หาประโยชน์จากขาเม้าท์

ชื่อหนังสือ: บริษัทกระรอกน้อยจำกัด
ผู้เขียน: Stephen Denning (พร้อมพรรณ สการโอฬาร – แปล)
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น
จำนวนหน้า: 206
ราคา(บาท): 155

หนังสือเล่มนี้ จัดอยู่ในหนังสือที่มีเป้าหมายเขียนถึงการบริหารองค์กรธุรกิจด้านต่างๆ ประเภท How to แต่ผู้เขียนชาญฉลาดมากในการนำเสนอเรื่องราวแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำซากออกมาในรูปของนิยายขนาดสั้น ว่าด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงของพนักงานระดับกลางของบริษัทกลุ่มหนึ่ง โดยสมมติให้เป็นบริษัทกระรอกน้อย จำกัด

สาระของหนังสือก็คือ การเล่าเรื่อง หรือการสื่อสารแบบครบวงจร ที่เรียกว่า IMC นั่นเอง แต่เลี่ยงไม่ให้เป็นวิชาการ ด้วยการทิ้งศัพท์แสงต่างๆ ไปเกือบหมด หันมาเป็นเรื่องเล่าธรรมดาๆ

วิธีการอย่างนี้ ถือเป็นกระบวนวิธีนำเสนอที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่า กระบวนการเล่าเรื่อง หรือ Story Telling ที่มีเนื้อหาพร้อมคำอธิบายในลักษณ์ ”ทำยากให้ง่าย” ได้รับการยอมรับแล้วว่า เป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดการยอมรับได้ง่ายที่สุด และเร้าอารมณ์ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เบื้องต้นได้เร็วที่สุด

สำหรับการพัฒนาบุคลาการในองค์กรแล้ว การยกระดับความรู้โดยการยัดเยียด ”ยาขม” เพื่อหวังให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ นั้น ได้รับการประเมินมาแล้วว่าชวนให้ง่วงและต่อต้านมากกว่าการซึมซับความรู้ และล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ

ไม่มีพนักงานยุคใหม่คนไหนหรอก (จะมีก็ถือเป็นข้อยกเว้น) ที่ต้องการกลับเข้าสู่ ”ห้องเรียน” ใหม่ ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้แบบที่นำเสนอในหนังสือนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและเป็นแนวทางใหม่ทีเดียว

แม้ผู้เขียนจะสมมติให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของกระรอกและลูกนัท แต่นั่นก็เป็นสัญลักษณ์ขององค์กรร่วมสมัย โดยมีลูกนัทเป็นสินค้าสำคัญ โดยที่องค์กรนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่รุมเร้าโดยเฉพาะผลประกอบการที่เลวร้ายในช่วงขาลง ทางเลือกขององค์กรก็คือ ต้องทำการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยมีคำถามท้าทายก็คือ จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ประสบการณ์ที่ผ่านกลุ่มเล่าเรื่องในหนังสือนี้อย่างมีขั้นตอนแบบอนาล็อก ถือว่าเป็นการฉายภาพอย่างมีระบบของการถ่ายทอดความรู้ที่มีเหลี่ยมคมน่าสนใจ โดยที่ผู้อ่านจะไม่รู้สึกว่าถูก ”สอน” แต่อย่างใด หากรู้สึกเหมือนกับการซุบซิบนินทานอกเวลางานธรรมดาของคนในองค์กรเท่านั้นเอง แม้ว่าเรื่องที่นำมาพูด จะดูค่อนข้างเคร่งขรึมอยู่บ้าง

การทำให้ตัวละครในเรื่องมีบทบาทในลักษณะตัวเอกตัวร้าย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การนำเสนอมีสีสันเร้าใจมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงตอนจบของหนังสือ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอย่างชัดเจน ที่ทำให้เกิดความหวังครั้งใหม่ ก็บอกให้เห็นว่า ผู้เขียนนั้นประสบความสำเร็จพอสมควรกับการนำเสนอเนื้อหาทางด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรที่ไม่ต้องมีศัพท์สูงๆ ต้องตีความประเภท Restructuring, Reengineering, TQM, CS, หรือ Kaizen ฯลฯ ซึ่งพานจะทำให้คนอ่านต้องรีบวาง เพราะไม่อยากกลับไปเปิดตำราเล่มที่ใหญ่หนาเตอะ

ถือเป็นหนังสือเกี่ยวกับการบริหารองค์กรในช่วงเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นได้ดี สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กร และไม่อยากอ่านหนังสือ ”เคี้ยวยาก” ทั้งหลายแหล่

อ่านเอาสนุกก็ได้ อ่านเอาสาระก็ดี แถมราคาก็ไม่แพง

เพียงแต่อ่านแล้วบรรดาขาเม้าท์ทั้งหลายที่ชอบซุบซิบกันในองค์กรทั้งหลายแหล่หลังถึงอาหารขบเคี้ยวทั้งหลาย ก็อาจจะต้องกลับไปทบทวนตัวเองบ้างว่า การเป็นขาเม้าท์แบบสร้างสรรค์นั้น ให้คุณค่าต่อองค์กรได้ดีเพียงใด

รายละเอียดในหนังสือ

ตอนที่ 1

บทที่ 1. การสร้างสรรค์เรื่องเล่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กร คำแนะนำของบาร์เทนเดอร์ต่อผู้บริหารบริษัทในช่วงขาลง ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการสร้างเรื่องเล่า (ซึ่งเคยถูกถือเป็นสิ่งไร้สาระ) ที่มีสาระ มีการวิเคราะห์ที่หลักแหลม และมุ่งประโยชน์ เพื่อสื่อสารทางความคิดที่ซับซ้อน และกระตุ้นให้พนักงานปฏิบัติตาม แทนการทำตามสัญชาตญาณ

บทที่ 2. การเล่าเรื่องเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง สัมฤทธิผลเบื้องต้นของการนำเรื่องเล่าที่ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระตุ้นใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไปใช้ในองค์กร โดยอาศัยศิลปะของการแสดงออกที่มีพลัง เปิดเผย และมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกับความต้องการ

ตอนที่ 2

บทที่ 3. การเล่าเรื่องเจ็ดประเภทสำหรับองค์กร การจัดฉากเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างเอกภาพเพื่อระดมสมองโดยกำหนดกรอบเรื่องที่ควรเล่าเอาไว้ 7 ประการ คือ เพื่อกระตุ้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อแบ่งปันความรู้ เพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่อนาคต เพื่อควบคุมข่าวร้าย เพื่อสื่อสารถึงตัวตนของผู้เล่า และเพื่อถ่ายทอดค่านิยม

บทที่ 4. การใช้เรื่องเล่าเพื่อเผยให้เห็นตัวตนของคุณ และสร้างความน่าเชื่อถือ การเล่าเรื่องสามารถช่วยสื่อสารในองค์กรให้ดีขึ้น ทำให้ผู้คนสัมผัส เรียนรู้ และรู้จักกันมากขึ้น ทำให้พนักงานเข้าใจลึกซึ้งว่าจุดมุ่งหมายกำลังทำงานเพื่อใคร และเพื่ออะไร ซึ่งจะทำให้ทราบปรัชญาขององค์กร ก่อให้เกิดความเชื่อถือกันมากขึ้น

บทที่ 5. การใช้เรื่องเล่าเพื่อให้ทำงานร่วมกัน ว่าด้วย 5 ขั้นตอนของการสร้างสรรค์เรื่องเล่าที่สนับสนุนให้เกิดชุมชนร่วมขึ้นมา ได้แก่ การทำให้มีการรวมตัวพบปะซึ่งหน้ากัน การกำหนดวาระสนทนาแบบเปิด กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเล่าเรื่องขององค์กรโดยรวม ทำให้การเล่าเรื่องเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ เตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ร่วมกันขึ้นมา

บทที่ 6. การใช้เรื่องเล่าเพื่อถ่ายทอดค่านิยม เรื่องเล่าต่อกันเป็นทอดๆ ก่อให้เกิดการถ่ายโอนค่านิยมร่วมในองค์กรขึ้นมาได้ เพราะจินตนาการจะทำให้เรื่องเล่าเก่ามีความหมายใหม่อยู่เสมอ ไม่มีซ้ำซาก โดยเฉพาะเรื่องราวของความสำเร็จ คุณธรรม การเพิ่มมูลค่า แก้ปัญหาขัดแย้ง และการฝ่าฟันอุปสรรค

บทที่ 7. การใช้เรื่องเล่าเพื่อสยบข่าวลือ อารมณ์ขันด้วยวิธีล้อเลียนข่าวร้าย ด้วยสาระที่เป็นความจริง (ไม่ใช่อารมณ์ขันที่ขาดความจริงใจ) สามารถควบคุมพลังของการสื่อสารไม่เป็นทางการในทางลบได้อย่างมีประสิทธิผล ดีกว่าการออกปฏิเสธหรือกลบเกลื่อนหลายเท่า เว้นแต่ข่าวลือนั้นจะเป็นความจริงขึ้นมา ซึ่งต้องแก้ทางเดียวคือทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาให้ได้

บทที่ 8. การใช้เรื่องเล่าเพื่อแบ่งปันความรู้ เรื่องเล่าที่มีประสิทธิผลสูงจะต้องสามารถถ่ายทอดความเข้าใจในงานไปยังคนอื่น ด้วยการเริ่มตั้งสมมติฐานเพื่อค้นหาคำตอบพร้อมคำอธิบายใหม่อยู่เสมอ แต่ต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลงหากพบข้อเท็จจริงใหม่ๆ ทำให้เรื่องเล่าแปรเป็นความรู้ที่ปฏิบัติได้ขึ้นมา

บทที่ 9. การใช้เรื่องเล่าเพื่อสร้างอนาคต การโยงเรื่องราวในปัจจุบันและอดีตมาเป็นเรื่องเล่าที่จะฉายภาพอนาคตในลักษณะแบบจำลองธุรกิจเพื่อให้เห็นนัยในระยะยาว เป็นการปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกผูกพันร่วมกัน เมื่อมองเห็นวิสัยทัศน์ร่วม

บทที่ 10. ปฏิกิริยาของพนักงานและองค์กรที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น 4 แบบ เมื่อเกิดการเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ได้แก่ ไม่สามารถตัดสินใจได้เพราะไม่คุ้นเคย เกิดแรงแข็งขืนที่ทำให้แนวทางเปลี่ยนแปลงล้มเหลว พนักงานที่ไม่อาจทนกับการเปลี่ยนแปลงออกไปตั้งองค์กรใหม่มาแข่งขัน และเกิดการปรับพฤติกรรมและความคิดทำให้ประสบความสำเร็จ

ตอนที่ 3

บทที่ 11. เอาตัวรอดท่ามกลางอันตรายของความเป็นผู้นำ บทบาทและการตัดสินใจของผู้นำว่าพร้อมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กรในระยะยาว ผู้นำที่ขาดประสบการณ์และไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง ตัวเขาและองค์กรจะตกอยู่ในภาวะอันตราย

บทที่ 12. อยู่กับเรื่องเล่า เล่าเรื่องเพื่อประสบความสำเร็จ ผลกระทบทางบวกของการเล่าเรื่อง ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในทางบวก เนื่องจากสมาชิกองค์กรถูกดึงเอาความสามารถมาใช้ตามความถนัดอย่างเหมาะสมมากกว่าเดิม แม้ว่าบางคนไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ตาม เพราะความเป็นผู้นำที่สามารถเล่าเรื่องของตัวเอง จะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และกระตุ้นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้มากที่สุด