สุทธิชาติ ศราภัยวานิช คนเขียนการ์ตูน

“เขียนการ์ตูนอย่างเดียวจะพอกินไหม?” คือคำถามที่ก้องในใจตลอดช่วงวัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกแห่งความจริง เปลี่ยนผ่านจาก ด.ช.สุทธิชาติ สู่ นายสุทธิชาติ ศราภัยวานิช นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ที่โด่งดังอันดับต้นๆ ของไทย

“ตอนอยู่ในห้องเรียนก็ทำเหมือนกับว่าตั้งใจเรียนวิชานั้นมาก แต่จริงๆ แล้วผมก้มหน้าก้มตาวาดการ์ตูน จนสมุดจดไม่มีที่ว่างเหลือเลย” ชีวิตนักเขียนการ์ตูนของสุทธิชาติเริ่มต้นจากวัยเด็กเหมือนคนอื่นๆ ที่ชอบอ่านชอบดูทั้ง โดเรม่อน ดรากอนบอล คอบบร้า แต่มากกว่าความเป็นผู้เสพ คืออยากเป็นผู้สร้างด้วยตั้งแต่เด็ก

“ผมไม่ได้วาดตัวการ์ตูนพวกนี้นะ ผมวาดตัวประหลาด วาดยานอวกาศ จินตนาการเองหมด มันสนุกกว่า ง่ายกว่า ไม่ชอบตั้งใจวาดให้เหมือนอะไรทั้งนั้น” สุทธิชาติย้อนความสุขวัยเด็กที่เป็นรากฐานของจุดเด่นในงานปัจจุบัน

หลังจบมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า สุทธิชาติ เข้าคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นหาตัวเองแล้วตอกย้ำความใฝ่ฝันเดิมให้หนักแน่นขึ้น และด้วยความที่จบ ม.ปลายสายวิทย์-คณิตตามค่านิยมสมัยนั้น จึงพบอุปสรรคด้านทักษะสู้เพื่อนๆ ที่เรียนพื้นมาก่อนไม่ได้

“ปีแรกๆ ถือว่าผมช้ากว่าคนอื่นมาก วิชาปั้นอาจารย์ให้ดินมาทุกคนก็สร้างงานออกมา แต่ผมทำไม่เป็นเลยได้ D ไป แต่ปีหลังๆ ได้ทำงานแบบที่เน้นไอเดีย และได้เข้าใจว่า การเรียนมหาวิทยาลัยคือการเปิดโลกทัศน์หลายๆ ด้าน เพื่อค้นหาตัวเองว่าด้านไหนเหมาะกับเราจริงๆ” สุทธิชาติให้นิยามของการเรียนมหาวิทยาลัยตามสไตล์ตัวเอง

สุทธิชาติ เริ่มงานแรกในกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูน A-Comic จากการชักชวนของเพื่อนสนิท มีหน้าที่รวบรวมต้นฉบับจากนักเขียน เบิกค่าเรื่อง ตอบจดหมายผู้อ่าน ได้เห็นงานเขียนหลายแนว “ไม่ใช่งานที่ผมชอบ แต่ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ ได้เริ่มเห็นความลำบากในอาชีพสายนี้ เช่นภรรยาจะคลอดต้องไปยืมเงินมาก่อน หรือต้องรีบมาเบิกค่าเรื่องไปใช้จ่ายเรื่องจำเป็นอื่นๆ”

แต่ด้านลบที่ได้รับรู้ไม่ทำให้เขาเลิกความฝันจะเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพ การค้นหาและพัฒนาตัวเอง ก็ยังต้องเดินต่อไปพร้อมการหาเลี้ยงชีพตามเส้นทางของหนุ่มสาว

กราฟิกโรงพิมพ์จึงเป็นงานต่อมาที่สุทธิชาติไปทำตามคำชวนของเพื่อนอีกคน ที่โรงพิมพ์ “นิวไวเต็ก” นี่เองที่เขาได้สั่งสมความชำนาญในด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก หัดใช้โปรแกรมต่างๆ เพื่อออกแบบงานโฆษณา หนังสือที่ระลึกงานศพ และหนึ่งในผลงานที่เขาภูมิใจคือร่วมออกแบบร้าน MilkPlus ร้านแรกที่สีลม ซึ่งเป็นต้นแบบให้สาขาอื่นๆ ทั้งหมด

สองปีผ่านไป อีกครั้งที่มีเพื่อนที่เชื่อในฝีมือสุทธิชาติมาชักชวนสู่งานใหม่ๆ เขาได้เข้าร่วมงานกับ บอย โกสิยพงษ์ ในการเขียนการ์ตูนที่แถมกับแผ่นซีดีเพลงของ คริสติน นักร้องสาวของเบเกอรี่สมัยนั้น

ผลงานของสุทธิชาติถูกใจบอยให้ทาบทามมาร่วมงานเขียนการ์ตูนในงานแอนิเมชั่นสำหรับทีวีที่กำลังทดลองทำ และจากนั้นก็ได้เขียนการ์ตูนซีรี่ส์ใน Katch นิตยสารแฟชั่นวัยรุ่นที่เป็นต้นแบบให้นิตยสารอื่นๆหลายฉบับในปัจจุบันด้วยการสร้างสรรค์จาก Bakery Music ในสมัยนั้น

โจหัวปลาหมึก “Joe the SEA-CRET Agent” และเพื่อนตัวประหลาดสี่ตัว ในนิตยสาร Katch นี้เองที่สร้างชื่อสุทธิชาติออกสู่สาธารณะและก่อเกิดแฟนๆ กลุ่มใหญ่ ด้วยพล็อตเรื่องเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์บนโลก

“เริ่มอะไรใหม่ๆ มา ต้องเขียนให้เสร็จสักหนึ่งตอนก่อนเลย หน้าตาอาจจะไม่สวยงามเหมือนคนอื่น แต่เป็นสไตล์ของเรา คนจำได้แน่ๆ เด็กใหม่ชอบคิดว่าได้เงินเท่าไหร่ จะได้ลงตีพิมพ์หรือเปล่า ผมว่าเรื่องนี้มันมาทีหลัง เขียนให้เสร็จก่อน อย่าไปเครียดตรงนั้น ควรจะใส่ใจว่าเดินเรื่องยังไง คนอ่านแล้วรู้เรื่องหรือเปล่า” คือแนวทางทำงานที่สุทธิชาติยึดถือตลอดมา

ต่อด้วยงานหลากหลายอย่างการ์ตูนสั้น P.I.G (Prince in Garbage), เรื่อง Cactus Jack, หนังสือการ์ตูนทำมือ Tribute Comic, การ์ตูนเรื่อง Zuperstar and Mamarazzi, การ์ตูนสั้น How to be a ROCK star, มิวสิกแอนิเมชั่น JOE the SEA-CRET Agent ตอน NEW YORK Summerland, และ ฯลฯ

ล่าสุดสุทธิชาติรับโจทย์จากไนกี้ประเทศไทย วาดการ์ตูนสั้นๆเรื่อง “Eyeke Seven” จัดแสดงเป็นนิทรรศการ Born from Obsession ณ เพลย์กราวน์ ทองหล่อ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นหนุ่มสาวมาซึมซับเรื่องราวของรองเท้ากีฬารุ่นใหม่ๆ ผ่านเนื้อหาและภาพการ์ตูน

หนังสือ SuttichART Works เป็นหนังสือรวมเล่มผลงาน เป็นที่แสดง Positioning ของสุทธิชาติที่ไนกี้ใช้พิจารณาร่วมกับคู่แข่งนับสิบราย ก่อนจะเลือกเขาเพราะความมี Positioning ที่แปลกมีแนวเฉพาะตัว และความสามารถทางคอมพิวเตอร์กราฟิก และมีแฟนๆ ชื่นชอบกลุ่มใหญ่

“14 ตัวนี้เขียนใหม่หมด ไนกี้ปล่อยเราหมด แค่อธิบายตัวรองเท้าใหม่ให้เราฟัง มีติเล็กๆ น้อยๆ เรื่องตำแหน่งโลโก้บ้าง ห้ามใช้หมายเลข 10 กลัวซ้ำคู่แข่งบ้าง ใช้เวลาทั้งหมด 2 อาทิตย์ เพื่อที่ทีมโปรดักชั่น อาร์ตเวิร์ค ของโอกิลวี่จะได้ไปเตรียมงานอีก 2 อาทิตย์ รวม 1 เดือนพอดี เป็นงานที่เร่งกันมาก” สุทธิชาติบอกเล่าความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ร่วมกับความเป็นเด็กในการสร้างสรรค์

สุทธิชาติเล่าว่าการใช้การ์ตูนเป็นพรีเซ็นเตอร์ทางการตลาดมีทำกันมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นๆ กันจะเป็นตัวการ์ตูนที่ดังมาก่อน เช่นในระดับโลกก็เป็นมิกกี้เม้าส์ ในไทยเป็นปังปอนด์ เป็นต้น แต่การสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะนั้นก็พอมีแต่ยังเป็นส่วนน้อยอยู่

อนาคตของวิชาชีพนักเขียนการ์ตูนในไทยนั้น สุทธิชาติมองว่าการ์ตูนสิ่งพิมพ์นั้นค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว และผู้จะทำอาชีพนี้ก็คงต้องเพราะใจรักเป็นหลัก เพราะความเติบโตก้าวหน้ายังค่อนข้างจำกัดอยู่ ส่วนการ์ตูนสำหรับแอนิเมชั่นถือว่าค่อนข้างสดใส กำลังโต และมีอนาคตไม่ว่าจะมองด้านวิชาชีพหรือด้านธุรกิจ

ทุกวันนี้สุทธิชาติยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาพประกอบ คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมากว่า 5 ปีแล้ว วลีสั้นๆ ที่ต้องคิดกันยาวๆ ที่สุทธิชาติฝากให้นักศึกษาและแฟนๆการ์ตูนอยู่เสมอคือ…

“ระวังเป็นผู้ใหญ่นะ! “