“ปรีดิยาธร เทวกุล”อำนาจ ”เสถียรภาพเศรษฐกิจ”

ชายร่างสูงโปร่ง มาดขรึม นิยมผูกหูกระต่ายมากกว่าเนกไท ตามแบบฉบับของนักเรียนไทยที่มีโอกาสไปศึกษาต่างประเทศ สัญญลักษณ์ภายนอกที่อาจทำให้ใครก็ตามที่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ต้องเข้าใกล้จะรู้สึกเกร็ง ด้วยเกรงว่าอาจถูกความขรึมนั้นบาดเข้าให้ แต่หากได้รู้จักกันบ้างแล้ว ส่วนใหญ่ความเกร็งนั้นจะหายไป จะเหลือก็เพียงความเกรง และความนับถือ ยิ่งไปกว่านั้นหากได้สนทนามุกฮา ก็อาจถูกยิงออกมาบ้างเป็นบางครั้ง

หากใครทำข่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จะรู้จักมักคุ้นกับเขาเป็นอย่างดี “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ”หม่อมอุ๋ย” ด้วยมาดอย่างที่ว่าบวกกับเป็นที่รู้กันดีว่าสถานที่แห่งนี้มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ห้ามคนแปลกหน้าขึ้นลงอาคารได้อย่างง่ายๆ เพราะฉะนั้นบันไดทางขึ้นลงอาคาร ช่วงเวลา เช้า และเย็น หรืออาจมีรอบกลางวันบ้างบางวันเท่านั้นที่นักข่าวสังกัดแบงก์ชาติจะมีโอกาสได้ข่าว

หรือหากจะดักรอการทำข่าวตามที่ต่างๆ ก็ยังต้องทำตัวลีบๆ เล็กๆ ถึงจะดีที่สุด ถ้าเวลาเหมาะสม สถานการณ์เข้าที่ได้จังหวะ รับรองข่าวที่ออกจากปากของ ”หม่อมอุ๋ย” ไม่ทำให้นักข่าว และหัวหน้าข่าวผิดหวัง แต่หากไม่ใช่เวลาที่ควรให้สัมภาษณ์ ก็ต้องทำใจ ซึ่งบ่อยครั้ง ”หม่อมอุ๋ย” ไม่ยอมปริปากตอบคำถามใดๆ ต้องแลกให้บ้างด้วยคำแซวให้ได้หัวเราะกันในวงสัมภาษณ์

อย่างเช่นการทักทายนักข่าวสาวสวยที่แบงก์ชาติว่า ”แหมวันนี้ใส่เสื้อสวย เหมือนอั้ม (พัชราภา)” หรือหากมีแบงก์ที่ระลึก และอยากได้ลายเซ็นผู้ว่าเก็บไว้ “หม่อมอุ๋ย” ก็ให้บริการเต็มที่ หรือแม้กระทั่งช่วงข่าวลือกระหน่ำว่าอาจมีการเปลี่ยนคนนั่งเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ วันดีคืนดี ”หม่อมอุ๋ย” ก็เดินมาแวะนั่งสนทนาถึงในห้องสื่อมวลชนกันเลยทีเดียว

“ไม่บ่อยนักที่หม่อมอุ๋ยจะให้สัมภาษณ์แบบมีคนฟังน้อยๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยได้เห็นเท่าไรนักกับบทสัมภาษณ์พิเศษ แต่หม่อมอุ๋ยเข้าถึงลึกกว่านั้น คือระดับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรือไม่ก็สนิทสนมกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ไปเลย” นักข่าวรุ่นเก๋าประจำแบงก์ชาติให้ความเห็น

ไม่เพียงการสานสัมพันธ์แบบ Exclusive เฉพาะสื่อระดับสูงเท่านั้นที่ทำให้ ”หม่อมอุ๋ย” มีพลังเงียบเชียร์อยู่ แต่เป็นเพราะภาพลักษณ์การเป็นคนนอกที่มีวิชาความรู้ ทำให้เขาเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ทั้งสองครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

การจัดกลุ่มที่ชัดเจนลงตัวโดยมียี่ห้อของอานันท์ ปันยารชุน ประทับอยู่ทำให้เส้นทางของ ”หม่อมอุ๋ย” ระมัดระวังในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองโดยตรง จนกระทั่งเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แม้เขาจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่เกี่ยวพันกับเรื่องราวทางการเมือง แต่ดูเหมือนว่าการเมืองจะเข้ามาสะกิด ”หม่อมอุ๋ย” ให้ต้องเข้าไปในเกมอยู่บ่อยครั้ง

คู่ชกที่ชัดเจนที่สุดของแบงก์ชาติ หนีไม่พ้นคือกระทรวงการคลัง ที่ทั้งสองหน่วยงานมีหน้าที่คนละอย่าง แบงก์ชาติคือหน่วยงานที่ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระ ดูแลบริหารระบบสถาบันการเงินให้แข็งแรง และต้องปลอดการแทรกแซงจากการเมือง ขณะที่กระทรวงการคลังคือหน่วยงานที่เป็นแขนขาของรัฐบาล สนองนโยบายของรัฐบาล

แบงก์ชาติคือหน่วยงานที่ต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบทเรียนจากก่อนปี 2540 ที่แบงก์ชาติพลาดท่าเสียทีในการดูแลกระบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ด้วยการปกป้องค่าเงินบาท ขณะที่กระทรวงการคลังต้องเร่งสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เพราะฉะนั้นผู้นำแบงก์ชาติที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะต่อรองกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้

หลายต่อหลายครั้งเมื่อกระทรวงการคลังต้องการกดดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อกระตุ้นการลงทุน แต่แบงก์ชาติไม่สนอง ด้วยหลักการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แบงก์ชาติต้องดูอย่างรอบด้าน ทั้งดอกเบี้ยโลก อัตราเงินเฟ้อ และเงินทุนไหลเข้าและออก ทุกวันนี้การประชุมนโยบายการทางการเงิน (กนง.) ที่เฉลี่ยมีขึ้น 2 เดือนขึ้น จึงมักจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเสมอ

หรือกรณีการจัดการกับผู้บริหารสถาบันการเงินที่เริ่มส่งกลิ่นการปล่อยสินเชื่อผิดปกติอย่างธนาคารกรุงไทย ซึ่ง ”วิโรจน์ นวลแข” ผู้สนิทสนมกับคนในรัฐบาลเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ โดยเฉพาะกับ ”สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่อดีตเคยร่วมงานกันเมื่อครั้ง ”วิโรจน์“ เป็นผู้บริหารที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ซึ่งกว่า ”หม่อมอุ๋ย” จะเป็นผู้ชนะ ก็ทำให้หลายคนเริ่มเห็นความขัดแย้งกับคนในรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

กระทั่งกระทรวงการคลังเริ่มปัดฝุ่นแผนการให้อำนาจกระทรวงการคลังดูแลธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด แทนแบงก์ชาติ “หม่อมอุ๋ย” ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย เรื่องจึงเงียบลง

และไม่เพียง ”สมคิด” เท่านั้นที่ ”หม่อมอุ๋ย” ขอยืนคนละข้าง แม้กระทั่ง ”ทนง พิทยะ” เองที่มารับเก้าอี้ต่อจาก ”สมคิด” ในการปรับคณะรัฐมนตรี เป็น ทักษิณ 2/2 “หม่อมอุ๋ย” เองก็แสดงออกให้เห็นถึงความกังวลในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลวันหนึ่ง ”หม่อมอุ๋ย” ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ากำหนดวาระให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจทุกหน่วยงาน เข้ารายงานตัวเลขเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน

นัยนี้หนีไม่พ้นการตีความว่าต้องการ ”ติวเข้ม” ก่อนที่วิกฤตรอบใหม่จะมาเยือน

แบงก์ชาติในเวลานี้ที่ ”หม่อมอุ๋ย” ยังนั่งอยู่ ด้วยภาพความสามารถในการต่อรอง และไม่ตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ยังต้องลุ้นว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพอำนาจของตัวเองได้นานเพียงใด เพราะอีกไม่กี่เดือน “หม่อมอุ๋ย” ก็จะเกษียณอายุราชการ

แต่ดูเหมือนว่าอำนาจของ ”หม่อมอุ๋ย” จะไม่หมดไปพร้อมกับตัวเลขอายุที่ครบเกษียณ เพราะ ณ เวลานี้ช่วงเดือนมิถุนายน 2549 ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ยังระอุรอเวลาสุกงอมอยู่นั้น ชื่อของ”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ กับตำแหน่งสำคัญของประเทศ

จะเป็นไปได้ หรือไกลแค่ไหน คงต้องติดตามดูกันต่อไป

Profile

Name : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
Born : 15 กรกฎาคม 2490
Education :
2495-2507 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
2511 ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมดีมาก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2513 MBA (International Business), Wharton School, University of Pennsylvania
Career Highlights :
มิถุนายน 2514 – ธันวาคม 2533 ธนาคารกสิกรไทย ตำแหน่งสูงสุด กรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส
ธันวาคม 2533 – 2534 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ)
กรกฎาคม 2534 – เมษายน 2535 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน)
เมษายน 2535 – มิถุนายน 2535 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร)
มิถุนายน 2535 – ตุลาคม 2535 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน
2535 – 2536 สมาชิกวุฒิสภา
ตุลาคม 2536 – พฤษภาคม 2544 กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธันวาคม 2540 – เมษายน 2546 ประธานกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
พฤษภาคม 2544 – ปัจจุบัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
Status : สมรส ภรรยา – นางประภาพรรณ เทวกุล ณ อยุธยา