาร์เอส โปรโมชั่นเป็นหลัก
Positioning บริหารจัดการสิทธิ และดูแลภาพลักษณ์ศิลปินเพลง
– นักร้องในเครืออาร์เอส
– สินค้าที่ต้องการใช้ศิลปินเพลงทำการตลาด โปรโมต หรือพีอาร์ สินค้า

AMTAR
Product นักแสดง ศิลปินมีชื่อเสียง นายแบบ นางแบบ, นักธุรกิจ, Celebrity, นักธุรกิจ, ผู้ประกาศข่าว
Positioning Content Provider ซึ่งมีศิลปิน ดารา นักแสดง Celebrity
Target
– นักแสดง ศิลปินมีชื่อเสียงนายแบบ นางแบบ
– นักธุรกิจ, Celebrity, นักธุรกิจที่อยากมีรายได้เพิ่ม และต้องการดูแลภาพลักษณ์

ที่มา POSITIONING รวบรวม