“ทักษิณ ชินวัตร” ปฏิบัติการทวงอำนาจ

คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ยังคงมีลมหายใจอยู่…

เงินที่มีอยู่มากมายพร้อมซื้อสิ่งต่างๆ ที่ขวางหน้า หรือความหวังที่จะกลับมาเป็นใหญ่ในประเทศไทย หรือความแค้นที่มีต่อคณะนายทหารที่รัฐประหารยึดอำนาจ แค้นต่อคนที่ตะโกนขับไล่ให้ออกจากประเทศ และแค้นต่อการปฏิบัติการฟ้อง เพื่อยึดทรัพย์ ยุบพรรคไทยรักไทย และส่งเข้าคุกให้หมดอนาคตทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใด หรือเหตุผลนอกเหนือจากนี้ แต่ที่ปรากฏชัดเจนคือ “ทักษิณ” ยังคงมีพลัง และสร้างความปั่นป่วนให้รัฐบาลขิงแก่ และบรรดาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้อย่างชนิดที่เรียกว่าหัวหมุนไปตามๆ กัน

“ทักษิณ” กลายเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรี” เป็นคนไทยที่ถูกขอร้องห้ามกลับประเทศไทย เพราะเกรงจะสร้างความวุ่นวายแตกแยกท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ ต้องอยู่ห่างจากลูกเมีย ญาติพี่น้อง ปล่อยให้เผชิญชะตากรรมการขึ้นโรง ขึ้นศาลชี้แจงที่มาของความร่ำรวยที่มีอยู่เป็นระยะๆ

และยิ่งกระแสคนต้าน “ทักษิณ” เรียกร้องให้จัดการ “ความร่ำรวย” ที่ถูกต้องสงสัยว่ามาจากการคอรัปชั่นและบกพร่องทางจริยธรรม อันเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ถูกรัฐประหาร ก็ยิ่งทำให้ขุมทรัพย์ต่างๆ ถูกสอบสวนเชิงลึกมากขึ้น จากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยเฉพาะการเลี่ยงภาษีในการขายหุ้นชินคอร์ปของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ “ทักษิณ”

สำหรับ “ทักษิณ” และภริยา “คุณหญิงพจมาน” เองก็อาจต้องเผชิญกับคุก จากมติ คตส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ให้ส่งเรื่องถึงอัยการสูงสุด ฟ้อง 2 สามีภรรยา ฐานกระทำความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และกฎหมายอาญา กรณีที่คุณหญิงพจมาน ซื้อที่ดินย่านรัชดา จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการได้มาซึ่งทรัพย์โดยมิชอบ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในขณะที่กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและคู่สมรส เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ และที่ประชุมยังเห็นชอบเสนอให้ศาลยึดทรัพย์ของผู้ถูกกล่าวหา คือเงินที่ใช้ซื้อจำนวน 772 ล้านบาท ส่วนที่ดินก็ให้คืนกองทุนฟื้นฟู

ขั้นตอนต่อไปหากอัยการสูงสุดเห็นชอบสั่งฟ้อง ก็ส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 หากพิพากษามีความผิดโทษคือคุก

แต่มีหรือที่คนอย่าง “ทักษิณ” จะไม่รู้เกม และยอมให้เกิดขึ้นโดยง่าย

ปรากฏการณ์ “ดิ้นรน” ของทักษิณนับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ที่รัฐบาลของ “ทักษิณ” ถูกรัฐประหารยึดอำนาจจากการก่อการของคณะนายทหาร นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน คือสิ่งที่ “ทักษิณ” บอกอย่างชัดเจนว่า “ไม่ยอม” ยิ่งไปกว่านั้นยังแสดงให้เห็นว่าพร้อม “บุก” ตลอดเวลา

กลยุทธ์การต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง” ด้วยการใช้เม็ดเงินสร้างเครือข่ายและกิจกรรมทางการเมืองในหลายวินโดวส์ โดยเฉพาะปฏิบัติการชิงพื้นที่สื่อ และการปรากฏตัวในประเทศต่างๆ ทำให้มิตรรักแฟนเพลง และคนที่ต่อต้าน ยังคงได้ยินชื่อของ “ทักษิณ” ตลอดเวลา

ระหว่างถูกกดดันอย่างหนักในการตัดสินชะตากรรมอนาคตทางการเมืองของ “ทักษิณ” และพรรคไทยรักไทย ในการพิพากษาของตุลาการรัฐธรรมนูญ วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ในคดียุบพรรคการเมือง ปฏิบัติการดิ้นรนของ “ทักษิณ” ยิ่งรุนแรงหนักขึ้น ด้วยกระบวนการสร้างเรื่องให้ตัวเองเป็นข่าว มีคุณค่าเพียงพอที่จะถูกสื่อทุกแขนงนำมารายงานชนิดเป็นข่าวพาดหัว และวิทยุ โทรทัศน์รายงานทุกช่อง ล่าสุดชัดเจนคือการซื้อทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีสัญลักษณ์เป็นเรือใบสีฟ้า ของอังกฤษ ด้วยมูลค่า 7,000 ล้านบาท

ที่สำคัญกว่านั้นคือการค้นหาจุดอ่อนของรัฐบาลขิงแก่ และ คมช. นำมาโจมตี เผยแพร่ผ่านสื่อในเครือข่ายของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพีทีวี เว็บไซต์ ที่ไม่ใช่มาเพียงแค่ตัวอักษร แต่มีคลิปวิดีโอ ให้ชมไม่เบื่อ หรือแม้กระทั่งวิทยุชุมชน ที่พร้อมรายงานเสียงของ “ทักษิณ”

สื่อทั้งหมดในมือ ทำหน้าที่ทั้งเคยโจมตีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โจมตีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร

แม้จะถูกสกัดกั้น ทั้งการบล็อกเว็บไซต์ การห้ามชุมนุม ห้ามออกอากาศ แต่ข้อมูลที่ออกมาถือได้ว่าสามารถสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่น และสร้างความระแวงต่อรัฐบาลและ คมช. ได้ ตั้งแต่เรื่องการมีบทบาทในเหตุการณ์นองเลือดช่วงพฤษภาทมิฬของพลเอกสุรยุทธ์ การจดทะเบียนสมรสซ้อนของพลเอกสนธิ และการดูงานต่างประเทศในฐานะประธานบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย ด้วยงบประมาณสูงผิดปกติของพลเอกสพรั่ง รวมไปถึงการจ้างลูกพี่ลูกน้อง “เชียรช่วง กัลยาณมิตร” ทำประชาสัมพันธ์เชิงลึกให้รัฐ

นี่คือปฏิบัติการประชาสัมพันธ์เหนือชั้นของ “ทักษิณ” และที่ต้องจับตาคือ “ทักษิณ” เริ่มเกมใหม่ตลอดเวลา ด้วยเป้าหมายชัดเจนคือกลับมาทวงคืนซึ่ง “อิทธิพล และอำนาจ”

แต่ใครบ้างจะยินดีที่ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับมา???

ปฏิบัติการชิงพื้นที่สื่อ

เดือนพฤษภาคม 2550 (ช่วงใกล้ตัดสินคดีต่างๆ เช่น เรื่องซื้อที่ดินย่านรัชดา
และคดียุบพรรคการเมือง และรัฐบาลขิงแก่เริ่มจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์จากสหรัฐอเมริกา เพื่อประชาสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ)
-วันที่ 20 พ.ค. มีข่าวลือว่า “ทักษิณ” จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 โดยเข้าทางชายแดนจังหวัดเชียราย-พม่า
-วันที่ 19 พ.ค. หนังสือพิมพ์ไทยอย่างน้อย 2 ฉบับคือไทยรัฐ และโพสต์ทูเดย์ อ้างแหล่งข่าวคนใกล้ชิด “ทักษิณ” ออกมาเปิดเผยว่า “ทักษิณ ซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้สำเร็จแล้ว” มูลค่า 7,000 ล้านบาท
-วันที่ 16 พ.ค.“ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์ข้ามทวีปเวลา 22.00 น.จากอังกฤษ ออกอากาศในไทยผ่านคลื่นวิทยุชุมชนคนรู้ใจ 87.75 คลื่นวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ 92.75 และคลื่นวิทยุ-ทีวีออนไลน์ คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ
-วันที่ 9 พ.ค. นภดล ปัทมะ ทนายความประจำตระกูลชินวัตร แถลงว่า “ทักษิณ” เลิกจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ อีเดลแมน

เดือนเมษายน 2550 (ช่วงการสอบสวนอย่างหนักคดีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป)
-วันที่ 30 เม.ย. สื่อมวลชนไทยรายงานข่าวการยื่นข้อเสนอซื้อทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้
-สมาคมนักกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย มีมติเลือก “ทักษิณ” เป็นนายกสมาคมฯ
-วันที่ 27 เม.ย. เว็บไซต์ www.hi-thaksin.org เผยแพร่เอกสารกองทัพ ที่ระบุว่ามีการสั่งการให้จัดการกับเครือข่ายของ “ทักษิณ” และ AIS

เดือนมีนาคม 2550 (ช่วงรัฐบาลขิงแก่เผชิญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และถูกโจมตีเรื่องความล่าช้าในการทำงาน)
-วันที่ 1 มี.ค.กลุ่มผู้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์พีทีวีประกาศออกอากาศในวันที่ 1 มี.ค. แต่ไม่สำเร็จ
-วันที่ 2 มี.ค.เว็บไซต์ www.hi-thaksin.net ออนไลน์ นอกจากเน้นย้ำเรื่อง “ทักษิณ” จงรักภักดีต่อในหลวงแล้ว ยังตั้งคำถามว่าภริยาของพลเอกสุรยุทธ์ดำเนินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่
-วันที่ 23 มี.ค.กลุ่มผู้ก่อตั้งพีทีวีเริ่มนัดชุมนุมกลุ่มผู้สนับสนุน “ทักษิณ” และต้านรัฐประหารที่สนามหลวง
-วันที่ 30 มี.ค.กลุ่มพีทีวีนัดชุมนุมที่ลานคนเมือง ที่ว่าการกรุงเทพมหานคร

เดือนกุมภาพันธ์ 2550 (ช่วงการพิจารณายึดคืนสถานีไอทีวี)
-ต้นเดือน ก.พ. “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ โจมตีกองทัพ
-ปลาย ก.พ. “จาตุรนต์ ฉายแสง” รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยแถลงนโยบายสานต่อประชานิยม

เดือนมกราคม 2550 (ช่วงหลังวิกฤตความมั่นคง หลังเกิดเหตุระเบิดใน กทม. ช่วงคืนสิ้นปี 2549)
-วันที่ 15 ม.ค. “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ “ดิ เอเชี่ยน วอลสตรีท เจอร์นัล”ซีเอ็นเอ็น เอ็นเอชเค ระบุรัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด เห็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และโจมตีเรื่องการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
– วันที่ 2 ม.ค.“นพดล ปัทมะ” นำจดหมายที่เขียนเป็นลายมือของ “ทักษิณ” แจกจ่ายสื่อมวลชนระบุไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดในกรุงเทพฯ 8 จุด ในช่วงคืน วันที่ 31 ธันวาคม 2549

เดือนพฤศจิกายน 2549 (คตส. เริ่มสวบสวนคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัวชินวัตร)
-นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน “นพดล” เป็นตัวแทนของ “ทักษิณ” ออกมาแถลงตอบโต้ รัฐบาล คมช. และพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้ง คตส. เฉลี่ยทุกสัปดาห์

เดือนตุลาคม 2549 (1 เดือนหลังรัฐประหาร)
-“ทักษิณ” เผยแพร่จดหมายผ่านเว็บไซต์พรรคไทยรักไทย (www.thairakthai.or.th)
-เริ่มมีเหตุการณ์เผาโรงเรียนพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสานและเหนือ

Profile

Name : พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
Born : 26 กรกฎาคม 2492
Education :
-มัธยมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
-พ.ศ. 2512 โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10
-พ.ศ. 2516 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26
-ได้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ศึกษาระดับปริญญาโทที่ Eastern Kentucky University สหรัฐอเมริกา สาขา Criminal Justice
-ศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ Sam Houston State University สหรัฐอเมริกา สาขา Criminal Justice
Career Highlights :
พ.ศ. 2516-2530 รองผู้กำกับการนโยบายและแผนงาน/ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
พ.ศ. 2530-2537 ลาออกจากราชการเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว ประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด
พ.ศ. 2537-2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. 2538-2539 รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านจราจร สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคพลังธรรม
พ.ศ. 2539-2540 รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
พ.ศ. 2541-2543 ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
9 กุมภาพันธ์ 2544- 9 มีนาคม 2548 นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ สมัยที่ 1 (อยู่จนครบวาระ 4 ปี)
9 มีนาคม 2548- 24 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (หมดวาระเพราะประกาศยุบสภา)
24 กุมภาพันธ์ 2549- 19 กันยายน 2549 รัฐบาลรักษาการ (ถูกรัฐประหาร)
Status : ภรรยา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร บุตรชายคนโต “พานทองแท้” (โอ๊ค) บุตรสาวคนที่สองพิณทองทา (เอม) บุตรสาวคนที่สาม แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง)