กระแสเศรษฐกิจพอเพียง กำลังได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก ในการสร้างแบรนด์ และการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ จนมีหลายคนมองว่าจะเป็นเทรนด์นิยมในปีหน้า แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านการตลาด กลับมองว่า นี่ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นเพียงกระแสเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น หากเทรนด์ในปีหน้าคือการสู้กันในเรื่องความแตกต่างของสินค้ามากกว่า
สมเกียรติ เอี่ยมกาญจนาลัย นักวิชาการด้านการตลาด วิเคราะห์ว่า เทรนด์พอเพียงกับการสร้างแบรนด์นั้น เป็นเพียงการล้อกับกระแสเท่านั้น ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่โจทย์หรือเทรนด์ในปีหน้าของบรรดาผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตสินค้า
หากผู้ประกอบการจะนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ ก็ต้องการเพียงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร หรือ สินค้าเท่านั้น เป็นลักษณะคล้ายคลึงกับกลยุทธ์ Social Marketing คือ เพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่าองค์กรแห่งนี้ดี ทำเพื่อสังคม
วิเคราะห์ให้ดีแล้ว เรื่องของความพอเพียงกับการขายสินค้า นับเป็นเรื่องที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ความพอเพียงเป็นเรื่องการต่อต้านความฟุ้งเฟ้อ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว แต่เป้าหมายของธุรกิจสินค้า คือการขายสินค้าให้มากขึ้น ดังนั้น การใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการสร้างแบรนด์เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก
“โดยเฉพาะสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ มือถือ นั้นแทบจะใช้ความพอเพียงไปสร้างแบรนด์ได้ยากมาก เพราะสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องการให้คนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อตอบสนองรายได้เป็นหลัก”
ส่วนเทรนด์การผลิตและขายสินค้าที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า น่าจะเป็นเรื่องของความต้องการสร้างความหลากหลายให้กับสินค้ามากกว่า เช่น ตลาดสินค้าแชมพูยุคนี้ พยายามสร้างความหลากหลายของสินค้า เช่น มีหลากสีผม มีหลายหลายกลิ่น ยกตัวอย่าง ผู้หญิง 1 คน ในปัจจุบันใช้แชมพูหลายยี่ห้อ ดังนั้น การแข่งขันของสินค้าจะเน้นการชูความแตกต่างของสินค้า และเซ็กเมนต์ที่หลากหลายขึ้น
ดังนั้น เทรนด์พอเพียงจึงเป็นเพียงกระแสที่ถูกนำมาสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น และผู้ผลิตจะหันมาจริงจังกับการสร้างความแตกต่างของสินค้าของตนมากกว่า เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันของตลาด