ทักษิณ ชินวัตร การเมืองแบบเบ็ดเสร็จ

ทักษิณ ชินวัตร ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้สร้างอิทธิพลด้านความคิด ความรู้สึก และด้านอื่นๆ ไว้อย่างรุนแรงกว้างขวางที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เส้นทางการเมืองของทักษิณเริ่มต้นอย่างธรรมดายิ่ง คือเป็นนักธุรกิจนายทุนอุดหนุนพรรคการเมืองที่ข้ามมา “เล่นเอง” ภายหลัง เริ่มจากเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ชูนโยบายแก้ปัญหาจราจรภายใน 6 เดือนจนเมื่อพรรคเหลือ 1 เสียงและหมดบทบาททางการเมืองไปก็ย้ายไปเป็นรองนายกฯในรัฐบาลพลเอกชวลิตก่อนยุคที่ประเทศไทยพบวิกฤตค่าเงินบาทลอยตัวไม่นานนัก

แต่หลังจากนั้นเขาก่อตั้งพรรคไทยรักไทยและความเป็นผู้ทรงอิทธิพลหลายๆ อย่างจึงฉายออกมาอย่างชัดเจน

ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้การตลาดนำการเมืองโดยโหมโฆษณานโยบายที่ทุ่มทุนวิจัยทางการตลาดมาแล้วว่าโดนใจคนส่วนใหญ่ ด้วยชื่อนโยบายและถ้อยคำที่กระชับเร้าใจไม่น่าเบื่อ ต่างจากสไตล์ของพรรคการเมืองไทยอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยความเข้าใจถึงนิสัยเบื่อเร็วทางการเมืองของคนไทยกับจุดอ่อนทางภาพลักษณ์ของพรรคคู่แข่ง ลีลาการพูด การปรากฏตัวของทักษิณยุคนั้นจึงนำเสนอความกล้าได้กล้าเสีย ผูกมัดตัวเองด้วยเด๊ดไลน์กับนโยบายประชานิยมเอาใจ “รากหญ้า” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ควบไปกับการโจมตีภาพความเชื่องช้าของคู่แข่งขณะนั้น ได้ผลโดนใจคนไทยจำนวนมากจนได้เป็นรัฐบาลด้วยเสียงมากพอที่จะมีอิทธิพลเหนือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

ภาพลักษณ์ความเป็นนักธุรกิจใหญ่มาก่อนถูกชูมาเป็นจุดขายเด่นของสินค้า สร้างอิทธิพลทางความคิดค่านิยมว่านักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศยุคใหม่ต้องเป็นประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาก่อน คิดแบบเถ้าแก่ “ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน”

และเขาเองก็คงความเป็นเถ้าแก่โดยโอนหุ้นกลุ่มชินให้ลูกๆ ถือครองตลอด 5 ปีแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานการแก้กฎหมายอย่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างของชาติกับของธุรกิจกลุ่มชิน

“ทักษิโนมิกส์” หรือการบริหารเศรษฐกิจแบบทักษิณ เดินเครื่องด้วยใช้การโหมใช้จ่ายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างรวดเร็ว เร่งเครื่องด้วยข่าวดีและเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ก้าวไกลที่รัฐโหมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจดี ส่งเสริมให้กู้ยืมไปลงทุนและใช้จ่ายต่างๆ เกิดการหมุนเวียนของเงิน

แรงผลักดันเบื้องหลังการทุ่มงบประมาณนี้เกิดขึ้นได้จากการขายรัฐวิสาหกิจและสาธารณูปโภคต่างๆ ผ่านกลไกตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องหลายหน่วยงาน ที่นอกจากจะได้รายได้เข้ารัฐแล้วยังกระตุ้นตลาดหุ้นได้มาก ด้วยอิทธิพลทางความคิดที่รัฐบาลปลูกฝังว่ายิ่งมูลค่าตลาด (Market cap.) ยิ่งสูงยิ่งดี

เสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นยากจะเล็ดลอดผ่านอิทธิพลของรัฐในสื่อหลักๆ ทั้งฟรีทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่ยังพึ่งพิงระบบสัมปทานและการซื้อสื่อโฆษณา รวมไปถึงการซื้อสื่อโดยตรง

ทักษิณทรงอิทธิพลทางการเมืองด้วยการบริหารแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ควบคุมทุกเสียงในรัฐบาลให้เงียบสงบในลักษณะเจ้าของกิจการบริหารบริษัท หลายครั้งที่อิทธิพลนี้ขยายออกไปป้องปรามนักวิชาการและสื่อมวลชนต่างๆที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลด้วย

นอกจากด้านความคิดแล้ว อิทธิพลของทักษิณที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ อิทธิพลเหนือกลไกตรวจสอบอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. คตง. ปปช. ฯลฯ ที่มีมติเป็นผลบวกต่อฝ่ายรัฐบาลบ่อยครั้งจนเป็นที่ครหาตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยเสียงมหาศาลทั้งจากการหาเสียงและการดึงการดูดยุบรวมพรรคอื่นเข้ามาอยู่เสมอ บทบาทฝ่ายค้านในสภาก็แทบจะสูญหายไปเพราะได้เสียงไม่ถึงจำนวนที่จะมีบทบาทได้ เช่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ โดยเฉพาะในสมัยที่สองที่พรรคไทยรักไทยของทักษิณกวาดไปถึงเกือบสี่ร้อยเสียง เหลือไว้ให้ฝ่ายค้านเพียงร้อยกว่าเสียงเท่านั้น เกิดทางตันในระบบตรวจสอบจนมาระเบิดที่ภาคประชาชนแทนในที่สุดในปรากฏการณ์ม็อบต่างๆ

จะด้วยปัญหาน้ำมันแพงหรือนโยบายรัฐบาลผิดพลาดก็ตาม ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจไทยกลับส่อเค้าหยุดเติบโตและกลับมีปัญหาหลายๆ อย่างมากขึ้นเรื่อยๆ

และบางอิทธิพลทางความคิดที่ทักษิณเคยปูทางไว้ พลิกกลับจนเกิดเป็นคำถามทั่วไปว่าสังคมไทยต้องการคนดีมากกว่าคนเก่งหรือไม่? และจะมีอาชีพมีความสุขได้ต้องกู้หนี้มาใช้มาลงทุนจริงหรือ? และล่าสุดกลับกระแสชาตินิยมที่ทักษิณเคยสร้างไว้ผ่านวลีเดือดตามสไตล์ที่ว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” ได้กลับกลายร่างมาเป็นกระแสต้านสิงคโปร์อันเริ่มจากการขายกิจการกลุ่มชินให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก กระแสต่อต้านการขายรัฐวิสาหกิจ ควบคู่ไปกับกระแสอารมณ์เกลียดชังเขาที่ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วกว้างขวางตั้งแต่ปลายปีก่อน

ทุกก้าวของทักษิณเต็มไปด้วยอิทธิพลไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ กระเทือนไปทั่วทุกวงการ และสังคมไทยยังคงต้องจับตาก้าวต่อไปของเขาที่ยังไม่มีท่าทีจะหยุดเดินแต่อย่างใด