ประเด็นร้อนๆ กระเทือนวงการศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา ต้องยกให้กรณี “โอเน็ต-เอเน็ต” หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า การสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test) หรือโอเน็ต และการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (Advanced National Educational Test) หรือเอเน็ต ซึ่งถือเป็นสูตรสำคัญที่ใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการคัดเลือกนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่น (Admission) แทนระบบเอนทรานซ์เดิม (Entrance) ที่รู้จักกันมายาวนานกว่า 40 ปี
โดยหวังว่าแอดมิสชั่นจะช่วยแก้ปัญหานักเรียนมักจะไม่สนใจเรียนในห้อง แต่ไปเน้นการกวดวิชาเฉพาะวิชาที่นำมาใช้สอบเข้าคณะที่ตนเองต้องการ ส่งผลกระทบต่อระบบการเรียนรู้อย่างไม่ครบกระบวนการ ดังนั้น นักเรียนที่เรียนดีก็มุ่งแต่จะสอบเทียบเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้น ก่อให้เกิดความล้มเหลวทางการศึกษาตามมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ปีการศึกษา 2549 จึงมีการเริ่มใช้ระบบแอดมิสชั่นเต็มรูปแบบเป็นปีแรก ในรูปแบบการสอบโอเน็ต-เอเน็ต ซึ่งเป็นก้าวแรกของแอดมิสชั่น เพื่อหวังนำมาแก้ปัญหาระบบการศึกษาของไทย แต่หลังจากออกสตาร์ทได้ไม่นาน กลับกลายเป็นเรื่องร้อน ก่อกระแส Talk of the town วิพากษ์กันสนั่นทั่วเมือง ไม่ว่าประเด็นทวงถามถึงมาตรฐานในการตรวจข้อสอบ รวมถึงความพร้อมในการจัดการระบบแอดมิสชั่นแทน
ประเดิมแรก เริ่มตั้งแต่เว็บไซต์ www.ntthailand.com ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งใช้ในการประกาศผลการสอบ “โอเน็ต-เอเน็ต” ล่ม จนนักเรียนหลายแสนคนทั่วประเทศไม่สามารถเข้าไปตรวจผลสอบได้ หรือบางรายที่เข้าไปตรวจได้ ปรากฏว่าได้คะแนนเป็นศูนย์
ต่อมา ปัญหายิ่งบานปลายมากขึ้นเมื่อ สทศ. ตัดสินใจเลื่อนประกาศผลการสอบใหม่เป็นวันที่ 11 เม.ย. แต่เมื่อประกาศผลออกมาคะแนนสอบของนักเรียนนับพันคนยังมีปัญหาเหมือนเดิม ขณะที่บางรายกลับถูกเพิ่มปัญหาหนักขึ้นเมื่อคะแนนที่ประกาศในครั้งแรกแบบ T-Score ซึ่งผ่านการคำนวณมาแล้ว แต่เมื่อประกาศผลใหม่เป็นคะแนนดิบ กลับได้คะแนนลดลงเกือบทุกวิชา ที่หนักสุด บางรายประกาศผลครั้งใหม่กลายเป็นขาดสอบไปเลยก็มี
ปรากฏการณ์นี้ สร้างความไม่พอใจจากทั้งนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ฝากความหวังไว้กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น โดยเรียกร้องให้มีการตรวจข้อสอบโอเน็ต-เอเน็ตใหม่ทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นทวงถามถึงมาตรฐานในการตรวจข้อสอบของผู้ปกครองและนักเรียน ต่อกระทรวงศึกษาและสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการ
เนื่องจากกำหนดให้โอเน็ตจะต้องสอบใน 5 กลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษสำหรับเอเน็ตเป็นการสอบวิชาเฉพาะสำหรับคณะวิชาต่างๆ เพื่อทดสอบเพิ่มเติม แต่จะให้สอบไม่เกิน 3 รายวิชา ดังนั้น น้ำหนักคะแนนของโอเน็ตและเอเน็ต ทำให้เมื่อนับรวมกันแล้วสูงถึง 70%
จึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดนักเรียนและผู้ปกครองจึงตื่นตัวและไม่พอใจกับผลคะแนนที่ไม่มีความชัดเจน เพราะเป็นสิ่งชี้ชะตาอย่างแท้จริงต่ออนาคตการศึกษาของเยาวชนทั้งชาติ…