สนมั้ย! “รองเท้า ผ้าไหมนันยาง” คู่ละ 3,800 บาท

เชื่อว่ารองเท้านันยางได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในวัยเด็กของแต่ละคนไปแล้ว โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่จะมีประสบการณ์กับรองเท้านันยางมากกว่า ทำให้หลายคนเติบโตมาพร้อมกับเสียง “เอี๊ยด เอี๊ยด” ที่เป็นเสียงเอกลักษณ์ของพื้นรองเท้าเมื่อเสียดสีกับพื้น และต้องใส่แบบเหยียบส้นด้วยนะ ควบคู่กับวลี “นันยางเก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ”
 

 
ล่าสุดนันยางได้ออกคอลเล็กชั่นใหม่ “รองเท้าผ้าไหมนันยาง” ที่อาจจะทำให้ผู้ใส่ “เหยียบส้น” ไม่ลง นอกจากจะมีสีสันสดใสสไตล์พาสเทลแล้ว ยังเป็นครั้งแรกในการผสมผสานกับ “ผ้าไหมยกดอก” จากนครศรีธรรมราช สนนราคาที่คู่ละ 3,800 บาท โดยที่มีจำหน่ายเพียง 40 คู่เท่านั้น สามารถตีตลาดสาวๆ ที่ชอบสะสมรองเท้าได้เป็นอย่างดี
 

 
คอลเล็กชั่นนี้เป็นผลงานออกแบบโดย “ก้อย นันทิรัตน์ สุวรรณเกต” ดีไซเนอร์เสื้อผ้า ผู้มีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Koi Suwannagate”
 
มีการเปิดตัวครั้งแรก ณ วังปารุสกวัน เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 58 ในงาน “วิถีแห่งไหม วิถีไทย เทิดไท้ราชินี” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีกำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17-30 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
 
ส่วนรองเท้ามีจัดจำหน่ายให้นักสะสมจำนวนเพียง 40 คู่ (คละสี/คละเบอร์) ราคา 3,800 บาท ที่ร้าน “เบกกิ้งโซดา” ชั้น 3 สยามเซ็นเตอร์ 
 

 
รู้จักกับ “ก้อย นันทิรัตน์ สุวรรณเกต” ดีไซเนอร์สาวไทยในวงการแฟชั่นโลก
 
เมื่อพูดถึงวงการแฟชั่น ก็ต้องไม่ลืมที่จะพูดถึงดีไซเนอร์หรือคนออกแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย แต่ทว่าพูดถึงดีไซเนอร์คนไทยที่ไปไกลถึงวงการแฟชั่นระดับโลก ก็ต้องมีชื่อของ “ก้อย-นันทิรัตน์ สุวรรณเกต” ซึ่งเป็นหนึ่งคนที่ออกแบบเสื้อผ้าที่ไปโด่งดังไกลถึงต่างประเทศ
 
ก้อย เกิดและเติบโตที่ประเทศไทย เป็นบัณฑิตจากคณะมัณฑณศิลป์ รั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร และจบการศึกษาจาก The Fashion Institute of Design & Merchandising (FIDM) ทำงานเป็นดีไซเนอร์ในสหรัฐอเมริกามายาวนาน
 

 
หากค้นชื่อเธอในกูเกิลจะพบชื่อของเธอมากมาย โดยเฉพาะในเว็บฯ วิกิพีเดีย ที่ให้ข้อมูลว่า ก้อย คือนักออกแบบเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของห้องเสื้อ Koi Design Studio อยู่ที่ลอสแองเจลิส และมีโชว์รูมอยู่ในนิวยอร์ก ตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีแบรนด์ Koi Suwannagate
 
เธอได้รับการยกย่องจากนิตยสารโว้กฉบับอเมริกัน ให้เป็นหนึ่งในสิบดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุดในสหรัฐ และได้รับทุนสนับสนุนการทำผลงานจากสมาคมแฟชั่นของสหรัฐฯและนิตยสาร Vogue สหรัฐฯ (CFDA/Vogue Fashion Fund Award)
 
มาดูบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้รู้จักกับ “ก้อย” มากขึ้น
 

 
เส้นทางการเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก
 
จากการได้ไปร่วมงาน CFDA (Council of Fashion Designers of America) ที่เราได้เป็นหนึ่งในสิบเข้ารอบสุดท้าย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราคิดทำแฟชั่นโชว์ขึ้น ในปี 2007 เป็นแฟชั่นโชว์ของตัวเอง ตอนนั้นไม่มีชื่อแบรนด์
 
การเป็นดีไซเนอร์ไทยในอเมริกาเป็นอย่างไรบ้าง 
 
เขาไม่สนใจหรอกว่าเราจะเป็นคนไทยไปอยู่ที่โน้น เขาดูคอลเลกชันเรามากกว่า ดีหรือเปล่า น่าสนใจตรงไหน แบ็กกราวน์เป็นส่วนย่อยมากกว่า
 
คนที่นั่นชอบผลงานของคุณ
 
คิดว่าเขาคงชอบ เพราะว่าถ้าไม่ชอบ เราก็คงไม่ได้เป็นหนึ่งในสิบคอลเลคชัน เพราะว่างานของเรามันเป็นงานเฉพาะตัว เป็นงานที่มีดีเทลเยอะ เป็นจุดเด่นของเราด้วย เน้นงานดีเทล งานคราฟท์ (งานฝีมือ) เป็นงานถัก งานปักอะไรพวกนี้ งานถักมือ ถักไหมพรม งานฝีมือ และที่เป็นแบบนี้เพราะเราชอบด้วยไงค่ะ
 
ลูกค้าชอบอะไรในผลงานเรา
 
ส่วนใหญ่เขาชอบและก็มาซื้อใส่เอง แล้วก็ไปลงเพรส (ข่าว) เราก็เก็บมาใช้ เราก็ไม่ได้ไล่ตามให้เขาใส่ เราเชื่อว่า สินค้าถ้าจะดีต้องดีด้วยตัวมันเอง มันไม่ต้องอาศัยอย่างอื่นเพื่อที่จะมาทำให้มันดีหรือพิเศษ คือมันพิเศษด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว
 
หลังจากแฟชั่นโชว์ 2007 ผลตอบรับเป็นอย่างไร
 
เราไม่ได้เน้นเรื่องเซเลบริตีค่ะ เหมือนว่าเราไม่เห็นด้วยที่ว่าต้องส่งเสื้อผ้าให้เซเลบฯ ใส่ คิดว่าถ้าเขาอยากใส่ ก็ต้องมาซื้อใส่เอง ไม่ใช่มาขอเราใส่ ในขณะที่แบรนด์ใหญ่ๆ ทั้งหลาย เขาให้ฟรีหรือจ้างใส่ ในขณะที่เขามีพาวเวอร์ที่จะทำตรงนั้นได้ ตัวเราเองไม่มีเพาเวอร์ที่จะทำ ก็ไม่สนใจ
 
ใส่ความเป็นไทยลงไปในการออกแบบไหม
 
คำถามนี้ตอบยาก เราไม่คิดว่าจะเซลส์ ความเป็นไทย คือไม่ต้องบอกเขา ว่าเราเป็นคนไทยๆๆๆๆๆๆๆ มันไม่ใช่จุดขาย เราไม่ได้มานั่งคิดนะค่ะว่า เราเป็นคนไทย ต้องแทรกความเป็นไทยลงไป คือเป็นของเราอย่างนี้อยู่แล้ว เป็นไทยอยู่แล้ว มันก็สอดแทรกเข้าไปในคอลเลกชันอยู่แล้ว ไม่ได้มานั่งคิดว่าอันนี้คือ เอเลเมนต์ไทย (Thai Element – รากฐานความเป็นไทย) เราใส่เข้าไปคือตัวของพี่เอง
เราว่าคิดมากเกินไปนะ เราเห็นคนถามมากเลยว่าไทยๆๆๆๆ เราว่ามันเป็นการไปยัดเหยียดโจทย์มากเกินไปนะ คือเราเป็นไทยอยู่แล้ว เดี๋ยวความเป็นไทยก็ออกมาเองแหละ ไม่ต้องไปใส่โจทย์มันมากหรอก ไม่ค่อยมีใครมานั่งพูดหรอกว่าเป็นคนไทย
 
มาที่เมืองไทย กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองแฟชั่นได้ไหม
 
แฟชั่น มันต้องเป็นซีซันนะคะ มันคือการเปลี่ยนแปลง ประเทศเราเป็นเมืองร้อน เราคิดว่าคงเป็นศูนย์รวมแห่งแฟชั่นยาก เพราะว่ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีฤดูเดียว คือ ร้อน อย่าว่าแต่เอาขนาดเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นเลยนะ เอาเป็นว่า ทำยังไงให้มีดีไซเนอร์ไทยไปอยู่ในศูนย์กลางของแฟชั่นดีกว่า อันนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า
 
ปัจจัยสำคัญในการก้าวมาเป็นดีไซเนอร์แนวหน้า
 
อยู่ที่มีมีเดีย (สื่อ) ด้วย อย่างแรกคือสินค้า ต้องดีก่อน ดีไซเนอร์ต้องดีก่อน แต่ถ้าจะดัง คนเก่งเยอะ คนไม่ค่อยเก่งก็เยอะ แต่ถ้าจะให้ดัง มีเดียก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนให้ความสำคัญ บางแบรนด์ที่ดังมากๆ เมื่อพูดถึงเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษมาก โอเค อาจจะมีลุค มีสไตล์ แต่ถ้าได้สื่อมาช่วยดัน มาพรีเซนต์ให้เขา อะไรแบบนั้น ก็กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ได้
 
เคยเจอแอนนา วินทัวร์ (เจ้าแม่แฟชั่นอันดับ 1 แห่งนิตยสารโวก สหรัฐอเมริกา) ด้วยใช่ไหม
 
ใช่ค่ะ เราเจอเขาแค่แป๊บๆ คือเขาก็มีออร่า(รังสี) ของเขา เวลาเจอเขาใครๆ ก็ต้องกลัว เขายิ้มให้เราเรายังกลัวเลย พูดไม่ออก ครั้งแรกที่งาน CFTA เขาจะเรียกดีไซเนอร์เข้าไปในห้อง แล้วก็สัมภาษณ์ แล้วก็จะมี CFTA MEMBER นั่ง แล้วก็มีดีไซเนอร์ นั่งเก้าอี้ตรงกลางห้อง เหมือนสัมภาษณ์ตำรวจ เอาไฟมาส่อง เป็นแบบนั้นเลย น่ากลัว แต่ความจริงเขาก็เป็นมิตรหมดเลยนะ แต่ในทางหน้าที่เขา เขาก็ดูมีอำนาจ แต่จริงๆ เขาก็ไม่น่ากลัว
 
การทำงานของแมกกาซีนต่างประเทศกับไทยต่างกันไหม
 
ก็ไม่ต่างกันมาก แบบว่า มีเดียฝรั่งอาจจะขี้เกียจกว่าหน่อยหนึ่ง ทุกอย่างจะต้องเอาไปประเคนให้เขาหมดเลย คืออย่างเสื้อผ้า ก็ต้องอยู่ใกล้ออฟฟิศเขา เขาก็จะไม่ค่อยมา ถ้าอยู่ไกล คืออันนี้เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เหมือนว่าได้ยินมา เหมือนคนที่โชว์รูมบอกว่าเสื้อผ้าก็ต้องประเคนให้เขา ซีดี อะไรก็ต้องพรินต์จัดไปให้ดูหมด เขาจะไม่ค่อยเข้าหาดีไซเนอร์ นอกจากที่ดังจริงๆ หรือที่การประชาสัมพันธ์ว่า ดีไซเนอร์คนนี้ดังจริงๆ เขาถึงจะเข้ามา ไม่งั้นเขาก็จะไม่มา
 
แล้วคิดอย่างไรกับดีไซเนอร์ไทย
 
ดีไซเนอร์ไทยเก่ง เก่งมากๆๆ ด้วย ควรจะขึ้นไปอินเตอร์ได้แล้ว หลายๆ คนเลย แล้วก็มีหลายคนซ้ำซากน่าเบื่อ ควรจะเลิกไปได้แล้ว หรือไม่ก็ต้องปรับตัวเหอะ บ้านเรามีดีไซนนอร์เก่งๆ เยอะมากนะ
มันก็มี เป็นเรื่องธรรมดา แบรนด์ดังๆ ใหญ่ๆ ที่ทำเสื้อผ้า แบบซ้ำซากๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ดีไซนเนอร์บ้านเรานะ ที่เมืองนอกก็เป็น เอางี้ อย่าไปมองเขาเลย มองแค่คนที่ครีเอทีฟ ควรไปอินเตอร์ได้แล้ว
 
ถ้าไม่เป็นดีไซเนอร์แล้วจะเป็นอะไร
 
อยากไปเป็นครูสอนที่ใต้ เราชอบงานคราฟท์ มันน่าสนุกที่จะไปสอน ช่วยจัดอะไรให้ดีขึ้นสวยขึ้น เราชอบคนแก่ ชอบอะไรเก่าๆ จังหวัดไหนก็ได้ คือแบบว่าขอให้เป็นงานคราฟท์ งานสานก็พอแล้ว 
 

ที่มาบทสัมภาษณ์ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000009662