ดูดแล้วฟัง

หลายคนคงเคยหยิบมือถือมาเปิด Bluetooth มาดูดเพลงจากมือถือของเพื่อน แต่วันนี้เทคโนโลยีใหม่ชื่อเก๋ไก๋ว่า “Bluecast” ถูกเอามาลองในไทยแล้วที่หน้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ในชื่อว่า “Pepsi Square” เป็นบูธที่เปิดกระจายสัญญาณ Bluetooth แจกไฟล์เพลงให้คนเดินผ่านไปมาหยิบมือถือมาเลือกโหลด หรือ “ดูดเพลง” ได้

“ก็เหมือนที่เราทำ pepsithai.com คือสร้างแบรนด์ด้วยการ Connect เข้าหาไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ เขาไปดิจิตอลกัน เราก็ต้องไปด้วย” เป็นที่มาที่ไปจากคำบอกเล่าของ ปรางณี ไชยพิเดช ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของเสริมสุข

Pepsi Square ยังรับเทรนด์สื่อโฆษณา New Media ยุคใหม่มาใช้เต็มๆ ในเรื่องความเป็นมัลติมีเดียภาพเสียง และการดึงคนให้เข้ามาร่วม ไม่ใช่แค่มองเห็นผ่านตาไปเท่านั้น อย่างที่ปรางณีอธิบายว่า

“การสร้างแบรนด์นั้น จะให้แรง ต้องให้ผู้รับทั้งทางภาพ เสียง และสัมผัส ปกติเรามีแต่ป้าย โลโก้ กราฟิก เข้าถึงได้แค่ทางสายตา แต่นี่มีเสียงเพลง และเกิดการมีส่วนร่วม คือผู้รับเข้าหาเรา กดมือถือดูดเพลงด้วย จะมีผลมากกว่าแค่มีป้ายผ่านสายตาเขาไปเฉยๆ”

นอกจากเพลง เป๊ปซี่ยังแจก Wallpaper จอมือถือ และ Ringtone ในแท่น Bluecast นี้ด้วย เพราะรู้ดีว่าเป็น 2 สิ่งที่นักเล่นมือถือโหลดกันมานานแล้วก่อนที่จะโหลดเพลงเต็มๆ เพลงเสียอีก

บริการฟรี Bluecast นี้ เริ่มเมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และจะมีไปจนถึง 1 มิถุนายนนี้ ปัจจุบันมีคนเข้ามา “ดูด” เพลง, ริงโทน และวอลเปเปอร์ วันละกว่า 2 ร้อยคน เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่มากนักแต่ปรางณีย้ำว่า นี่ไม่ใช่เลขของผู้ที่รับรู้แบรนด์จากแคมเปญนี้ทั้งหมด

“คนที่รับรู้แคมเปญนี้ของเรา ไม่ใช่แค่คนที่เข้ามาโหลด ยังมีคนที่ผ่านไปมา แล้วเห็นกลุ่มคนที่เอามือถือมาโหลด อีกจำนวนมหาศาล ทำให้ Pepsi Square ดูโดดเด่นแตกต่างขึ้นมา เป็น New Media ที่สื่อไปทั้งคนที่เข้ามาใช้บริการและคนที่ผ่านไปมาอีกมากมาย”

มีงานวิจัยทางการตลาดหลายชิ้นสรุปไว้ว่า สื่อโฆษณาที่มีภาพและเสียงนั้น ให้ผลผนึก (Synergy) ที่รุนแรง เช่นหากว่าสื่อภาพได้ผล 30% สื่อเสียงได้ผล 30% สื่อที่มีทั้งภาพและเสียงนั้นกลับให้ผลมากกว่า 30 + 30 มาก เช่นอาจจะเป็น 80% ขึ้นไปเลยทีเดียว

Did You Know?

ค่ายเพลงยุคใหม่ แจกเพลงด้วย Bluecast ที่สหรัฐฯ หลายค่ายเพลงลงทุนตั้งแท่น BlueCast ไว้ตามที่ชุมชนหรือศูนย์การค้า แจกเพลงโปรโมตในอัลบั้มใหม่ เวอร์ชั่น MP3 ให้ลูกค้าโหลดไปทดลองฟัง เป็นอีกสื่อหนึ่งที่เข้าไปหากลุ่มผู้บริโภคจากเดิมที่มีแต่จุดทดลองฟังตามร้านแผ่นเสียง