ชะตากรรมของ “ไอทีวี” นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในวงการสื่อทีวีเมืองไทย เมื่อถูกสั่งปิด แต่เหตุการณ์ของไอทีวีหลายๆ ช่วงก็เป็นสิ่งที่ยืนยันชัดว่า นี่คือสถานีสื่อทรงอิทธิพลที่สามารถพลิกเกม พลิกสถานการณ์ได้ตลอดเวลา อนาคตของไอทีวียังเป็นจุดที่ทุกคนกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พ.ศ. 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งหนังสือยกเลิกสัญญามายัง บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไอทีวีผ่านระบบยูเอชเอฟอย่างเป็นทางการ ในเวลา 24.00 น. ของวันดังกล่าว และให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ชื่อใหม่ ในคลื่นความถี่เดิม โดยใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยเป็นการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 8 มี.ค. พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ในเวลานั้นช่วงนั้นรัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่า จะต้องปิดการออกอากาศ หรือเรียกกันว่า “จอดำ” เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อรอการเข้ามาดำเนินการจัดการใหม่ของรัฐบาล แต่สุดท้ายไอทีวีก็ได้ออกอากาศอย่างต่อเนื่อง จากพลังการคัดค้านและการกดดันอย่างหนักของพนักงานไอทีวีเอง
แม้วันนี้ไอทีวีจะกลายเป็นสื่อของรัฐบาลอย่างเต็มตัว แต่อนาคตของไอทีวีก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าจะลงเอยอย่างไร
ประเด็น “สื่อทีวีเสรีสาธารณะ” ได้ถูกนำหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ว่ารูปโฉมของทีไอทีวีจะเป็นสื่อทีวีเสรีสาธารณะตามเจตนารมณ์ใหม่ของรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะปัญหาของช่อง 11 ก็เป็นสิ่งยืนยันชัดว่าไม่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการบริหารจัดการ และยังกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ไม่เป็นเสรีอย่างเจตนารมณ์
ทางออกของไอทีวีจึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดในอนาคตนี้ มีหลายกระแสข่าวระบุอย่างน่ากังวลว่า ทางออกของไอทีวีสุดท้ายอาจจะตกเป็นของนายทุนเดิม หรือขั้วอำนาจเก่าที่แฝงตัวเข้ามา หากรัฐบาลหาทางออกโดยให้เอกชนเข้ามาประมูลคลื่นใหม่อีกครั้ง
ไอทีวี ยังเป็น “ลูกผีลูกคน” และเป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง กับอนาคตที่จะเกิดขึ้น…
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ ปิดไอทีวี
– 2 ก.พ. บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือจากสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) ลงวันที่ 31 มกราคม 2550 แจ้งเตือนให้บริษัทฯ ชำระหนี้ โดยให้บริษัทฯ ชำระค่าตอบแทนส่วนต่างปีที่ 9 ถึงปีที่ 11 จำนวน 2,210 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนส่วนต่างดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี พร้อมทั้งให้ชำระค่าปรับจากการปรับผังรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2549 จำนวน 97,760 ล้านบาท รวมยอดเงินที่ต้องชำระให้ สปน. ทั้งสิ้นกว่าหนึ่งแสนล้านบาทโดย สปน. ได้กำหนดให้ชำระหนี้ดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บริษัทฯได้รับหนังสือแจ้ง
– 27 ก.พ. มีมติหลัง 6 มี.ค. ยึดไอทีวีคืนทันที
– 5 มี.ค. แกนนำพนักงานไอทีวี ยกขบวนร้องขอความเป็นธรรมกลางงานวันนักข่าวที่โรงแรมดุสิต หลังรัฐออกนโยบายเตรียมปิดสถานี 1 เดือน
– 7 มี.ค. เป็นวันสุดท้ายของการออกอากาศ และในเวลา 0.00 น. ของวันที่ 8 มี.ค. กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ชื่อใหม่ ในคลื่นความถี่เดิม โดยใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี