อาวุธร้ายใส่เกียร์ ของนิสสัน

การเปิดศึกรถยนต์ระดับ M Class ของค่ายนิสสัน ด้วยการนำ เทียน่า (TEANA) เข้ามาเขย่าตลาดรถ ต่อสู้กับคู่แข่งอย่าง โตโยต้า คัมรี่ และฮอนด้า แอคคอร์ด ดูเหมือนว่าสงครามนี้ไม่ธรรมดา เพราะในยุคนิสสันรีแบรนดิ้ง อาวุธและกลยุทธ์การวาง Positioning ของรถยนต์รุ่นนี้มีพลังและน่าจับตามองยิ่งนัก

1.ถ้านับจากช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา นิสสัน เทียน่า ถือเป็นโปรดักส์ใหม่ลำดับที่ห้าแล้ว ในยุคนิสสันรีแบรนดิ้งที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของนิสสันในสไตล์ทันสมัย และกระฉับกระเฉง

เทียน่า เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่นิสสันวาง Positioning ชัดเจนว่า จะพยายามเจาะเข้าถึงกลุ่มระดับผู้นำรุ่นใหม่ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่นิยมความหรูหรา มีระดับ ซึ่งถือเป็นรุ่นใหม่ระดับ 2300 ซีซี และ 2000 ซีซี ที่เปิดขึ้นมาชนอย่างจังกับค่ายรถเบอร์หนึ่งและสอง โตโยต้า คัมรี่ และฮอนด้า แอคคอร์ด

หากเมื่อหลายปีก่อน สงครามนี้สถานะของนิสสันอาจไม่ใช่คู่ต่อกรกับสองค่ายยักษ์นี้ แต่ยุคนี้นับตั้งแต่ค่าย “นิสสัน” เปลี่ยนมือจากกลุ่มสยามกลการของตระกูล “พรประภา” ไปสู่ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จึงดูมีแรง และมีทรัพยากรที่ทำให้ค่ายรถยักษ์ใหญ่ต้องหนาวๆ ร้อนๆ กัน

ยิ่ง นิสสัน เทียน่า มีรางวัล Car of the year 2006 ประเภทรถยนต์ขนาดกลาง ที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2500 ซีซี การันตี ทำให้คู่แข่งอย่างโตโยต้าและฮอนด้าต่างยอมรับว่า งานนี้ไม่ง่ายแน่ที่เข้ามาช่วงชิงตลาดรถยนต์ประเภทนี้

โดยเฉพาะการจัดอีเวนต์ทดสอบรถเทียน่า จากกรุงเทพฯ สู่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นความพยายามที่จะสื่อสื่อสารให้เด่นชัดว่า เทียน่ารุ่นนี้มีดีให้อวด และสามารถขย่มตลาดรถในระดับเดียวกันได้น่าเกรงขาม

2.สนามบินหัวหิน ถูกจำลองให้เป็นสถานที่ทดสอบสมรรถนะเทียน่า โดยโจทย์ของการทดสอบ คือ การใช้ระบบเบรกอย่างกะทันหัน และการเปลี่ยนช่องทาง หักโค้งอย่างฉับพลัน

ระบบเบรก ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ ในการเผชิญกับสถานการณ์ที่ฉุกเฉินต้องเหยียบเบรกอย่างกะทันหัน

เทียน่า มีระบบความปลอดภัยที่เรียกว่า Triple Safety มีระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti lock Break System) ป้องกันล้อล็อกตายเมื่อเบรกกะทันหัน มีระบบเบรกให้สมดุล EBD (Electronic Break-Force) ซึ่งจะช่วยการกระจายแรงเบรกไปยังล้อทั้งสี่ ยังมีระบบแบรก BA (Break Assist) ในกรณีที่ผู้ขับขี่อาจใช้แรงเหยียบแป้นเบรกได้ไม่แรงพอ

การทดสอบระบบเบรก ถูกทดสอบไปพร้อมๆ กับการทดสอบเปลี่ยนช่องทางหรือการหักโค้งในอัตราความเร็ว 120 กม./ชม.ขึ้นไป เพื่อทดสอบถึงการ Control Safety หรือระบบควบคุมเพื่อช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอย่างกะทันหัน และการทดสอบนี้จะมีการจัดวางกรวยยางเพื่อสมมุติให้เป็นสิ่งกีดขวาง เพื่อให้ผู้ทดสอบสามารถควบคุมรถยนต์ตามสถานการณ์ต่างๆ

ผลการทดสอบ พบว่า ระบบเบรกของเทียน่าสามารถทำงานอย่างได้มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่น่าทึ่งของเทียน่ารุ่นนี้คือการเปลี่ยนช่องทาง หรือการหักโค้งอย่างฉับพลัน สมรรถนะของรถสามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 การทดสอบนี้อยู่ในระดับ 9

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงความนุ่มนวล และอัตราการเร่ง รุ่น 2300 ซีซี มีความนุ่มนวล และมีอัตราการเร่ง ในขณะที่เพิ่มความเร็วได้เป็นอย่างดี แต่เทียน่ารุ่น 2000 ซีซี มีจุดที่สะเทือนหรือสั่นบ้างบางครั้ง ในขณะเหยียบอัตราเร่งเครื่อง ซึ่งการลองใช้อัตราเร่งสูงขึ้นบางขณะนั้นมีความอืดไปบ้าง

3. หากพิจารณาถึงรูปทรงภายนอกตัวรถ ในทัศนะของผู้ชอบรถทรงยุโรป เทียน่ารุ่นนี้นับว่าเด่นกว่าโตโยต้า คัมรี่ และฮอนด้า แอคคอร์ด โดยเฉพาะผู้ชอบสไตล์ของความหรูหรา ดูภูมิฐาน ซึ่งความเด่นสง่าเห็นได้ชัดจากมีกระจังหน้าแบบใหม่ 3 มิติ และกันชนด้านหน้าและท้ายที่ออกแบบอย่างกลมกลืน เพิ่มความหรูหราด้วยคิ้วโครเมียม มองด้วยภายนอกถือว่ามีดีไซน์ที่เหนือกว่าคัมรี่ และแอคคอร์ด นิดๆ

ในส่วนของการออกแบบภายใน แม้เทียน่าจะพยายามสื่อสารถึงความกว้างภายในประดุจดั่งห้องนั่งเล่น แต่ถ้ามองถึงอุปกรณ์ภายใน เทียน่าไม่มีอะไรเด่นมากนัก นอกจากความสวยงามของแผงประตูและลายไม้ ในขณะที่คัมรี่มีระบบเทคโนโลยี ระบบนำทาง Car Navigator หรือ GPS จากสัญญาณดาวเทียมแนะนำเส้นทาง และนำทางด้วยเสียงพูด ค้นหาสถานที่ต่างๆ ได้ นับเป็นจุดขายที่โตโยต้ามั่นใจว่าระบบนี้ทำให้คัมรี่รุ่นนี้เด่นกว่ารุ่นอื่นๆ

นอกจากนี้ สิ่งที่เทียน่ารุ่นนี้มีความทันสมัยและเป็นจุดขายที่นิสสันพยายามโปรโมต คือ ระบบกุญแจอัจฉริยะที่มีขนาดกะทัดรัด ง่ายต่อการพกพา สามารถควบคุมสวิตช์ทุกจุดของรถ โดยเฉพาะการสตาร์ทเครื่องยนต์รุ่นนี้ไม่ต้องใช้กุญแจ สตาร์ทเครื่องโดยการบิดปุ่มสามารถสตาร์ทเครื่องได้ทันที

…เปรียบเทียบแล้ว เทียน่า รถยนต์รุ่นใหม่ของนิสสัน เป็นอาวุธร้ายที่โตโยต้าและฮอนด้าต้องวางกลยุทธ์รับมือกันอย่างเต็มที่

นิสสัน เทียน่า
– กลุ่มเป้าหมาย คนทำงานรุ่นใหม่ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ชอบความหรูหรา
– เป้ายอดขาย 3,000 คัน ในปี 2549

กลยุทธ์
1. Experiential Markerting ผู้สนใจลองขับ ลองทดสอบรถได้
2. ปากต่อปาก ใช้ฐานลูกค้าเดิม ไปสู่ลูกค้าใหม่
3. จัดอีเวนต์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกแขนนง

เปรียบเทียบคู่แข่ง 3 รุ่น

ยี่ห้อ : นิสสัน เทียน่า
รุ่น : 2300 ซีซี และ 2000 ซีซี
ราคา(ล้านบาท) : 1,551,000 และ 1,211,000
จุดเด่น :
1. ระบบกุญแจอัจฉริยะ
2. ล้ออัลลอยด์ดีไซน์ใหม่
3. กระจังหน้าแบบใหม่ 3 มิติ

ยี่ห้อ : โตโยต้า คัมรี่
รุ่น : 2400 ซีซี และ 2000 ซีซี
ราคา(ล้านบาท) : 1,205,000- 1,605,000
จุดเด่น :
1. ระบบนำทาง GPS นำทางด้วยเสียงพูด
2. ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ
3. ระบบควบคุมเครื่องเสียงด้วยพวงมาลัย

ยี่ห้อ : ฮอนด้า แอคคอร์ด
รุ่น : 2400 ซีซี และ 2000 ซีซี
ราคา(ล้านบาท) : 1,473,000 และ 1,248,000
จุดเด่น :
1. ล้ออัลลอยด์
2. ระบบ VSA ควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง

ที่มา : POSITIONING รวบรวม