ไม่ปล่อยให้กระแสจาง พี แอนด์ จี เดินหน้าต่อยอดผลิตผลจาก AF3 หวังใช้ Idol Marketing ดึงแฟนคลับ ขยายฐานลูกค้า ตอกย้ำ Positioning ของ P&G Beauty ที่ว่า “เปลี่ยนคุณให้เป็นดาว”
จากการเป็นสปอนเซอร์คู่บุญของ AF มาก่อนหน้า และเคยจัดคอนเสิร์ตกับ AF2 เมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว
ครั้งนี้เพื่อสร้าง Brand Image และ CRM กับผู้บริโภค ให้นึกถึงแบรนด์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายฐานไปมัดใจ New Consumer บรรดาพ่อยก แม่ยกของนักล่าฝันรุ่น 3
การใช้กลยุทธ์ Idol Marketing เป็นผลมาจากการวิจัยที่พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมาก เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกเชื่อมั่น วางใจ เพราะเป็นคำบอกเล่าจากปากของเพื่อน เป็นคำบอกเล่าจากคนที่เขารู้สึกผูกพัน คุ้นเคย และได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองมาแล้ว เมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดและองค์กร บริษัท พี แอนด์ จี ประเทศไทย บอก
คอนเสิร์ต “Dream Catcher : คอนเสิร์ตคนคว้าฝัน” ครั้งนี้เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่งของพี แอนด์ จี ที่สอดแทรก Brand Communication เข้าไว้เป็นธีมของคอนเสิร์ต โดยกำเนิดของนักล่าฝันจากคนธรรมดาสู่ดาว สอดคล้องกับ Positioning ดังกล่าวของ P&G Beauty ที่มีผลิตภัณฑ์เพื่อความงามทั้งสำหรับเส้นผม ผิวพรรณ สุขภาพฟัน และใบหน้า
แต่ไหนๆ จัดคอนเสิร์ตทั้งทีก็ขอขายของพ่วงเข้าไปด้วย เพราะผู้บริโภคต้องซื้อผลิตภัณฑ์แพนทีน โอเลย์ ยิลเลตต์ และ ออรัล บี ให้ครบ 800 บาท เฉพาะที่บิ๊กซี เสียก่อนถึงจะได้บัตรเข้าชม 2 ใบ
หลังคอนเสิร์ตวันที่ 1 ธันวาคม 2549 แล้ว หากได้ผลตอบรับดี เราอาจได้เห็นพี แอนด์ จี หวนกลับมาใช้นักล่าฝันเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกครั้ง แม้ขณะนี้ เมธี จารุมณีโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดและองค์กร บริษัท พี แอนด์ จี ประเทศไทย จะบอกว่า ยังไม่มีแผนการใช้ AF3 เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ ของพี แอนด์ จี เหมือนครั้ง พัดชา AF2 เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแพนทีน และเปรี้ยว AF2 เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโอเลย์ ก็ตาม
นับเป็นตัวอย่างของการการเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์การตลาดหันมาจับ Emotional มากขึ้นของพี แอนด์ จี โดยลดบทบาทจากการเป็น Pure Funcional ลง แต่กระนั้นก็ยังคงผสมผสานกับ Functional อยู่ เนื่องจากการชูธงเฉพาะเรื่องของคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ เป็นเรื่องน่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับผู้บริโภคเท่ากับการสดแทรกอารมณ์ ความรู้สึกเข้าไปด้วย
เปรียบเทียบส่วนแบ่งการตลาดแพนทีน
ปี 2548 11%
ปี 2549 12.2%
เปรียบเทียบส่วนแบ่งการตลาดโอเลย์
ปี 2548 29%
ปี 2549 32%